7 ปัญหา การฝึกงานของนักศึกษา สำหรับบริษัทและองค์กร

7 ปัญหา การฝึกงานของนักศึกษา สำหรับบริษัทและองค์กร
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ทุกวันนี้สถาบันการศึกษามักจะส่งนักศึกษาที่เรียนปีสุดท้ายไปฝึกงานตามบริษัทหน่วยงานภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้นักศึกษาฝึกงานได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากการทำงานจริงก่อนที่จะจบการศึกษา โดยทั่วไปก็มีระยะเวลาฝึกงานประมาณ 2 เดือน ถ้าเป็นการฝึกงานแบบสหกิจศึกษาอาจจะใช้เวลามากกว่านี้

ส่วนบริษัทหรือองค์กรที่ฝึกงานให้นักศึกษาจะต้องประเมินผลการฝึกงานแล้วส่งผลไปให้อาจารย์ทราบว่านักศึกษามาฝึกงานแล้วมีผลการทำงานในระหว่างฝึกงานเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีผลกับเกรดของตัวนักศึกษาที่มาฝึกงานด้วย

ถ้าเรามองวัตถุประสงค์ของการฝึกงานแบบที่ผมบอกมานี้น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเองที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้งานจากของจริงก่อนจบ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกการทำงานในชีวิตจริง

ส่วนองค์กรที่ฝึกงานให้นักศึกษาก็เปรียบเสมือนเป็น “ผู้ให้” ที่ให้ความรู้ และประสบการณ์จริงกับนักศึกษา ถือว่าเป็นงานด้าน CSR (corporate social responsibility) ขององค์กรไปด้วยในตัว

แต่วัตถุประสงค์ที่ดูดี ที่ผมบอกมานั้น จะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ในบางองค์กรที่มีระบบ และมีแผนการสอนงาน หรือมีแผนการฝึกงานที่ดีสำหรับนักศึกษาฝึกงานเท่านั้น !

ในขณะที่ยังมีองค์กรที่ไม่มีแผนการฝึกงาน จึงทำให้เกิดปัญหาในการฝึกงาน อย่างที่ผมจะเอามาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ดังนี้ครับ

ปัญหาในการฝึกงานของนักศึกษา

1. ใช้งานนักศึกษาฝึกงานแบบพนักงานประจำ โดยให้มาทำงานทดแทนในตำแหน่งงานที่พนักงานเดิมลาออกไป โดยไม่มีการสอนงาน จะมีเพียงพนักงานมาบอก ๆ สั่ง ๆ ให้ทำงานตามที่บอกให้เสร็จเท่านั้น เรียกว่าใช้งานนักศึกษาเหมือนพนักงานประจำ

2. ยิ่งกว่านั้นบางองค์กรก็ให้นักศึกษาทำงานล่วงเวลา คือทำงานให้เสร็จตามที่สั่งโดยไม่มีค่าล่วงเวลา ค่าพาหนะให้ เรื่องการให้นักศึกษาฝึกงานทำงานล่วงเวลานี่ผมเคยเขียนบทความไว้ก่อนหน้านี้แล้วครับ ไปค้นดูในกูเกิลได้

3. ไม่จ่ายค่าฝึกงานให้นักศึกษาฝึกงานแม้แต่บาทเดียว เพราะถือว่าบริษัทมีบุญคุณกับนักศึกษา บริษัทฝึกงานให้ก็ดีเท่าไหร่แล้ว ถ้าบริษัทประเมินผลการฝึกงานให้ไม่ดี นักศึกษาก็ไม่จบการศึกษา บุญคุณล้นเหลือเลยนะเนี่ย

4. ไม่มีการประกันอุบัติเหตุจากการฝึกงาน

5. ให้นักศึกษาฝึกงานเข้าทำงานเวรดึก เช่น เข้างาน 4 ทุ่มถึงเช้า โดยอ้างว่าเพื่อให้นักศึกษาฝึกงานได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานจริง ทั้ง ๆ ที่จัดให้นักศึกษาฝึกงานเข้างานตอนกลางวันตามปกติก็ได้แต่ก็ไม่ทำ เพราะพนักงานที่ต้องเข้ากะดึกลาออกจึงต้องให้นักศึกษามาทำงานแทน

6. บางบริษัทให้จัดพี่เลี้ยง แต่ไม่เคยมีการฝึกเทรนพี่เลี้ยงให้รู้ว่าจะต้องสอนงานอะไรให้กับนักศึกษาฝึกงานบ้าง ซึ่งพี่เลี้ยงจำเป็น (และจำใจเนื่องจากหัวหน้าสั่งว่าต้องเป็นพี่เลี้ยง) เหล่านี้ก็ไม่รู้ว่าจะสอนงานอะไรให้กับนักศึกษา (เพราะไม่มีแผนการสอนงานมาก่อน) ก็เลยทำงานของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเดินมาบอก ๆ สั่ง ๆ เอางานอะไรมาให้นักศึกษาฝึกงานทำบ้างเป็นครั้งคราว

พอนักศึกษาฝึกงานทำงานเสร็จตามสั่ง ไม่รู้จะให้ทำอะไร ก็ให้นักศึกษาฝึกงานนั่งเฝ้าโต๊ะเป็น desk manager ทำให้นักศึกษาฝึกงานได้งีบหลับชาร์จพลังตอนบ่าย ๆ เป็นประจำ หรือไม่เช่นนั้นก็ไถเฟซบุ๊ก ไถไลน์ไปเพลิน ๆ จนกว่าจะถึงเวลาเลิกงาน

7. จากข้อ 5. นอกจากให้นักศึกษาเป็น desk manager แล้วยังตั้งให้เป็น xerox manager คือให้คอยวิ่งถ่ายเอกสาร หรือเป็น pantry manager คือมีหน้าที่คอยชงกาแฟ และล้างแก้วกาแฟเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นมานะครับ แต่เป็นเรื่องที่เกิดมานมนานหลาย 10 ปีแล้ว จนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังอยู่ในวงจรแบบนี้อยู่ และไม่มีกฎหมายใดที่คุ้มครองการเอาเปรียบนักศึกษาฝึกงานที่ชัดเจน จึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบแรงงานกับนักศึกษาฝึกงาน

ผมเลยอยากจะเสนอแนะว่าถ้าบริษัทไหนไม่มีแผนในการฝึกงานให้ชัดเจน, ไม่มีพี่เลี้ยงที่มีทักษะในการสอนงานที่จะคอยสอนงานให้กับน้อง ๆ นักศึกษา, รับนักศึกษามา แต่ไม่ได้ฝึกงานให้จริง ๆ แต่กลับให้มานั่งว่าง ๆ ไปวัน ๆ, ไม่จ่ายค่าฝึกงานให้กับนักศึกษาฝึกงาน หรือบริษัทที่คิดจะนำเอานักศึกษาฝึกงานมาใช้แรงงานฟรี ๆ เพื่อทดแทนพนักงานที่ขาด ฯลฯ

อย่าทำบาปให้กับอนาคตของชาติด้วยการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานเลยนะครับ !

อยากให้ผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้คิดดูสักนิดนึงว่าถ้าเรามีลูกมีหลานแล้วลูกหลานของเราได้รับการฝึกงานแบบเอาเปรียบแรงงานอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นเราจะรู้สึกอย่างไร

และถ้าเราเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ถูกกระทำแบบนี้เราจะรู้สึกอย่างไร ?

ใจเขา-ใจเรานะครับ

ผมก็ไม่รู้ว่าถ้าผู้บริหารขององค์กรที่ไม่มีแผนการฝึกงาน หรือที่ยังเอาเปรียบแรงงานจากช่องโหว่ในเรื่องนี้ ได้อ่านเรื่องนี้แล้วจะคิดแก้ไขปรับเปลี่ยนการฝึกงานให้ดีขึ้นบ้างหรือไม่ แต่อย่างน้อยผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่นำเรื่องที่ถูกซุกเอาไว้ใต้พรมที่ไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพดูแลมาเล่าสู่กันฟังในสื่อสาธารณะอย่างงี้แหละครับ

และสำหรับสถาบันการศึกษาควรจะมี blacklist องค์กรที่เอาเปรียบแรงงานโดยใช้ให้นักศึกษาฝึกงานทำงานทดแทนพนักงานประจำ หรือให้นักศึกษาฝึกงานทำงานล่วงเวลาเอาไว้ด้วย


ถ้าองค์กรไหนไม่มีระบบ และแผนการฝึกงานที่ชัดเจนแล้ว ทางสถาบันการศึกษาก็อย่าส่งนักศึกษาไปฝึกงานกับองค์กรที่ขาดจริยธรรมเหล่านี้ เพื่อให้เขาเอาเปรียบลูกหลานของเราอีกต่อไปเลยนะครับ