รมว.แรงงาน วาง 4 แนวทางช่วยผู้ประกันตนมีเงินใช้ก่อนวัยเกษียณ

สุชาติ ชมกลิ่น

“สุชาติ ชมกลิ่น” เผย 4 แนวทางช่วยผู้ประกันตนให้มีเงินใช้ก่อนวัยเกษียณ ได้แก่ ให้เงินล่วงหน้า 30%, ช่วยค้ำกรณีขอกู้เงินกับแบงก์, ได้เงินบำเหน็จก่อนอายุ 55 ปี และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

วันนี้ (4 ก.พ. 2564) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขึ้นเวทีสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ที่จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พูดถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 และแรงงานไทยในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงแผนในอนาคตเกี่ยวกับช่วยเหลือผู้ประกันตนผ่านเงินกองทุนชราภาพ

รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแผนงานในอนาคตว่า เงินกองทุนชราภาพจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผู้ประกันตนที่โดนผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จนอาจทำให้ตกงาน หรือขาดรายได้ เพื่อให้มีเงินใช้ประคองชีวิต

กระทรวงแรงงานได้มองถึงทางเลือก 4 แนวทาง ได้แก่ 1.ผู้ประกันตนสามารถนำเงินออกมาใช้ล่วงหน้าได้ 30% ก่อนถึงวัยเกษียณอายุ (55 ปี) ส่วนเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จที่จะได้รับตอนวัยเกษียณอายุก็จะลดลง แต่ทั้งนี้การนำเงินกองทุนชราภาพมาแจก 30% ล่วงหน้า มีข้อที่น่ากังวลอยู่ตรงที่ต้องใช้เงินออกมาราว 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินของประเทศไทย

แนวทางที่ 2 เป็นการช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ประกันตนไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ด้วยการที่กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ค้ำประกันให้ผู้ประกันตนกรณีไปขอกู้เงินกับธนาคารแบบเต็มจำนวน เป็นการสร้างความมั่นใจให้ทางธนาคารว่ามีฝ่ายที่รับผิดชอบถ้าผู้กู้ผิดสัญญา ซึ่งจะทำให้การปล่อยกู้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกันตนได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ต่ำ และแนวทางที่ 3 คือ ผู้ประกันตนสามารถนำเงินบำเหน็จออกมาใช้ก่อนอายุ 55 ปี

“แต่สิ่งที่กระทรวงแรงงานต้องทำเป็นอันดับแรกคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพราะตอนนี้ยังไม่ได้ให้ผู้ประกันตนนำเงินออกมาใช้ก่อนได้ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์กฎหมาย นำเข้าขั้นตอนการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี และนำเข้าสภา โดยจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม สอดคล้องกับแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรีที่เคยสั่งการว่า หากกฎหมายของกรมและกระทรวงใดล้าสมัยให้แก้ไขสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”


อย่างไรก็ตาม รมว.แรงงาน กำลังคิดหาทางลัด ซึ่งเป็นแนวทางที่ 4 ที่จะทำให้มาตรการช่วยเหลือคนไทยผ่านเงินกองทุนชราภาพเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ด้วยการทำเรื่องคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็นชอบอนุญาตให้กองทุนประกันสังคมเอาเงินส่วนหนึ่งมาปล่อยเงินกู้กับผู้ประกันตนเองในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมากได้