ปิดทองฯ “เก้าปี ก้าวหน้า” สร้างรายได้+ความสุขให้ชาวบ้าน

นับตั้งแต่ปี 2553 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้น และเริ่มดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดน่านเป็นแห่งแรก จนปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ต้นแบบไปยังทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ อุดรธานี, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, อุทัยธานี, เพชรบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนใต้

โดยล่าสุด มูลนิธิปิดทองหลังพระฯจัดงานแถลงข่าว “เก้าปี ก้าวหน้า” เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในรอบปีผ่านมา ซึ่งผลงานตลอดระยะเวลา 9 ปี

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ในฐานะประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา ปิดทองหลังพระฯให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เพราะสื่อถือเป็นกำลังหลักในการช่วยเผยแพร่ สร้างความเข้าใจ และทำให้ประชาชนในวงกว้างเห็นประโยชน์ของหลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ตกผลึก และถูกทดลองจนสำเร็จผล ทั้งยังมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของประเทศ ที่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศในมิติต่าง ๆ ได้

“การทำงานของปิดทองหลังพระฯปีนี้ถือว่าก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ซึ่งตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2553 เราริเริ่มทำโครงการพัฒนาพื้นที่แรกที่ จ.น่าน ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบ หลังจากนั้นจึงขยายพื้นที่ไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างตัวอย่างการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ต่าง ๆ และในแต่ละพื้นที่ที่เราเข้าไปทำงานมีปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งเขาหัวโล้น ป่าถูกบุกรุก ข้อจำกัดในการทำมาหาเลี้ยงชีพในเขตอุทยานแห่งชาติ การขาดแคลนน้ำ ตลอดจนความรุนแรง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือว่ามีรากเหง้ามาจากต้นเหตุเดียวกัน คือ ความยากจน และขาดโอกาส”

“ดังนั้น ตลอด 9 ปีผ่านมา ความก้าวหน้าของการดำเนินงานแต่ละพื้นที่จึงถือว่าเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง และจากรายงานประเมินผลด้านต่าง ๆ สามารถแบ่งเป็น การพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบได้รับน้ำกว่า 79,022 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 275,107 ไร่ ทั้งยังมีชาวบ้านในพื้นที่ที่ร่วมทำเกษตรกับปิดทองหลังพระฯ กว่า 4,536 ครัวเรือน โดยใช้งบประมาณด้านระบบน้ำ และส่งเสริมอาชีพรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดรายได้ทางตรงกว่า 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของเงินลงทุน เท่ากับเฉลี่ยครัวเรือนละ 508,818 บาท”

“ไม่เพียงเท่านี้ ปิดทองหลังพระฯยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ คือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งกองทุนวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ รวมถึงกลุ่มโรงสี กลุ่มผัก กลุ่มกล้วย กลุ่มล่องแพ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันมีกว่า 70 กลุ่ม และมีเงินทุนหมุนเวียนในทรัพย์สินรวมมูลค่า 15.78 ล้านบาท”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ปิดทองหลังพระฯยังจัดการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริด้วยการจัดฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับภาคีจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในการอบรมผู้นำขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ทุกจังหวัด

“ทั้งยังร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ พัฒนาแนวทางเพิ่มคุณภาพสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ ตลอดจนการเข้าร่วมกับมูลนิธิรากแก้ว ในการพัฒนาหลักสูตรปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2 วิชา เพื่อใช้สอนในสถาบันการศึกษา และทำโครงการร่วมพัฒนากับ 11 มหาวิทยาลัย รวมทั้งหมด 17 โครงการ”

“สำหรับปี 2561 ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการครึ่งปีแรก ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบมีรายได้เพิ่มขึ้น 113.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.08% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเพียงรายได้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่รายได้รวม เนื่องจากก่อนการพัฒนาในแต่ละพื้นที่มีการเก็บข้อมูลรายได้รายครัวเรือน และเมื่อชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ ปิดทองหลังพระฯ
ยังต่อยอดศักยภาพของชุมชน โดยยึดแนวทางการพัฒนา 3S Model ของรัชกาลที่ 9 คือ การพัฒนาบนเหตุและผลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่อง จากอยู่รอด สู่พอเพียง สู่ความยั่งยืน”

“เมื่อเราพัฒนาระบบน้ำ และส่งเสริมการประกอบอาชีพแล้ว ปิดทองหลังพระฯจึงทำงานเชิงลึกขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจขนาดย่อม นำการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาต่อยอดอาชีพ โดยเน้นคุณภาพ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ความซื่อสัตย์ และความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ ที่สำคัญ ยังขยายภาคีไปสู่ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งถือเป็นกลไกในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายมาพัฒนาเชิงพื้นที่”

ถึงตรงนี้ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมาปิดทองหลังพระฯมีโครงการใหม่สำคัญสำหรับชีวิตชาวบ้าน คือ การส่งเสริมการเลี้ยงแพะพระราชทาน, การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพทุเรียน, การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม และการเข้าร่วมงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคเหนือ”จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการรับรู้ และความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต้นแบบ 5 จังหวัด โดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ประชาชนในทุกพื้นที่มีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ในการร่วมงานกับปิดทองหลังพระฯ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวัฒนธรรม”

“นอกจากการเติมความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่ต้นแบบต่าง ๆ แล้ว อนาคตต่อไป ปิดทองหลังพระฯจะเพิ่มบทบาทด้วยการนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาชีวิตประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง อีกทั้งยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์จัดการและส่งเสริมองค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริอีกด้วย”