“ฟาสต์ฟู้ด” ร่วมรักษ์โลก

คอลัมน์ Eco Touch

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันมีความเร่งรีบ จนเกิดพฤติกรรมรับประทานอาหารตามร้านฟาสต์ฟู้ด และซื้ออาหารแบบ take-away (นำออก) ไปรับประทานในที่ต่าง ๆ ปัญหาที่ตามมากับพฤติกรรมแบบนั้นคือการเพิ่มขยะที่ย่อยสลายยาก ซึ่งมาจากบรรจุภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก และโฟม ใช้เวลาย่อยสลายนานนับร้อยปี

ปัญหาขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์กำลังเป็นกระแสที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปยังผู้ขาย จนทำให้บริษัททำร้านอาหารแบบเร่งด่วนที่ส่วนใหญ่ใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียว และย่อยสลายยาก ต่างหากลยุทธ์ออกมาแสดงรับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าว ดังตัวอย่าง ดังนี้

เริ่มจากสตาร์บัคส์ ร้านกาแฟชื่อดังที่มีจำนวนร้านกว่า 28,000 ร้านทั่วโลก และยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามอย่างมากในการสร้างความยั่งยืนด้านการสร้างร้านกาแฟตามเกณฑ์ของ LEED? (Leadership in Energy & Environmental Design)

ล่าสุดสตาร์บัคส์เดินหน้าทำการลดขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ด้วยการออกแบบฝาปิดแก้วเครื่องดื่มเย็นที่ไม่ต้องใช้หลอดในการดื่ม (strawless lid) พร้อมกับประกาศว่าจะหยุดแจกหลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในทุกสาขาภายในปี 2020 อันเป็นการช่วยลดการใช้หลอดมากกว่าหนึ่งพันล้านชิ้นต่อปี และถึงแม้ฝาที่สตาร์บัคส์พัฒนามาใหม่จะเป็นพลาสติก แต่บริษัทให้ความเห็นว่าสามารถรวบรวมนำไปรีไซเคิลได้ง่ายกว่าหลอดพลาสติก

เหตุผลที่สตาร์บัคส์รณรงค์เรื่องการงดใช้หลอดพลาสติก เป็นเพราะหลอดพลาสติกโพลีโพรพิลีนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ละชิ้นใช้เวลากว่า 200 ปีในการย่อยสลาย และระหว่างทางย่อยสลาย พลาสติกจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ เพราะจะกินเข้าไป และก่อให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิต

ทั้งนี้ จำนวนหลอดพลาสติกมหาศาลกลับพบมากตามแหล่งน้ำ จากการสำรวจของ Ocean Conservancy ซึ่งเป็นกลุ่มระดมอาสาสมัครจากทั่วโลกเพื่อช่วยกันทำความสะอาดทะเล เผยว่า หลอดพลาสติกคือขยะที่พบมากที่สุดตามชายหาด และในมหาสมุทร

การงดแจกหลอดพลาสติกเป็นเพียงหนึ่งในการเข้าถึงเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมของสตาร์บัคส์ เพราะที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนเงินจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการ BYOT- “bring your own tumbler” ที่เป็นการชักชวนลูกค้าให้ร่วมลดขยะ โดยการนำแก้วที่ใช้ซ้ำมาใส่เครื่องดื่มเอง

และในปี 2014 สตาร์บัคส์เริ่มขายถ้วยนำกลับมาใช้ซ้ำในราคาเพียง1 เหรียญในสหรัฐ (ราว 33 บาท) ซึ่งถ้วยนี้มีวางจำหน่ายในประเทศแคนาดา และสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ด้วยเช่นกัน จนมีผู้ร่วมซื้อมากกว่า 18 ล้านราย และเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าให้นำแก้วของตัวเองมาใช้ซ้ำที่สตาร์บัคส์ บริษัทจึงได้ออกนโยบายคิดเงิน 5 เพนนีสเตอร์ลิง หรือประมาณ 2.15 บาท สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้นำแก้วมาใส่เครื่องดื่มเอง โดยนโยบายนี้เริ่มทำในลอนดอน และมีแผนขยายไปทั่ว 950 สาขา ในสหราชอาณาจักร ในเดือน ก.ค. 2018

การตัดสินใจของสตาร์บัคส์ในการกำจัดหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่เกิดขึ้นล่าสุด นับเป็นตัวอย่างที่มีอิทธิพลต่อบริษัทซึ่งทำธุรกิจประเภทเดียวกัน ให้เริ่มปรับตัวเรื่องการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์

สตาร์บัคส์ไม่ใช่ร้านเดียวที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบรรจุภัณฑ์ และพยายามปรับปรุงเรื่องความยั่งยืน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกันที่มีสาขามากที่สุดในโลกอย่าง McDonald”s ก็ได้ออกนโยบายเรื่องภาชนะใส่อาหารเช่นกัน

โดยแมคโดนัลด์เพิ่งประกาศว่าจะยกเลิกบรรจุภัณฑ์โฟมที่มีอยู่ในบางประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้บรรจุประมาณร้อยละ 2 ให้ได้ภายในสิ้นปี 2018 และยังประกาศชัดว่าภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทจะมาจากวัสดุที่ผ่านการรีไซเคิล หรือวัสดุหมุนเวียน โดยจะเริ่มในร้านแมคโดนัลด์กว่า 37,000 ร้านทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ตัวเลขของบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลของแมคโดนัลด์อยู่ที่ 64% โดยเพิ่มจากปี 2012 มา 9.3%

ที่จริงแล้วเรื่องการรณรงค์การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก ไม่ใช่เรื่องใหม่ของแมคโดนัลด์ เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 1990 บริษัทได้ประกาศนโยบายการงดใช้โฟมเป็นบรรจุภัณฑ์ และใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษแทน

การร่วมกันลดขยะบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก คงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ขายเพียงอย่างเดียว ทั้งนั้น ผู้ซื้อเองก็มีบทบาทสำคัญ ด้วยการนำบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำ หรือเลือกร้านอาหารที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง