ซีเอสอาร์ฉบับ “วาโก้” บรามีค่า สร้างอาชีพ รักสิ่งแวดล้อม

หากเมื่อมองนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) จะเห็นว่าบริษัทไม่เพียงมุ่งมั่นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ หากยังสนใจในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ใส่ใจ ดูแล และรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการขององค์กรในด้านต่าง ๆ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

ที่สำคัญยังยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีจริยธรรม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน ผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ หรือแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรากฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อันไปสอดรับกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน “3 Beauty” ประกอบด้วย

หนึ่ง Beauty Figures (ด้านเศรษฐกิจ) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม ขยายธุรกิจให้เจริญเติบโต และสร้างมูลค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน

สอง Beauty Life (ด้านสังคม) ด้วยการใส่ใจ ดูแล รับผิดชอบต่อสังคม และสร้างความไว้ใจต่อผู้มามีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

สาม Beautiful Earth (ด้านสิ่งแวดล้อม) ด้วยการมุ่งมั่น ดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อคนรุ่นต่อไป

ผลเช่นนี้จึงทำให้ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดเรื่องนี้ให้เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของบริษัท เพื่อให้พนักงาน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ภาครัฐ องค์กรการกุศล สังคมสิ่งแวดล้อม และชุมชนมองไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้การบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good corporate governance)ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่อง “green materials” จาก “green supply chain” ทั้งระบบ


สำหรับเรื่องนี้ “พงษ์สันติ์ วงษ์เสริมหิรัญ” ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์วิจัยพัฒนาและนวัตกรรม บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) อธิบายให้ฟังก่อนว่า ในกระบวนการผลิตเราเริ่มจากออกแบบก่อน โดยเฉพาะเรื่อง eco design คือทำอย่างไรถึงจะให้ผลิตภัณฑ์ของเราสวมใส่สบาย สวมใส่ง่าย ดูแลรักษาง่าย และผู้ใช้จะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“จากนั้นเมื่อถึงขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของเราเป็น green procurement ซึ่งเราจะคอนแทร็กต์กับซัพพลายเออร์ทุกรายที่ผลิตสินค้าให้เราที่จะต้องเป็นผ้าที่ปลอดภัยจากสีและสารเคมีอันตรายต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการผลิตของเขาจะต้องใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญจะต้องมีกระบวนการในการกำจัดน้ำเสีย และการอนุรักษ์พลังงาน”

“ขณะที่วัตถุดิบที่เราได้มาก็จะมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้วย เรามีห้องแล็บที่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ISO 17025 และเราก็ได้ มอก.17025 ดังนั้น ในเรื่องของการจัดการคุณภาพจึงมีมาตรฐานในระดับสากล ส่วนเรื่องการจัดการกระบวนการผลิตก็เป็น eco system หรือ eco prosess เฉพาะส่วนนี้เราได้การรับรองมาตรฐาน ISO 14001 คือข้อกำหนดสากลสำหรับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม”

“ฉะนั้น ขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตในการผลิตบรา (เสื้อชั้นใน) แทบจะไม่มีปล่อยออกไปสู่ข้างนอกเลย เนื่องจากเศษผ้า เศษด้าย เศษฟองน้ำ เศษลูกไม้ หรือเศษยางที่เราใช้ในกระบวนการผลิต ส่วนใหญ่จะเป็นของที่เรานำกลับไปรีไซเคิลได้ เพราะจะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนำเศษต่าง ๆ ของบราไปทำเป็นวัสดุอื่น ๆ จนทำให้ขยะของเราเป็นศูนย์ นอกจากนั้น เรายังให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำเสีย และการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดคือ eco process ของเรา”

นอกจากนั้น “พงษ์สันติ์” ยังกล่าวถึงเรื่อง eco distribution หรือการกระจายเชิงนิเวศ เนื่องจากไทยวาโก้ใช้การพัฒนาระบบการเติมเต็มสินค้าหน้าร้าน และระบบการจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบ QRMS (quick response marketing system) ในการติดตามยอดขายและปริมาณสินค้าในคงคลัง

“ร่วมกับระบบ logistic management หรือ sorter เพื่อเติมเต็มสินค้าหน้าร้านจากโรงงานผู้ผลิตสู่ร้านค้าต่าง ๆ ดังนั้น ลูกค้าจึงไม่เพียงได้ของใหม่ และไม่ค้างสต๊อก หากลูกค้ายังได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว เพราะระบบ sorter จะคอยแจ้งเตือนอยู่เสมอ หากสินค้าของร้านไหนขาดสินค้าในรุ่นต่าง ๆ ที่สำคัญ eco distribution ยังช่วยขยายช่องทางการขายไปสู่ตลาดใหม่ ๆ อย่างโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ผู้บริโภคมีความต้องการอย่างรวดเร็วอีกด้วย”

“จนเมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภค เพราะอย่างที่บอกผลิตภัณฑ์ของเราเป็น eco design ลูกค้าจึงไม่ต้องห่วงเรื่องการดูแลรักษา เพราะบราแต่ละตัวสามารถซักมือได้ ประหยัดน้ำ ไฟ และดูแลรักษาง่าย เพราะสินค้าของเราทุกชิ้นรับประกันในการใช้งาน 50 ครั้ง หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แต่ละคน เพราะบราเป็นของสงวนสำหรับผู้หญิง พอไม่ใช้ก็จะพันใส่ถุงพลาสติกเพื่อไม่ให้อุจาดตา ดังนั้น พอเขานำไปทิ้งจึงกลายเป็นขยะชุมชนทันที”

“อีกอย่างวัสดุบราของวาโก้ส่วนใหญ่จะทำมาจากโพลีเมอร์ ซึ่งเป็นวัสดุที่ค่อนข้างย่อยสลายช้า ต้องใช้เวลาเป็นร้อย ๆ ปีกว่าจะย่อยสลาย ตรงนี้จึงเกิดเป็นคำถามว่าเราจะจัดการกับบราเหล่านี้อย่างไร เพราะเราเป็นผู้นำในการผลิตชุดชั้นในสตรีของประเทศไทย จนที่สุดจึงเกิดโครงการวาโก้ บราเดย์ขึ้นเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา โดยเรานำวันจดทะเบียนเสื้อชั้นในสตรีตัวแรกของโลกคือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวันคิกออฟโครงการวาโก้ บราเดย์ขึ้น”

ถึงตรงนี้ “วรรณี ตันตระเศรษฐี” ผู้จัดการโครงการวาโก้ บราเดย์ จึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการ “วาโก้ บราเดย์” บรามีค่า สร้างอาชีพ รักสิ่งแวดล้อม

“โดยปีนี้เราสื่อสารในรูปแบบบราเก่า เราขอเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเล็งเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่เรารับบริจาคบราเสื่อมสภาพทุกแบรนด์ด้วยการนำบราเก่ามาเข้าสู่กระบวนการย่อยสลาย โดยการเผาในระบบปิดร่วมกับการผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก”

“เนื่องจากโครงการวาโก้ บราเดย์ ดำเนินการภายใต้แนวคิด Zero Waste หรือขยะ = ศูนย์ ด้วยการกำจัดขยะให้มีปริมาณคงเหลือน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือการนำวัสดุกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ เพื่อช่วยยกระดับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของชุมชน พร้อมกับสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชนต่าง ๆ ตามโครงการบราสร้างอาชีพแก่กลุ่มสตรีในบ้านพักฉุกเฉิน, วาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม, ประชารัฐร่วมใจ ต้านภัยมะเร็งเต้านม และอื่น ๆ”

“ฉะนั้น ในส่วนของการสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีในบ้านพักฉุกเฉิน เราจึงนำผ้าม้วนไปให้พวกเขาประดิษฐ์เป็นกระเป๋า พวงกุญแจ เสื้อผ้าน้องหมา และอื่น ๆ โดยมีครูที่เรามีพันธมิตรไปช่วยสอนพวกเขา ขณะเดียวกัน เราก็รับซื้อสินค้าพรีเมี่ยมของเขาเพื่อแจกให้กับลูกค้าของเราด้วย ซึ่งน้อง ๆ ผู้หญิงเหล่านี้ก็จะได้เงินปีหนึ่งประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเขาจะบริจาคให้กับทางสมาคมเพื่อช่วยเหลือคนรุ่นหลัง ๆ ต่อไป เพราะเราอยากให้เขามีอาชีพติดตัวหลังจากออกจากที่นี่ไปแล้ว ขณะที่บางคนก็มาเป็นครูช่วยสอนให้กับสตรีอีกบางส่วนที่เข้ามาอยู่บ้านพักฉุกเฉินด้วย”

นอกจากนั้น “วรรณี” ยังกล่าวถึงเรื่องความยั่งยืนในอนาคตอีกด้วยว่า ปัจจุบันเราเป็นอุตสาหกรรมที่ได้ green level ระดับ 4 แต่เรามองเป้าหมายถึงระดับ 5 ที่จะต้องทำให้ชุมชน คู่ค้า และห้างร้านหันมาใส่ใจในเรื่องของการสร้างอาชีพ และรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

“แม้จะเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่เราต้องพยายามอธิบายให้พวกเขาเข้าใจ เพราะฉะนั้น ต่อไปถ้าเราไปขายสินค้าให้กับที่ไหน เขาจะต้องใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย พูดง่าย ๆ เราพยายามทำทุก ๆ ซัพพลายเชนทั้งคู่ค้า ลูกค้า ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตรงนี้จึงเป็นแนวทางในอนาคตที่เราพยายามที่จะไปถึงตรงนั้น ก่อนที่จะมองไปถึงเรื่องดาวโจนส์อินเด็กซ์อีกที”

“เพราะอย่างที่ทราบตลอดโครงการวาโก้ บราเดย์ที่เราทำตลอดมา 8 ปี เรารับบริจาคบราเฉลี่ยปีละ 50,000 ตัว รวม 8 ปี ประมาณ 4 แสนตัวเท่านั้นเองถือว่าน้อยมาก เพราะฉะนั้น ในอนาคตเราหวังว่าโครงการนี้จะถูกรับรู้มากขึ้นจนทำให้เราสามารถรับบริจาคบราเก่าได้สูงถึง 1 ล้านตัวต่อปี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อม ๆ กับสร้างอาชีพให้กับชุมชนต่าง ๆ”

“เพราะนับแต่ดำเนินโครงการวาโก้ บราเดย์เมื่อปี 2555 เราช่วยลดปริมาณขยะในชุมชน 30-40 ตัน ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 17.88 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแม้อาจจะดูตัวเลขยังไม่มากเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยคงพอทำให้เห็นภาพบ้างว่าไทยวาโก้มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของโลกใบนี้อย่างไร”

แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของสังคมโลกก็ตามที