7 แนวทางผู้ลงทุน รับมือสถานการณ์โควิด-19 (1)

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR TALK

โดย สถาบันไทยพัฒน์

สถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ไม่เฉพาะในมิติสุขภาพโลก แต่ยังส่งผลทั้งในมิติชุมชน มิติเศรษฐกิจ และมิติการลงทุน ภายใต้หลักการดูแลรักษาทุนในระยะยาว ผู้ลงทุนสามารถ และควรลงมือช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ทั้งผลทางตรงด้านสาธารณสุข ความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ (pandemic) และความไม่เสมอภาคทางสังคมที่ยิ่งถลำลึก รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากผลกระทบดังกล่าว

วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนและผู้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำกัดรูปแบบของการถือครอง กลยุทธ์ที่ใช้ หรือบทบาทที่ดำรงอยู่ในห่วงโซ่การลงทุน การรับมือกับวิกฤตจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของบูรณภาพทั้งระบบ และผลตอบแทนทั้งมวลในระยะยาว มากกว่าการให้ความสำคัญกับผลประกอบการของบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

การไหลออกของเงินลงทุนในช่วงสถานการณ์ อาจมีผลทำให้ผู้ลงทุนสถาบันที่จัดการแทนเจ้าของทรัพย์สิน (asset owners) และผู้ให้บริการจัดการเงินลงทุน (asset managers) ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านสภาพคล่อง รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการไหลออกของเงินลงทุนและการตกต่ำของมูลค่าตลาดโดยรวม

กระนั้นก็ตาม ผู้ลงทุนสถาบันที่ยึดหลักของการลงทุนที่รับผิดชอบ (responsible investment) สามารถ และพึงใช้บทบาทของตนที่มีต่อบริษัท และรัฐบาลผ่านกระบวนการตัดสินใจลงทุน สนับสนุนบริษัทในวิถียั่งยืนให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ ภายใต้การคำนึงถึงประโยชน์ด้านสาธารณสุข และสมรรถนะด้านเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะต้องถูกจำกัดผลตอบแทนในระยะสั้น

หน่วยงาน PRI ซึ่งเป็นผู้จัดทำ และเผยแพร่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-Supported Principles for Responsible Investment : PRI) ได้จัดตั้งกลุ่มการร่วมทำงานระดับภาคี (Signatory Participation Group) เพื่อประสานงานและพัฒนาแนวทางการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการรับมือสถานการณ์ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ในระยะสั้น และกลุ่มการปรับวางระบบด้วยการให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

ในกลุ่มแรก เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ด้านวิกฤตสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และประเด็นด้านสุขภาพจิต

ในกลุ่มที่สอง เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบการเงินอนาคตที่พร้อมรับภัยคุกคามทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG และให้ลำดับความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก

สำหรับแนวทางการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ Investor Response Guidance on COVID-19 ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดทำขึ้น ประกอบด้วย 7 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่ 1 : สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน หรือดูแลความมั่นคงทางการเงินของกิจการ และบริษัทซึ่งยังคงให้ลำดับความสำคัญที่ค่าตอบแทนผู้บริหาร หรือผลตอบแทนระยะสั้นแก่ผู้ถือหุ้น วิธีที่บริษัทใช้ในการจัดการวิกฤตโควิด จะส่งผลไม่เพียงแต่มูลค่าและงบการเงินของกิจการ บริษัทที่จำกัดสิทธิลาป่วย (โดยได้รับค่าจ้าง) อย่างไม่เป็นธรรม ปลดพนักงานก่อนเหตุจำเป็น หรือทั้งที่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือจากรัฐ หรือไม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย กำลังก่อความเสียหายโดยตรงและทันทีต่อบุคลากร ต่อเศรษฐกิจ และต่อผู้ลงทุน รวมถึงทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเนิ่นช้าลงในท้ายที่สุด

ส่วนบริษัทที่ให้ลำดับความสำคัญต่อการจัดการทุนด้านมนุษย์ จะช่วยหลีกเลี่ยงความเสียหายมิให้ขยายวงเพิ่มเติมและเสริมหนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

ยังไม่ถึงขวบปีที่ภาคธุรกิจ (โดยกลุ่ม Business Roundtable) มีการประกาศครั้งใหญ่ที่จะผละจากความสำคัญที่มีต่อผู้ถือหุ้นเป็นลำดับแรก วิกฤตครั้งนี้ถือโอกาสเฉพาะสำหรับบริษัทในการเร่งลงมือปรับบทบาทที่มีต่อพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และชุมชน ให้มีลำดับความสำคัญเหนือความต้องการระยะสั้นของผู้ถือหุ้น

เอกสารใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) จะช่วยให้ผู้ลงทุนทราบแนวทางปฏิบัติที่ดีของกิจการในการรับมือกับวิกฤตโควิด ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรใช้ข้อมูลจากการรายงานของสื่อ แหล่งข้อมูลจากภาคประชาสังคม และผู้ให้บริการข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ที่เน้นเปิดเผยข้อพิพาท/ข้อเล่าลือที่เกิดขึ้น เพื่อระบุถึงวิธีปฏิบัติที่ต่ำเกณฑ์ และยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องผ่านการสานสัมพันธ์ ถ้อยแถลงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี หรือการแสดงออกเชิงรุกด้วยการออกเสียงค้านคณะกรรมการบริษัท การออกเสียงไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจง หรือเรียกให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในกรณีร้ายแรง เป็นต้น แต่หากเป็นวิธีปฏิบัติที่ดี ก็ควรได้รับคำชมเชย อาทิ บริษัทที่ปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิม มาผลิตสิ่งที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์ เช่น เครื่องช่วยหายใจทางการแพทย์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ฯลฯ

ผู้ลงทุนควรผลักดันให้มีการจัดการด้านการเงินที่รับผิดชอบ ซึ่งเอื้อให้บริษัทดำเนินการจัดลำดับความสำคัญกับพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และสุขภาวะของบริษัทในระยะยาว มากกว่าโบนัสของฝ่ายบริหาร การซื้อ (หุ้น) คืน และเงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้น

Checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการ

-สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือดูแลความมั่นคงทางการเงินของกิจการ

-ใช้ข้อมูล ESG จากแหล่งภายนอกที่น่าเชื่อถือ เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ต่ำกว่าเกณฑ์

-ผลักดันให้มีการจัดการด้านการเงินที่รับผิดชอบ ซึ่งเอื้อให้บริษัทดำเนินการจัดลำดับความสำคัญกับพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และสุขภาวะของบริษัทในระยะยาว

แนวทางที่ 2 : สานสัมพันธ์ในจุดที่ภัยอื่นถูกปกปิด ทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือทำให้เลวร้ายลงด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้น

ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทและรัฐบาลที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือในจุดที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอุปทานและอุปสงค์ และห่วงโซ่อุปทาน ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น นอกจากนั้น ผู้ลงทุนควรจับตาดูกรณีที่บริษัทและรัฐบาลฉวยโอกาสในการตัดสินใจหรือประกาศในเรื่องที่โดยปกติต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ ในช่วงสถานการณ์ที่สาธารณชนและสื่อกำลังให้ความสนใจกับการรับมือโรคโควิด-19

ผู้ลงทุนควรประเมินความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์-อุปทานที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น อาทิ ความต้องการเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการทำลายป่าที่เกี่ยวโยงกับสายอุปทานถั่วเหลือง ปศุสัตว์ และน้ำมันปาล์ม หรือการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าที่ส่งถึงบ้าน (กับประเด็นข้อกังวลด้านความปลอดภัยต่อการปนเปื้อนเชื้อโควิดในระหว่างทาง) ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้การทำงานในคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการส่งพัสดุ มีสภาพเลวร้ายลงกว่าเดิม

ข้อมูลที่เปิดเผยจากบริษัท รายงานจากสื่อ และจากผู้ให้บริการข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ที่เน้นเปิดเผยข้อพิพาท/ข้อเล่าลือที่เกิดขึ้น สามารถใช้เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและยกขึ้นเป็นข้อกังวลได้

Checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการ

-สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือฉวยโอกาสตัดสินใจหรือประกาศในเรื่องที่โดยปกติต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ

-ประเมินความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์-อุปทานที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทที่ลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว