ลุ้นประกันสังคมเคาะ 14 เม.ย. ปิดกิจการชั่วคราวจ่าย 9 พัน

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

บอร์ดประกันสังคมเคลียร์ปมจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างกรณีปิดกิจการชั่วคราว 14 เม.ย.นี้ เคาะวิกฤตโควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัย หลังกฤษฎีกาฟันธง แรงงาน 5 แสนคนอยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์รับ 9,300 บาท 3 เดือน หวั่นสถานการณ์ยื้อต้องหาเงินโปะช่วยต่อ “หม่อมเต่า” แนะบริหารภายในเงินในกระเป๋า ชี้อนาคตต้องปรับบทบาทกองทุนประกันสังคม

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างรุนแรง สถานประกอบการจำนวนมากต้องทยอยปิดกิจการ และมีจำนวนผู้ตกงานจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 และมาตรา 40 ที่ต้องหยุดงานเพราะสถานประกอบการ นายจ้างต้องปิดกิจการชั่วคราวเพราะลูกค้าน้อยลงมาก หรือไม่มีลูกค้าจึงตัดสินใจหยุดดำเนินกิจการเพื่อลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างแรงงานในภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ที่ยังมีปัญหาไม่ได้รับการช่วยเหลือชดเชยจากกองทุนประกันสังคม เนื่องจากถูกมองว่าปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัย อีกทั้งรัฐไม่ได้สั่งปิดเป็นการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัย จึงไม่สามารถขอช่วยเหลือเยียวยาที่กองทุนประกันสังคมจะจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง จนกว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งแต่ไม่เกิน 90 วันตามเกณฑ์ที่กำหนด

จ่ายแน่เพราะเหตุสุดวิสัย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 เมษายน 2563 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) เพื่อพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงานที่ตกงาน หรือต้องหยุดงานชั่วคราวจากการระบาดของโควิด-19 กลุ่มนี้ โดยมีประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาดังนี้

คือ 1) โควิด-19 นั้น ถือว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” หรือไม่ เนื่องจากใน พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน บทบัญญัติกฎหมายไม่ได้ชี้ชัดว่า เหตุสุดวิสัยครอบคลุมถึงโรคระบาด ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะสามารถจ่ายเงินเพื่อเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้หรือไม่ ซึ่งกฤษฎีกาให้คำตอบกลับมาว่า บอร์ดประกันสังคมสามารถเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดได้เลยว่าการเกิดโรคระบาดอย่างโควิด เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เพราะเป็นการระบาดวิกฤตรุนแรงไปทั่วโลกโดยไม่มีการคาดหมายมาก่อน

2) ประเด็นเรื่องศักยภาพของกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ขณะนี้ หากจะเยียวยาในส่วนนี้อาจจ่ายเงินเยียวยาให้ได้เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และอาจจะลากยาวไปถึง 6 เดือนหรือมากกว่านั้น จะสามารถนำเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งถูกแบ่งแยกตามภารกิจหน้าที่เป็น 4 ฟังก์ชั่น จาก “กองอื่น” มาเฉลี่ยเพื่อจ่ายให้ผู้อยู่ในระบบประกันสังคมในภาวะที่มีความจำเป็นในสถานการณ์โควิดระบาดในขณะนี้ได้หรือไม่ เช่น การกู้ยืมเงินระหว่างกันได้หรือไม่ เป็นต้น

3) การบริหารกองทุนประกันสังคมในอนาคตภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว จะต้องบริหารอย่างไร รวมถึงการจัดกลุ่มของแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามฐานเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท ฐานเงินเดือนที่ 20,000-25,000 บาท และฐานเงินเดือนที่ 30,000 บาท มีจำนวนในแต่ละประเภทอยู่เท่าไหร่ เพื่อใช้วางแผนสำหรับอนาคตของประกันสังคมใหม่ เนื่องจากรายละเอียดที่บังคับใช้ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคมในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะระดับฐานเงินเดือนที่สูงขึ้นกว่าเมื่อ 15 ปีก่อนหน้านี้

5 แสนรายรับ 9 พันบาท

ทั้งนี้ เมื่อประเมินเบื้องต้นพบว่ามีแรงงานที่ตกงาน หรือต้องหยุดงานชั่วคราว โดยรัฐไม่ได้สั่งให้หยุด แต่สถานประกอบการหรือนายจ้างหยุดกิจการเองจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 500,000 ราย สำหรับเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาตามกฎหมายระบุว่า ต้องมีการจัดส่งเงินเข้าประกันสังคมอย่างน้อย 15 ปี ได้รับอยู่ที่ 62% จากฐานเงินที่ส่งเข้าประกันสังคมที่่ 15,000 บาท ฉะนั้นเท่ากับว่า หากคำนวณแล้วจะต้องจ่ายอยู่ที่ราว 9,300 บาท ซึ่งหากบอร์ดประกันสังคมอนุมัติในสัปดาห์หน้า สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ทันที

“สำหรับเงินในกองทุนประกันสังคมนั้น ในขณะนี้มีจำนวนเงินที่ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ประกันตน และจากรัฐบาล ทำให้มีเงินรวมค่อนข้างมากที่ 2 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าวงเงินสูงมาก ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่แรงงานเป็นคนส่ง เพราะฉะนั้นหากมีการใช้เงินก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แตกต่างจากการจ่ายภาษี ต้องจ่ายเฉพาะในส่วนที่มีความจำเป็นจริง ๆ การช่วยเหลือจึงต้องช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด ภาครัฐเข้ามาเยียวยาไปแล้วที่ 5,000 บาท เพื่อให้ผ่านในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่ดี และยังได้รับผลกระทบจากโรคระบาดที่มองไม่เห็นอีก ภาครัฐจึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้ การสร้างดีมานด์จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อน”

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจาก 3 ประเด็นที่จะมีการหารือของบอร์ดประกันสังคมแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงแรงงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการเยียวยา อย่างเช่น กลุ่มที่ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ รวมถึงกลุ่มที่นายจ้างสั่งหยุดทำงาน แต่ยังจ่ายเงินเดือนอยู่ที่ 75% ของฐานเงินเดือนว่าจะมีมาตรการมาบรรเทาความเดือดร้อนในส่วนต่างรายได้ที่หายไปได้หรือไม่ และวิธีการจะเป็นอย่างไรด้วย อีกทั้งในส่วนที่กระทรวงแรงงานทำควบคู่ขนานกันไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 เช่น การใช้ศูนย์ฝึกอาชีพ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศรวม 25 แห่ง ให้ฝึกอาชีพใหม่ ๆ ให้กับผู้สนใจ เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

กังวลเงินพร่องต้องหาเติม

นอกเหนือจากนี้ยังมี “ข้อกังวล” ที่กระทรวงแรงงานจะต้องวางแผนรองรับคือ เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทของกองทุนประกันสังคม มีประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินบำนาญที่นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายมา 20-30 ปีแล้ว เป็นส่วนส่งเงินเข้าแต่ยังไม่มี “การเบิก” จนกระทั่งในปี 2563 นี้ เริ่มมีการเบิกจ่าย และประเมินว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีการเบิกเงินมากขึ้นเพราะครบอายุเกษียณ ขณะเดียวกันประชากรเริ่มน้อยลง ใน 30 ปีต่อจากนี้ จำนวนประชากรจะมีเหลือเพียง 46 ล้านคน ทำให้คนส่งเงินเข้าประกันสังคมจะลดน้อยลงไปด้วย

ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนรองรับ โดยเฉพาะอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในอนาคตจะต้องปรับ เนื่องจากเมื่อประเมินในระยะสั้น ๆ นี้คือในอีก 7-8 ปีข้างหน้านี้จะมีการจ่ายเงินออก “มากกว่า” การส่งเงิน ยิ่งเมื่อประเมินระยะยาวไปจนถึง 30-40 ปีข้างหน้าอาจจะไม่มีเงินเหลือในกองทุนจะต้องดำเนินการอย่างไร รวมถึงบทบาทของประกันสังคมที่ควรมีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


“เราต้องตั้งสมมุติฐานที่ว่า อีก 30 ปีข้างหน้า ฐานเงินเดือนของคนไทยจะสูงอย่างในบางประเทศ สวีเดน ฯลฯ เขาเก็บเข้าตั้ง 34% เพราะว่าต้องการให้พอเหลือใช้ตอนเกษียณ สามารถทำ module ได้ว่าในอนาคตควรจะจัดเก็บเงินในอัตราอย่างไร แต่ยังไม่นับรวมกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เรามองว่าเราเหมือนถูกรถชน บางอย่างก็เป็นเฉพาะเรื่อง เพราะเงินจริง ๆ ก็ไม่ใช่มากนัก แต่ปัญหาคือในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีการจ่ายเงินมาก แต่มีคนส่งเงินเข้ามาน้อย ต้องวางแผนให้ดี เงินในส่วนใดที่จะหมดก่อนอาจจะต้องมาโฟกัสการเก็บเพิ่มก่อน จะปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะต้องนำเสนอวิธีการบริหารกองทุนประกันสังคมให้รัฐบาลพิจารณาด้วย” หม่อมราชวงศ์จัตุมงคลกล่าวทิ้งท้าย