ม.ร.ว.ดิศนัดดา 5 ทศวรรษพัฒนา ลดเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจ แก้สังคมแตกแยก

“เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว” คือปรัชญาหลักในการทำงานของ “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอวาระ-ปัญหา ทิศทาง เศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก ทุกช่วงจังหวะก้าว

เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะร้อนแรง-ปัญหาสังคมระอุ ด้วยหนี้ครัวเรือนท่วมท้นและปมปัญหาสิ่งแวดล้อมรุมรอบด้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” จับมือกับ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิรากแก้ว” โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ส่งสัญญาณให้เห็นทั้งปัญหาและโอกาสประเทศไทย ในปาฐกถาพิเศษ ผ่าน “ประสบการณ์ 5 ทศวรรษ สืบสานแนวพระราชดำริ”

พร้อมกับระดมโอกาส-ทางรุ่ง-ทางรอดของมืออาชีพในวงการเศรษฐกิจไทย ในเวทีสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน”

ยกพระราชดำรัสเรื่อง “การกู้เงิน”

ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินหนี้ครัวเรือนอยู่บ่อยครั้ง ฝ่ายหนึ่งบอกว่าน่าวิตก อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ายังสบาย ๆ ผมจะขอยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้มาเป็นเครื่องเตือนใจ ความว่า “การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน” แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 9 ไม่ได้ห้ามกู้ ทรงแนะนำให้กู้ไปทำในสิ่งที่งอกงามขึ้น แต่คนมักกู้เพื่อการบริโภคเป็นจำนวนมาก และคนชนบทกู้เพื่อการเกษตร ทั้งสองกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะคำเดียวคือ คำว่า ไม่พอ คำว่า พอไม่มี”

จากวิกฤตชาติสู่กำเนิดโครงการหลวง

ในฐานะทายาทราชสกุล “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” บอกว่า “งานพระราชดำริของราชวงศ์ไม่ได้มาลอย ๆ แต่เกิดขึ้นจากการสังเกต วิเคราะห์ จึงได้ทำพระราชดำริ สอดคล้องและตอบโจทย์สถานการณ์บ้านเมืองตลอด เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 มีวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก คนไทยจนมาก ลัทธิคอมมิวนิสต์และยาเสพติดระบาดในพื้นที่ จึงเป็นจุดกำเนิดของโครงการหลวงและฝนหลวงตามมา มาถึงแผนฉบับที่ 3 ประเทศไทยยังไม่ฟื้นดีก็เกิดวิกฤตน้ำมันโลก เงินเฟ้อในประเทศไทยสูงถึง 10.3% สินค้าขาดแคลน จึงเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิพระดาบส มูลนิธิศิลปาชีพ โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ และเป็นครั้งแรกที่ทรงเตือนว่าอยู่อย่างพอมี พอกิน สุขสงบสุข”

ในระยะเวลาของแผนฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5 เกิดวิกฤตน้ำมันอีก เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ทรงคิดค้นเรื่องไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ เมื่อเข้าสู่ฉบับที่ 6 ประเทศไทยฟื้น มุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ภาคเกษตรเสื่อมถอยจึงได้พระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี เพื่อให้ประเทศรักษาภาคเกษตรเอาไว้ให้ได้

หลังจากนั้น ยังพระราชทานโครงการอีกมากมาย เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ถนนบรมราชชนนี คลองลัดโพธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงงานเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ของประเทศอย่างมีเหตุมีผลมาโดยตลอด ซึ่งเป็นโครงการทั้งด้านการเกษตร การคมนาคม และป้องกันน้ำท่วม อันเป็นปัญหาจากเขตเมือง

ปัญหายาเสพติด กับคนยากจน

“โครงการดอยตุงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเรียนรู้จากรัชกาลที่ 9 และทรงมาทำจริงเมื่อปี 2531 เพื่อปลูกป่า ปลูกคน แก้ปัญหายาเสพติดที่รากเหง้า นั่นคือ ความยากจนและความขาดโอกาส ทำให้องค์การสหประชาชาติให้เป็นต้นแบบของโลกในการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” จากความอุตสาหะและความทุ่มเทของพระบรมวงศานุวงศ์ในการแก้ปัญหายาเสพติด องค์การสหประชาชาติจึงตัดชื่อไทยออกจากประเทศผู้ผลิตยาเสพติดตั้งแต่ปี 2546 พระองค์ยังให้แนวพระราชดำริด้านแก้ปัญหายาเสพติด รับสั่งไว้ว่า

“คนเราเมื่อขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแล้ว จะเกิดความว้าวุ่น พอความทุกข์ก็จะหันหน้าคว้าเอาสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของตน เพื่อให้ลืมเรื่องเฉพาะหน้าชั่วคราว เช่น ยาเสพติด เพราะทำให้คนมึนเมา ขาดสติสัมปชัญญะ มักประพฤติแต่ความชั่ว เปรียบเสมือนปลาติดเบ็ดยากนักที่จะหลุดพ้นไปได้”

แม้พระราชดำริเหล่านี้พระราชทานไว้นานแล้ว แต่ยังเป็นความจริงอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเรามีคนเกี่ยวข้องยาเสพติดยุคใหม่มากถึง 2.4 ล้านคน ถ้าเราแก้ปัญหาความยากจนได้ จำนวนผู้เกี่ยวข้องกับติดยาเสพติด ปัญหาทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยกในสังคม จะลดลงอย่างมาก

“ปิดทองหลังพระ” เกาะปัญหาเกษตรกร-การศึกษา

“มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานงานพระราชดำริ ก่อตั้งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมทำตามรัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด พระองค์ทรงทำโดยไม่ได้แย่งงานของรัฐบาลทำ แต่ทำในสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถึง ซึ่งพระองค์ทรงทำในบ้านคือพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จะเป็น วัว ไม้ ข้าว ปลา ทรงทดลองเองก่อนจนสัมฤทธิผลแล้วจึงนำข้าราชการมาเรียนรู้จากพระองค์ท่าน ว่าพิสูจน์โดยถ่องแท้แล้วพระองค์ทรงพาทำ” ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวและว่า

“เพราะโลกในอนาคตยังขึ้นอยู่กับเยาวชนในอนาคต จึงได้มีการตั้ง “มูลนิธิรากแก้ว” เพื่อเป็นแกนกลางในการปลูกฝังและส่งเสริมให้เยาวชน ภาคการศึกษาในปัจจุบันมีสถิติที่น่าสนใจในฐานะโจทย์ที่ต้องร่วมกันคิดแก้ไข คือ เกษตรกรมีสัดส่วน 33% ของประชากรทั้งประเทศ แต่มีส่วนในจีดีพีไม่ถึง 10% ที่สำคัญเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4,750 บาท กว่า 40% อยู่ใต้เส้นความยากจน ส่งผลให้ต้องอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง โดยแรงงานในเมืองเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของการมีหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเป็นการกู้เพื่อบริโภค”

เชื่อมั่นเศรษฐกิจพอเพียง ต้องทำให้มากกว่าพูด

สุดท้าย “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” มีข้อสังเกตที่ฝากให้ธุรกิจ-สังคมได้พิจารณา คือ 1.เกษตรกรมีสัดส่วน 33% ของประชากรทั้งหมด มีสัดส่วน GDP ไม่ถึง 10% จะทำอย่างไรดี 2.เกษตรกรมีรายได้
เดือนละ 4,750 บาท 40% อยู่ใต้เส้นความยากจน พวกเขาจะอยู่อย่างไรถ้าไม่อพยพมาเป็นแรงงานในเมือง และแรงงานในเมืองเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของหนี้ครัวเรือนและเป็นการกู้เพื่อบริโภค


“เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้มีพระราชดำริที่ทรงพระราชทานไปแล้วหรือไม่ ทำไมเราจึงกลับมาสู่ความเสื่อมในวัฏจักร ขาดภูมิสังคม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเชื่อมั่นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือลงมือทำให้มากกว่าพูด ดังพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่จะทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด ทรงขอให้ทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามฐานะและหน้าที่ของตนด้วยความสามัคคี ตัวอย่างคือ โครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เริ่มจากเล็ก ๆ จากความเต็มใจของประชาชน ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่ที่จะช่วยปลดล็อกความแตกแยกของสังคมได้ เพราะเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”