“พลัสเอ็ดดูเซ็นเตอร์” ธุรกิจกวดวิชา-โตสวนกระแสโควิด

คุณาธิป รัศมีจันทร์
คุณาธิป รัศมีจันทร์ กรรมการผู้จัดการ โรงเรียนกวดวิชาพลัสเอ็ดดูเซ็นเตอร์ (Pluseducenter)

ช่วง 5 ปีก่อนธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาแข่งขันอย่างรุนแรง เพราะจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยลง กอปรกับนักเรียนส่วนใหญ่ชอบเรียนสดกับอาจารย์ชื่อดัง ทั้งผ่านมามีการขยายของโรงเรียนกวดวิชาใหม่ ๆ มากขึ้น จนกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของตลาดกวดวิชา

แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2563 รวมถึงการระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสาคร ยิ่งส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับธุรกิจกวดวิชาออนไลน์มากขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “คุณาธิป รัศมีจันทร์” กรรมการผู้จัดการ โรงเรียนกวดวิชาพลัสเอ็ดดูเซ็นเตอร์ (Pluseducenter) ที่ฮอตที่สุดในกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาออนไลน์ขณะนี้

จากธุรกิจซอฟต์แวร์สู่กวดวิชา

“พลัสเอ็ดดูเซ็นเตอร์” จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2560 มาจากธุรกิจด้าน sofeware ให้กับโรงเรียนกวดวิชาดังมาก่อน “คุณาธิป” เล่าถึง “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของเขาและทีมว่า เกิดคำถามขึ้นในหัวว่า ในเมื่อเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้วทำไมไม่ทำเอง หลังจากนั้นจึงร่วมมือกับทีมจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชาด้วยการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100% ซึ่งเริ่มจากการลงทุนที่ศูนย์บาท เนื่องจากระบบซอฟต์แวร์คุณภาพมีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนผ่านออนไลน์แม้จะเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงกังวลว่า “คอนเทนต์จะหลุด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งติวเตอร์ที่มี “มูลค่าสูง” หากหลุดไปแล้วจะเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

“คุณาธิป” บอกอีกว่า เมื่อมีระบบซอฟต์แวร์ที่ดี สามารถป้องกันเนื้อหาไม่ให้หลุดได้ง่าย ๆ แล้วนั้น ทำให้ติวเตอร์ดัง ๆ สนใจที่จะเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในติวเตอร์กับ Pluseducenter และติวเตอร์บางรายทำสัญญาต่อเนื่องยาวถึง 10 ปีก็มีแล้ว ปัจจุบัน Pluseducenter มีติวเตอร์หลากหลาย

เช่น ติวเตอร์สายคณิตศาสตร์ (อาจารย์อรรณพ สุขธำรง) สายภาษาไทย (อาจารย์กิจมาโนชย์ โรจนทรัพย์) สายสังคม (อาจารย์ชัย ลาภเพิ่มทวี) สายเตรียมความพร้อมเข้าสอบทุกสนาม กับอาจารย์ภูมิ เสริมสรรพสุข (ครูเบิร์ด) สายฟิสิกส์ (อาจารย์พิสิฏฐ์ วัฒนผดุงศักดิ์) ด้านเคมี (อาจารย์สำราญ พฤกษ์สุนทร) สายเคมี (ดร.มูฮำหมัด นิยมเดชา) และสายวิทยาศาสตร์ (อาจารย์ธนากร แผลงเดช) เป็นต้น

ฐานลูกค้าพุ่ง 2 หมื่น Accout

อาจารย์มีชื่อที่เข้ามาร่วมเป็น partner ด้วยเหตุผลที่ว่า ความน่าเชื่อถือของเราในเรื่องของระบบซอฟต์แวร์ และที่อยู่กันได้นานคือตัวตนในการทำงานของ Pluseducenter นั่นคือการทำธุรกิจที่ “ไม่เอาเปรียบใคร” และช่วยเหลืออาจารย์ในทุกเรื่องที่จะช่วยได้ เพื่อให้อาจารย์ทำคอนเทนต์ออกมาดี ๆ

ส่วนที่เหลือคือหน้าที่ของ Pluseducenter ในการทำประชาสัมพันธ์ งานการขาย และงานหลังการขาย รวมถึงการให้บริการที่มากกว่า เช่น การอำนวยความสะดวกในด้านอื่น ๆ เช่น กรณีคอมพิวเตอร์ของลูกค้ามีปัญหาการลงโปรแกรมวินโดวส์ ฯลฯ ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้าซื้อสินค้าเรา และยังมีโอกาสได้ไปต่อโดยที่ไม่ต้องหาพนักงานเพิ่ม

สภาพธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาของ Pluseducenter ขณะนี้ “คุณาธิป” บอกว่า ยังสามารถเติบโตในธุรกิจต่อเนื่องแต่อาจจะไม่หวือหวามากนัก เนื่องจาก

1) ผู้เล่นในตลาดยังน้อย

2) มีติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงและคุณภาพเข้ามาร่วมงานด้วยจำนวนมาก

และ 3) สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลายเป็น “ไฟต์บังคับ” ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนเลือกที่จะเรียนกวดวิชาผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น แม้กระทั่งโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่ที่เคยประกาศว่าเรียนออนไลน์ “ไม่ใช่ทาง”

ล่าสุดเริ่มการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์กันเกือบทั้งหมดแล้ว จำนวนฐานลูกค้าเป็นแบบปีต่อปีต่อเนื่อง รวม 22,000 accout และใน 1 accout ก็ยังเรียนมากกว่า 1 วิชา และใน 1 รายวิชาก็อาจจะมีหลายคอร์ส สำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนของ Pluseducenter บรรดาติวเตอร์จะเป็นผู้กำหนด และราคาต้อง “เท่ากันทั้งหมด” เพราะเมื่อเป็นการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ มันจะมี 2 มุมคือ มุมของผู้ปกครองที่มักจะมองว่าในเมื่อเรียนผ่านระบบออนไลน์ก็ควรลดค่าเรียน แต่อาจจะยังไม่ได้มองถึงเรื่องการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ที่โรงเรียนต้องลงทุนเพิ่ม

“โรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่เขาทานกระแสของผู้ปกครองไม่ไหว และเพื่อรักษาตลาดเอาไว้ให้ได้ จึงเริ่มเปิดในบางรายวิชา ส่วนใหญ่จ่ายค่าเรียนหมดแล้วแต่เรียนสดไม่ได้ จึงต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ เอาวิดีโอที่ทำไว้แล้วขึ้นจอสอนเด็ก แต่พอกลับมาระบาดระลอกใหม่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้ไม่มีใครที่ไม่ทำ อีกทั้งมีผู้ปกครองบางส่วนไม่ต้องการให้นักเรียนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ยังไม่นับการเดินทางมาเรียนสดที่ศูนย์ต่าง ๆ ท่ามกลางรถติด โดยเฉพาะใน กทม.”

ยอดขายปี’64 แตะ 40 ล.

“คุณาธิป” บอกอีกว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา Pluseducenter อาจจะไม่ได้ขยายตัวแบบก้าวกระโดด จะมีหรือไม่มีการระบาดของโควิด-19 ก็ยังเดินหน้า ธุรกิจอยู่ ที่สำคัญคือ “ไม่ขาดทุน” อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวราว 10-15% อยู่แล้ว โดยในปีแรกนั้นทำยอดขายอยู่ที่ 11 ล้านบาท ปีถัดมาอยู่ที่ 16 ล้านบาท และล่าสุดในปี 2563 ที่ผ่านมา มียอดขายอยู่ที่ 40 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 นี้ จะมียอดขายใกล้เคียงกันอีกด้วย

เมื่อถามถึงติวเตอร์สุดฮอตของ Pluseducenter ที่ผู้เรียนเลือกเรียนคือ อาจารย์ลิลลี่, อันดับที่ 2 อาจารย์อรรณพ ที่มีจุดแข็งคือมีสภาพตลาดที่กว้างขวาง สอนได้ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะ “ปั้นติวเตอร์” ในสังกัดเองหรือไม่นั้น “คุณาธิป” ระบุว่า ทิศทางในธุรกิจการศึกษาของ Pluseducenter มีความชัดเจนว่า ไม่ทำในสิ่งที่ไม่เชี่ยวชาญ อีกทั้งหากปั้นติวเตอร์ขึ้นมาจนติดตลาดได้จริง ก็ไม่ได้เป็นการ “การันตี” ว่าติวเตอร์จะอยู่ร่วมงานกันไปตลอด และที่สำคัญ อาจจะไปเปิดโรงเรียนกวดวิชาแข่งกับ Pluseducenter ก็ได้ในอนาคต ฉะนั้น ไม่ทำแน่นอน

สำหรับอนาคตของ Pluseducenter ต่อจากนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่สามารถขยายธุรกิจอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงการใช้ระบบซอฟต์แวร์ได้ คือ การจัดทดลองสอบ “เสมือนจริง” ให้กับนักเรียนที่สนใจเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ซึ่งการสอบนั้นผ่านระบบออนไลน์เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักเรียนก่อนที่จะเข้าสู่สนามสอบของจริง และการจัดสอบอาจจะเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคตที่อยากพัฒนาให้เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อช่วยให้การศึกษาไทยพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่เหมาะที่จะลงทุนขยายธุรกิจ เพราะจะต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมเรื่องแผนการตลาดเข้ามาให้สอดคล้องอีกด้วย แต่เมื่อย้อนดูศักยภาพในปัจจุบันของ Pluseducenter ในวันนี้ ต้องเรียกว่า Pluseducenter อยู่ได้แล้วในธุรกิจการศึกษา