บทเรียนยุค 3 M พัฒนาผู้นำสู่ “นักคิด” เพื่อนวัตกรรม

ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ต้องยอมรับว่าในบทบาทของ “ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่เพียงทำหน้าที่บริหารธุรกิจเกี่ยวกับที่ปรึกษาผู้บริหารระดับสูง, ระดับกลาง และการอบรมสัมมนาให้กับพนักงานจากองค์กรต่าง ๆ มากมาย

หากในอีกบทบาทหนึ่ง “ดร.อัจฉรา” ยังสวมหมวกเป็น Executive Coach ที่คอยชี้แนะ ให้คำปรึกษาผู้นำธุรกิจที่กำลังผจญกับภาวะวิกฤตองค์กรในเรื่องต่าง ๆ ด้วย ผลเช่นนี้ จึงทำให้เธอจำเป็นต้องไปอบรม สัมมนาเพื่อเติมความรู้ทั้งในเรื่องธุรกิจ, โค้ช, ไลฟ์โค้ช และเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้กับองค์กรของตัวเอง ขณะที่อีกทางหนึ่งก็เพื่อนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ตลอดระยะเวลา 1-2 ปี ที่หลายองค์กรกำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของดิจิทัลดิสรัปชั่น และการทรานส์ฟอร์มองค์กรจากองค์กรที่เทอะทะ อุ้ยอ้าย เพื่อก้าวมาสู่ความเป็นองค์กรสมัยใหม่ในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ “ดร.อัจฉรา” มองเห็นตลอดมา

“ดร.อัจฉรา” ตั้งข้อสังเกตสำหรับเรื่องนี้ว่า แม้ตอนนี้หลายองค์กรกำลังเผชิญกับความท้าทาย และโอกาสในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งถ้ามองอย่างไม่เข้าใจอาจทำให้เกิดความกังวลได้ แต่ถ้ามองเป็นโอกาสจะพบว่าความเปลี่ยนแปลง และความท้าทายดังกล่าวจะทำให้เรากล้าที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับองค์กรของตัวเอง

“ที่สำคัญ ยังสามารถนำมาปรับใช้ใน business process เพื่อให้พนักงานมีคุณค่ามากขึ้น เพราะต่อไปในอนาคต งานที่เคยทำซ้ำ ๆ แบบเดิม ๆ จะถูกเครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน เพราะตอนนี้เป็นยุคของความเร็ว ดังนั้น หากองค์กรใดองค์กรหนึ่งให้ความสำคัญกับเรื่อง data system หรือ data analytic ก่อน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจก่อนย่อมมีสูง และยิ่งถ้าใครมองทะลุไปถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หรือลูกค้ายังมองไม่เห็น แต่เราพร้อมที่จะนำเสนอเป็นทางเลือกแรก ๆ ก็จะเป็นโอกาสขององค์กรนั้น ๆ มากขึ้นด้วย”

“ดังนั้นตลอด 1-2 ปีผ่านมา เราจะเห็นองค์กรต่าง ๆ มักพูดว่า เราต้องดิสรัปต์ตัวเองก่อนที่จะถูกดิสรัปต์ ซึ่งเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายองค์กรทั่วโลก แต่กระนั้น ในภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงเรื่องดิสรัปต์อาจเป็นเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะภาพที่ใหญ่กว่านั้น คือ การทรานส์ฟอร์มองค์กร แต่ก็ใช่ว่าการทรานส์ฟอร์มจะทำได้ง่าย ๆ ยิ่งถ้าเป็นองค์กรใหญ่ด้วย ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ที่สำคัญ จะต้องมีผู้นำระดับสูงลงมาเล่นด้วย และเขาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริง ๆ ถึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์”

ด้วยเหตุนี้ “ดร.อัจฉรา” จึงมองภาพของการทรานส์ฟอร์มองค์กรว่าจะต้องมี 2 L ประกอบกัน คือ

หนึ่ง L-learning การเรียนรู้ที่จะต้องเป็นการเรียนรู้แบบ learning at the speed of business ที่จะมีเรื่องของความเร็วเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เพราะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้องค์กรล้มเหลวในการทรานส์ฟอร์ม คือ การพัฒนาคน

สอง leadership การที่องค์กรจะทรานส์ฟอร์มล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กรนั้น ๆ ด้วย และยิ่งในยุคสมัยนี้ ผู้นำไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุดแต่เพียงคนเดียว หากยังหมายถึงผู้นำทุกระดับชั้น ซึ่งเขาจะต้องรู้วิธีการทรานส์ฟอร์มทีมของตัวเองด้วย

“เพราะถ้าเขาเข้าใจจะทำให้ทุกหน่วยย่อยของทีมดำเนินตามโครงสร้างของภาพใหญ่ และจะทำให้เกิดการกระเพื่อมในทุก ๆ ระดับชั้น จนทำให้ทุกทีมขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน จนทำให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรประสบความสำเร็จ เพราะโลกธุรกิจทุกวันนี้การขับเคลื่อนทุกองคาพยพเกี่ยวข้องกับคนทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้นำทุกทีมจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันทีมให้ประสบความสำเร็จ และไม่เฉพาะแต่ผู้นำระดับสูงสุดเพียงคนเดียว แต่หมายถึงผู้นำหน่วยทุกคน”

นอกจากนั้น “ดร.อัจฉรา” ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในปัจจุบันโลกของเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการสร้างคอนเทนต์ในเรื่องการเรียนรู้ค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญ พวกเขาจะไม่เรียนรู้อะไรที่ใช้เวลามากเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่จะเรียนเฉพาะส่วนที่ถูกหั่นออกมาสำหรับเรียนเพื่อใช้ในการทำงานเท่านั้น

จนที่สุด “ดร.อัจฉรา” ถอดแบบออกมาเป็นกลยุทธ์ 3 M ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่พนักงานยุคใหม่ศึกษากัน ดังนี้

หนึ่ง micro learning การเรียนรู้ที่ถูกหั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ หรือพอดีคำ โดยใช้เวลาเรียนประมาณ 7 นาที ดังนั้น จะทำให้ผู้เรียนไม่เสียเวลาเยอะ เพราะเขาจะได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน และนำมาใช้งานจริง ๆ ที่สำคัญ การเรียนลักษณะนี้ยังสามารถเรียนผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ เช่น วิดีโอ, อินโฟกราฟิก ฯลฯ

สอง mobile learning จากรีเสิร์ชบอกว่าคนในยุคปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมงกับโทรศัพท์, สมาร์ทโฟน, แล็ปทอป และอื่น ๆ เพราะฉะนั้น ในแง่ของการเรียนลักษณะนี้ เราจึงออกแบบให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ในลักษณะของเกม และ simulations (สถานการณ์จำลอง) ซึ่งคนไม่เก่งไอทีก็สามารถเรียนได้

สาม multichannel learning การเรียนรู้แบบผสมผสาน ด้วยการนำจุดแข็งของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มี มาให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้เขาสนุกกับการเรียน ที่สำคัญ ภายในข้อจำกัดนี้ยังมีครู หรือโค้ชคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยแนะนำในบทเรียนต่าง ๆ ด้วย

“พูดง่าย ๆ คือตอนนี้ แอคคอมฯขยายแพลตฟอร์มเพื่อช่วยลูกค้าให้มีความสะดวกในการเรียนมากขึ้น เพราะมีการเรียนแบบ e-Learning ที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้เองว่า ถ้าเราเป็นคนชอบฟังอย่างเดียวก็เลือกเรียนผ่านพอดแคสต์ หรือถ้าเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็สามารถเรียนรู้ผ่าน e-Book และถ้าบางคนอยากต้องการเรียนรู้แบบสด ๆ วันต่อวัน ก็สามารถเลือกเรียนแบบ live online ได้ด้วย ที่สำคัญ หากผู้สอนมีเทคนิค มีความเชี่ยวชาญ ก็จะทำให้ผู้เรียนอยู่กับบทเรียนต่าง ๆ ได้ เพราะเรามีเทคนิคที่ทำให้ผู้เรียนอยู่กับเรานาน ๆ”

“แต่กระนั้น สำหรับคลาสการสอนในห้องเรียนก็ไม่ได้หายไปไหน ลูกค้ายังมีความต้องการเรียนกับเราแบบนี้ประมาณ 90% เพียงแต่เราจะมีการเรียนรู้แบบ 3 M มาเสิร์ฟให้ลูกค้า เสมือนกับเป็นเมนูทางเลือกใหม่ เพื่อให้ทันยุคทันสมัยกับผู้บริโภคสมัยนี้ เพราะการทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เร็วอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดเวลา ที่สำคัญ ความรู้ใหม่ ๆ จะอยู่แค่เพียง 2 ปีก็จะเปลี่ยนแปลงแล้ว ดังนั้น ถ้าคนไม่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง องค์กรจะปรับตัวไม่ทัน”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ดร.อัจฉรา” มองว่า อุปสรรคในการทรานส์ฟอร์มองค์กรจึงมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน

หนึ่ง ความคิดสวนทางกัน เพราะผู้บริหารระดับสูงมองว่าพนักงานช้า ขณะที่พนักงานเองก็บอกว่าเร่งจะตายอยู่แล้ว ทำไม่ทัน จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิด

สอง ยิงผิดเป้า เพราะสิ่งที่องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าจริง ๆ

สาม พนักงานไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ จึงเป็นเหตุให้พนักงานในองค์กรไม่รู้สึกต่อการมีส่วนร่วม เพราะเขามองความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่นำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเขา จึงทำให้เกิดการปฏิเสธ ไม่ยอมรับในคำสั่ง และที่สุดยิ่งเมื่อมีการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การเปลี่ยนแปลงองค์กรก็ล้มเหลวในที่สุด

สี่ ผู้นำต้องเป็นเข็มทิศ และนาฬิกา หมายความว่า ผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ และพยายามนำองค์กรไปสู่เป้าหมาย แต่ในยุคดิสรัปชั่น สิ่งที่กล่าวมาอาจไม่เพียงพอ เพราะผู้นำยุคใหม่ต้องเป็นนักคิดด้วย ที่สำคัญ เวลาผู้นำคิดต้องคิดแบบอ่านเกมให้ได้ คาดการณ์ล่วงหน้าออก และต้องรู้ด้วยว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพียงเพื่อช่วยทำให้เราบรรลุเป้าหมายเท่านั้น

“เนื่องจากโลกของเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้พนักงานสูญเสียงานไปประมาณ 20% แต่ในทางตรงกันข้าม ก็ทำให้มีงานใหม่เพิ่มเข้ามา 20% เช่นกันแต่ทั้งนั้น การที่จะทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก เราคงต้องมาปรับทักษะในเรื่องของชุดความคิด (mindset) ประกอบกันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นความคิดในการทำงานแบบรวดเร็ว (agile mindset) ความคิดในการทำงานร่วมกัน (collaboration mindset) และความคิดในการเจริญเติบโต (growth mindset) และที่สำคัญอีกอย่าง คือ ความคิดทางด้านดิจิทัล (digital mindset)”

เพราะถ้ามีองค์ประกอบเหล่านี้ครบ “ดร.อัจฉรา” เชื่อว่าน่าจะทำให้องค์กร, พนักงาน, คู่ค้า, พันธมิตรสามารถปรับตัวสู้กับกระแสดิสรัปชั่นได้อย่างไม่ต้องกังวลอีกต่อไป