เชฟรอน-จุฬา วิจัยสำเร็จ ฝึกสุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด แม่นยำ 94.8%

เชฟรอน-จุฬา วิจัยสำเร็จ ฝึกสุนัขดมกลิ่นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่แสดงอาการ แม่นยำ 94.8% สร้างต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่องานทางการแพทย์ ครั้งแรกในประเทศไทย

“บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด” จับมือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ประกาศความสำเร็จในการฝึกสุนัขดมกลิ่น คัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายใต้โครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ (K9 Dogs Sniff COVID-19)” ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ จำนวน 6 ตัว โดยได้พัฒนาทักษะของสุนัขดมกลิ่นให้สามารถตรวจสอบและจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการออกจากกลุ่มคนปกติ ได้ผลแม่นยำถึง 94.8% นับเป็นการสร้างต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่องานทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 นำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้ดำเนินการค้นคว้าวิจัย ออกแบบการทดลอง และทดสอบความแม่นยำของสุนัข โดยได้รับทุนสนับสนุนจากเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,085,600 บาท และมีบริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด (PQA Associates Ltd.) เป็นผู้ดำเนินการภาคสนามด้านการเตรียมตัวและฝึกสุนัข ด้วยการสนับสนุนด้านการฝึกสุนัขจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43

ศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์

“ศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์” คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การตรวจคัดกรองผู้เดินทางในพื้นที่สาธารณะ และในสนามบินด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิมีข้อจำกัด เพราะไม่สามารถแยกผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะอาการไข้ได้ จึงมีแนวคิดที่จะใช้ศักยภาพของจมูกสุนัข ซึ่งมีเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นมากกว่า 300 ล้านเซลล์ มากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า สามารถระบุสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย จากเหงื่อของผู้ป่วยที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ

“ในระยะแรกของการฝึกสุนัข จะให้สุนัขจดจำกลิ่นเหงื่อใต้รักแร้ที่ดูดซับโดยแท่งสำลี และกลิ่นเหงื่อจากถุงเท้าของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และคนปกติที่ได้รับการยืนยันผลตรวจด้วยวิธี RT-PCR แล้ว ซึ่งเรามีทีมแพทย์และสัตวแพทย์ดูแลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ถึงแม้ว่าในเหงื่อจะไม่มีเชื้อไวรัส ทางคณะผู้วิจัยได้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาในเหงื่อด้วยวิธีตามเกณฑ์มาตรฐานสากล”

จากผลการทดสอบสุนัขทั้ง 6 ตัว ก่อนออกไปปฏิบัติงานจริงพบว่า มีความไวในการตรวจหาตัวอย่างบวก (sensitivity) หรือการดมกลิ่นตัวอย่างที่มีผลบวกได้ถูกต้องเฉลี่ย 97.6% และความจำเพาะในการดมกลิ่น (specificity) หรือการดมกลิ่นตัวอย่างที่มีผลลบได้ถูกต้องเฉลี่ย 82.2% ทำให้ได้ค่าความแม่นยำ (accuracy) สูงถึง 94.8%

ใกล้เคียงกับผลการวิจัยในประเทศเยอรมัน ที่พบว่าสุนัขมีความแม่นยำในการจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 94% นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดตรวจมาตรฐานโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังพบว่า สุนัขของเรามีค่าความไวสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับทีมงานทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมผลักดันให้ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้น ถือเป็นทีมวิจัยกลุ่มแรกและสุนัขต้นแบบกลุ่มแรกของประเทศไทยที่สามารถปฏิบัติงานทางด้านการแพทย์ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ทางคณะกำลังเตรียมนำผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการทั่วโลก

“ศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.เกวลี” กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนการวิจัยครั้งนี้ได้ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันว่าการวิจัยครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่และสุนัข โดยสุนัขได้รับการฝึกเพื่องานในโครงการนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ผลงานวิจัยสามารถนำไปต่อยอดการปฏิบัติงานได้จริง โดยเพิ่มเติมการออกแบบเพื่อใช้ในพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีขนาดใหญ่

ด้าน “กิ่งกาน แก้วฝั้น” ผู้จัดการโครงการ บริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด (PQA Associates Ltd.) ในฐานะผู้ดำเนินการภาคสนามด้านการเตรียมตัวและฝึกสุนัข กล่าวว่า ทางบริษัทได้คัดเลือกสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์จำนวน 6 ตัว ที่ยังไม่เคยผ่านการฝึกใด ๆ เพื่อนำมาฝึกฝนในโครงการวิจัยนี้

กิ่งกาน แก้วฝั้น

เนื่องจากสุนัขพันธุ์นี้มีลักษณะนิสัยที่เป็นมิตร เข้ากับคนง่าย อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ที่มีโพรงจมูกยาว ทำให้มีประสาทการดมกลิ่นที่ดี สำหรับการฝึกนั้นจะใช้โมเดลเดียวกับการฝึกดมสารเสพติด โดยทางบริษัท PQA ได้รับการอนุเคราะห์และสนับสนุนครูฝึกจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ในการฝึกอบรมสุนัขร่วมกับครูฝึกของ PQA

“ได้ใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนสุนัขรวม 6 เดือน ซึ่งระยะแรกจะเป็นการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งพื้นฐาน เพราะต้องให้สุนัขมีระเบียบวินัยก่อนเริ่มการฝึกดมกลิ่นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นจึงใช้เทคนิคเฉพาะซึ่งมีสองอย่าง คือ เทคนิคสลับตัวอย่างกลิ่นเหงื่อ และเทคนิคความแม่นยำในการจดจำกลิ่นเหงื่อของผู้ป่วย โดยนำแท่งสำลีซับเหงื่อของทั้งผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และเหงื่อของคนปกติ ไปบรรจุในขวดแก้ว หลังจากนั้นจึงนำไปติดตั้งบนอุปกรณ์วงเวียนแบบ 6 ขาและแบบ 1 ขา เพื่อใช้ทดสอบสุนัข เมื่อสุนัขได้กลิ่นเหงื่อของผู้ป่วยโควิด-19 สุนัขจะนั่งลงทันที”

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้สนับสนุนหลักของโครงการวิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ กว่า 60 แห่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยงบประมาณกว่า 13 ล้านบาท ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการเสริมศักยภาพการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค ที่ยังคงอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวัง โดยโครงการวิจัยการใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเชฟรอน ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้โครงการฯประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“ภายหลังจากนี้ ทางบริษัทจะดำเนินการในระยะที่ 2 คือการนำสุนัขไปปฏิบัติงานจริงในภาคสนาม โดยทดสอบให้สุนัขดมกลิ่นเพื่อคัดกรองพนักงานของเชฟรอน ที่จะเดินทางไปปฎิบัติงานนอกชายฝั่ง ณ จุดคัดกรองที่จังหวัดสงขลาต่อไป เราเชื่อมั่นว่าความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ จะช่วยให้เรามีเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือโรคโควิด-19 เชิงรุก ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงช่วยลดอัตราเสี่ยงในการแพร่ระบาดไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง”

สามารถนำมาใช้ร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ อันเป็นการเพิ่มศักยภาพในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะ ณ จุดคัดกรองโรคในพื้นที่สาธารณะ และที่สำคัญ งานวิจัยนี้จะเป็นชุดความรู้ที่มีคุณค่า และเป็นต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่องานทางการแพทย์ชุดแรกในประเทศไทย ที่หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถนำไปต่อยอดใช้งานเพื่อตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ในมนุษย์ต่อไป”

ทางการแพทย์ได้มีการใช้สุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาโรคมาแล้วหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคมาลาเรีย โรคลมหลับ โรคไมเกรน อาการชัก รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส สำหรับการใช้สุนัขดมกลิ่นในการตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19 นั้นมีการใช้จริงภายในสนามบินต่างประเทศมาแล้วหลายแห่ง อาทิ ฟินแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย