“โซล” เมืองแบ่งปัน (1)

(แฟ้มภาพ)

คอลัมน์ CSR Talk

โดย กัญรัตน์ โภไคยอนันต์

จะมีสักกี่คนที่กล้าเดินไปเคาะประตูคนห้องข้าง ๆ เพื่อขอยืมเสื้อผ้า หนังสือ รองเท้า รถยนต์บ้าง ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนเมืองมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของเมือง และการกระจุกตัวเพียงบางย่าน ทำให้การเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัยจากแนวราบอย่างบ้าน ตึกแถว ได้เปลี่ยน และย้ายขึ้นไปอยู่ในแนวตั้ง เช่น คอนโดฯและอพาร์ตเมนต์ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผลของการอยู่อาศัยในแนวตั้ง ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนเริ่มลดน้อยถอยลง เกิดการปฏิสัมพันธ์กันเพียงในกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน ทั้งทางโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่จิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนนั้นเริ่มหายไป

หลักการ “เมืองแบ่งปัน” (sharing city) จึงเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับ “โซล” ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ที่ถือเป็นเมืองต้นแบบในการนำหลักของการแบ่งปันสิ่งของมาใช้ในการยึดโยงผู้คนในสังคม ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเป็นตัวกลางในการประสานติดต่อ

20 กันยายน 2555 รัฐบาลกรุงโซล นำโดย “Park Won Soon” นายกเทศมนตรี ได้ประกาศความคิดริเริ่มของเมืองแห่งการแบ่งปัน พร้อมกับแผนการเพื่อจัดตั้ง และขยายรากฐานสำหรับการแบ่งปันในฐานะมาตรการด้านนวัตกรรมทางสังคม (social innovation) ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ การเรียกคืนความสัมพันธ์ของคนในสังคม และเพื่อลดการสูญเสียทรัพยากร เศรษฐกิจที่ใช้ร่วมกัน (sharing economy) มาเป็นเครื่องมือสำหรับทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายหลัก ๆ ในเมือง ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ในฐานะเมืองผู้บุกเบิกในด้านนี้ กรุงโซลได้พัฒนาการแบ่งปันที่มีประสิทธิภาพหลากหลายรูปแบบ ด้วยการเปลี่ยนกฎระเบียบ การร่วมระดมทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพของเมือง และการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายขึ้น (open data) ด้วยการสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะ (public awareness) โดยการสนับสนุนบริษัทที่เข้าร่วม และมีความคิดริเริ่มในการแบ่งปันข้อมูล (sharing information) และทรัพย์สิน (assets)

ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นสูงหากนับรวมพื้นที่รอบ ๆ ที่มีการขยายตัวของ Seoul capital area จะมีถึง 25 ล้านคน โดยแค่เฉพาะใจกลางเมืองมีคนอยู่อาศัยราวเกือบ 10 ล้านคนในปี 2019 (ข้อมูลจาก World Population Reviews) และการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาการว่างงาน การขาดปฏิสัมพันธ์ของคนในเมือง และมลพิษ ทำให้ปัจจัยทั้งหมดนี้ทรัพยากรของเมืองจึงอยู่ภายใต้ความกดดันและเกิดการพยายามเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน

โครงการ Sharing City Seoul ช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างบุคคล และฟื้นฟูชุมชนด้วยการแบ่งปัน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การส่งเสริมเศรษฐกิจการแบ่งปัน และการสนับสนุนเพื่อการบริโภคแบบร่วมมือกันมีส่วนช่วยในการสร้างงาน และทำให้เศรษฐกิจในเมืองมีความสำคัญยิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากร

ตัวอย่างโครงการ Nanum Car (การแบ่งปันรถยนต์) และโครงการที่จอดรถสาธารณะของกรุงโซล เพื่อปรับปรุงการขนส่งในเมือง ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยบริษัท แบ่งปันรถยนต์ SOCAR เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรไม่เต็มที่ ซึ่งการใช้รถยนต์ร่วมกัน 1 คัน สามารถแทนที่รถยนต์ที่เป็นเจ้าของได้ 16.8 คัน นอกจากนี้ การใช้รถยนต์ร่วมกันมีศักยภาพในการแก้ปัญหาที่จอดรถและปัญหาสิ่งแวดล้อม และจากสถิติแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 4 ของชาวกรุงโซลเป็นเจ้าของรถยนต์ จากรถยนต์ 770,000 คันหรือ 35 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทุกคันที่เป็นของชาวกรุงโซลนั้นมีการใช้งานด้วยระยะทางน้อยกว่า 7,000 กิโลเมตรต่อปี และ 330,000 คัน หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ใช้ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น