คิดแบบ “โฟร์โนล็อค” กลวิธีค้นหาศิลปินด้วย “Passion”

โฟร์โนล็อค
อนุวัติ วิเชียรณรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด (4NOLOGUE)

ผ่านร้อนผ่านหนาว ขาดทุนเป็นหนี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้ภาคธุรกิจต้องปิดกิจการ แต่ไม่ใช่บริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด (4NOLOGUE) ในฐานะผู้นำในธุรกิจบันเทิงครบวงจร เพราะถ้าดูจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงเดี๋ยวนี้ ต้องยอมรับว่า “โฟร์โนล็อค” ได้พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพเพื่อตั้งรับ และปรับตัวอย่างสมดุล

“อนุวัติ วิเชียรณรัตน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด (4NOLOGUE) กล่าวถึงทิศทางธุรกิจบันเทิงนับต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหา “ศิลปิน” และ “ทีมงาน” เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจที่โฟร์โนล็อคประกาศลุยธุรกิจเพลงอย่างเต็มตัว

“สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถือว่าหนักเอาการอยู่ แต่ผ่านมาได้ เพราะการปรับตัว ที่สำคัญเราใช้บทเรียนในอดีตเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กร”

“อนุวัติ” เล่าให้ฟังถึงการก้าวข้ามวิกฤตในช่วงผ่านมา โดยใช้ประสบการณ์ในอดีตเป็นกรอบในการทำงาน เพราะบริษัทมีกันสำรองเงินสดไว้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวิกฤตก็ตาม อีกทั้งพนักงานที่มีกว่า 100 คน ต่างยอมรับถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจปัญหา

พวกเราร่วมมือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือชะลอการใช้เงินลงทุนในบางเรื่องออกไปก่อน อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานด้วยว่าไม่มีนโยบายลดเงินเดือน หรือลดจำนวนพนักงานแน่นอน ส่วนการทำงานในบางฝ่ายก็อนุญาตให้ทำงานอยู่ที่บ้านได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางของพนักงาน

การทำธุรกิจกว่า 14 ปีที่ผ่านมา “อนุวัติ” ให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะของตลาด ปัจจัยอื่นที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาส่งผลกระทบ และลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ปัจจุบันโฟร์โนล็อคทำธุรกิจบันเทิงครบวงจรตั้งแต่ธุรกิจจัดอีเวนต์ ทั้งคอนเสิร์ตไทย คอนเสิร์ตเกาหลี ธุรกิจเอเยนซี่ธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และค่ายเพลง

“หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากโปรเจ็กต์นำร่อง เราจึงใช้ประสบการณ์มาตกผลึกจนเป็นหลักสูตรพัฒนาศิลปิน รวมกว่า 50,000 ชั่วโมง ครอบคลุมทักษะการร้อง การเต้น และการแสดงภายใต้วงไนน์บายนาย (9X9) ที่รวมเด็กฝึกที่มีความฝันอยากเป็นนักร้อง 18 คน

ประกอบด้วย เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ, เติร์ด-ลภัส งามเชวง, กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง, ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร, แจ๊กกี้-จักริน กังวานเกียรติชัย, ปอร์เช่-ศิวกร อดุลสุทธิกุล, ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต, เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม และริว-วชิรวิชญ์ อรัญธนวงศ์ เมื่อโปรเจ็กต์นี้จบลงโฟร์โนล็อคก็จะพัฒนาวงทรินิตี้ (TRINITY) ซึ่งสมาชิกวงก็มาจากวงไนน์บายนาย ประกอบด้วย เจมส์-ธีระดนย์, เติร์ด-ลภัส, ปอร์เช่-ศิวกร และแจ๊กกี้-จักริน”

“อนุวัติ” บอกเหตุผลที่มาทำธุรกิจเพลงอย่างจริงจัง เพราะว่า 1) เห็นสัญญาณของวงการเพลงไทยเริ่มขยับตัวของค่ายใหญ่ 2) เริ่มมีความร่วมมือระหว่างค่ายเพลง (partner) ในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น และ 3) คนฟังเพลงสามารถวิเคราะห์เนื้อหาสาระของเพลงและดนตรี หรือแม้แต่แคแร็กเตอร์ของศิลปินเป็นอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนฟังเพลงในยุคนี้ไม่ใช่แค่ฟังอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ทั้งศิลปิน และแฟนคลับมีความ “ผูกพัน” ต่อกัน เพื่อให้เห็นเส้นทางของความพยายาม การฝึกที่หนักหน่วง มีทั้งช่วงหัวเราะ ร้องไห้กว่าที่เด็กฝึก 1 คนจะได้เดบิวต์เป็นศิลปินอย่างเป็นทางการ

“เราอาจจะทำรูปแบบเชิง reality ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และต้องยอมรับว่าการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เหล่าบรรดาแฟนคลับมีช่องทางในการติดตามศิลปินที่ชื่นชอบได้หลากหลายมากขึ้น ทำให้ศิลปินกับแฟนคลับใกล้ชิดกันมากขึ้น”

“ประเด็นนี้สำคัญ และเป็นโจทย์ที่ค่ายเพลงต้องทำให้ได้พอ ๆ กับการคัดสรรศิลปิน เพราะแม้แต่ศิลปินเกาหลีเองก็พยายามทลายโจทย์นี้ด้วยงานแฟนซายน์ หรือการแจกลายเซ็นให้กับแฟนคลับ รวมไปจนถึงการจัดงานแฟนมีตติ้งที่ได้รับความนิยมในช่วงผ่านมา เพราะทั้งศิลปิน และแฟนคลับมีโอกาสทำกิจกรรมสนุก ๆ เพื่อเป็นความทรงจำดี ๆ ร่วมกัน”

ในเดือนธันวาคม 2563 โฟร์โนล็อคเตรียมเขย่าวงการเพลงไทยอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวศิลปินใหม่ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป และศิลปินเดี่ยว รวม 19 คนที่ได้ผ่านหลักสูตรพัฒนาศิลปินมาแล้ว

“อนุวัติ” บอกว่า 19 คนนี้ คือศิลปินในแบบที่โฟร์โนล็อคต้องการ มีความชัดเจนของ “แคแร็กเตอร์” มีความมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างจริงจัง ตั้งใจ เพราะคนที่มีลักษณะแบบนี้จะมีเสน่ห์เฉพาะตัว แค่ยืนเฉย ๆ ยังมองไม่เบื่อ

“ดังนั้น ตลอดช่วง 3 ปีผ่านมาโฟร์โนล็อคเปิดออดิชั่นเพื่อค้นหาศิลปินอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละรอบมีผู้สนใจเข้ามาสมัครออดิชั่นราว 3,000-3,500 คนต่อครั้ง บางรอบไม่ได้เด็กเข้ามาฝึกก็มี นอกเหนือจากการเปิดออดิชั่นแล้ว ยังใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการคัดเลือกว่าที่ศิลปินของค่ายอีกด้วย”

“โฟร์โนล็อคมีทีมโซเชียลมีเดีย เพื่อสำรวจผู้กดติดตามโฟร์โนล็อคในช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ทีมงานจะเข้าไปดูการใช้ชีวิตทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ และเป้าหมายในชีวิตของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร ถ้าเขาน่าจะพัฒนาเป็นศิลปินได้ จะติดต่อให้เข้ามาคุย”

“และหากตกลงกันได้ตามเงื่อนไขของโฟร์โนล็อค จะต้องเข้าฝึกฝนตามหลักสูตรของเรารวมกว่า 50,000 ชั่วโมง ส่วนการฝึกจะมีการประเมินทุก 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ในช่วงเริ่มต้นบางคนอาจจะฝึกแค่ 3-6 เดือนแล้วไม่มีพัฒนาการก็หลุดจากการเป็นเด็กฝึกได้แต่หากรู้สึกว่าเก่งขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น ในอนาคตถ้าเก่งมากขึ้น และเป้าหมายของชีวิตยังไม่เปลี่ยน ก็เข้ามาออดิชั่นใหม่ได้”

เมื่อจะทำค่ายเพลงอย่างจริงจังแล้ว “อนุวัติ” บอกว่า จะต้องหาคนร่วมงานอีกราว 20-30 คน จากปัจจุบันที่มีพนักงานในบริษัทราว 100 คนแล้วก็ตาม โดยพนักงานในแบบโฟร์โนล็อคนอกเหนือจากความสามารถในการทำงานทั่วไปที่ทุกองค์กรต้องการแล้ว จะต้องมี passion เหมือนกัน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนอย่างมีพลัง

นอกจากนี้ โฟร์โนล็อคยังเตรียมพัฒนาคนทำงานทั้งพนักงานเก่า และพนักงานใหม่ ให้ทำงานได้มากกว่า 1 ประเภท เพราะธุรกิจของโฟร์โนล็อคต่อจากนี้ไปจะมีความหลากหลาย ฉะนั้น พนักงานอาจจะต้องพัฒนาทักษะด้านอื่นให้กับตัวเองด้วย

“เพราะทิศทางธุรกิจบันเทิงต่อจากนี้อาจมีความเสี่ยง โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิง ผมมองว่าเป็นเรื่องของ emotional product ที่ต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญคือ 4NOLOGUE ไม่ใช้เกณฑ์ธุรกิจมาเป็นตัวตั้ง เพราะถ้ามีทัศนคติแบบนั้น ไม่มีทางจะปั้นศิลปินใหม่ได้”

“อีกทั้งการพัฒนาศิลปินจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ผมจึงปักธงเลยว่าการพัฒนาศิลปินคนนี้เพื่ออะไร สำหรับเป้าหมายของโฟร์โนล็อคชัดเจนอยู่แล้วว่าศิลปินจะต้องได้ขึ้นคอนเสิร์ตบนอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานีให้ได้ เพราะเราจองอิมแพ็ค อารีน่า สำหรับจัดคอนเสิร์ตใหญ่ให้กับไนน์บายนายล่วงหน้าถึง 3 ปี”

“พอเราปักธงไปแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนกำลังจะออกรบ ทุบหม้อข้าวทิ้ง ถ้าแพ้ก็ตายคาสนามรบไป ที่สำคัญตอนนั้นสมาชิกของวงไนน์บายนายยังไม่ครบ 9 คนด้วยซ้ำ แต่เมื่อทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ทั้งทีมงาน และศิลปิน ทำให้ไนน์บายนายได้ขึ้นคอนเสิร์ตที่อิมแพ็ค อารีน่า ในที่สุด ศิลปินเกาหลีมาขึ้นคอนเสิร์ตที่ไทยก็เต็มฮอลล์ แต่ตอนนี้ถึงคราวศิลปินไทยบ้างแล้วที่จะได้ขึ้นเวทีใหญ่ที่จุคนดูได้กว่า 12,000 ที่นั่ง”


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อาจได้เห็นภาพของความคึกคักของอุตสาหกรรมเพลงไทยแล้ว อยากให้แต่ละค่ายให้น้ำหนักไปที่ “คุณภาพของศิลปิน” ต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก มีทีมงานที่ดีที่สามารถดึงความเป็นตัวตนของศิลปินแต่ละคนออกมาให้โดนใจคนฟังให้ได้ภายใต้มาตรฐานที่เทียบเท่าสากล เพราะครั้งนี้โฟร์โนล็อคเองก็ได้วางเป้าหมายที่อยากเห็นศิลปินไทยเป็นที่ยอมรับ และได้ขึ้นเวทีระดับโลกในอนาคต