จ๊อบส์ดีบี แนะวิธีคิดเงินเดือนเพิ่มเมื่อย้ายงาน ช่วยให้มีโอกาสถูกจ้าง

จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) เว็บไซต์งานชั้นนำที่มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งในหลาย ประเทศทั้ง ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย แนะนำการคิดเงินเดือนที่จะเรียกให้เหมาะสม แบบที่คนสัมภาษณ์งานไม่ตกใจ สามารถจ่ายได้ พร้อมรับเราเข้าทำงาน และสามารถตอบได้ถึงเหตุผลของการขอเงินเดือนในอัตราที่ต้องการได้อย่างมั่นใจ

สูตรคำนวณเงินเดือนที่ควรเรียก

โดยปกติแล้วคนนิยมเรียกเงินเดือนขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ ประมาณ 10-20% ของเงินเดือนเก่า อย่างไรก็ตามควรดูฐานเงินเดือนเก่าของเรา และปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ถ้าเงินเดือนสูงหลักแสน จะขึ้นทีละ 20%-30% ก็อาจมากไป ทางที่ดีควรเริ่มจากการคิดเงินเดือนให้เป็นระบบ ตามสูตรคำนวณดังนี้

นำเงินเดือนปัจจุบันมาคูณด้วย 12 และหากมีเงินโบนัสประจำให้นำมารวมด้วย เช่น เงินเดือน 18,000 มีโบนัสประจำ 2 เดือน จะเป็น 18,000 x 14 = 252,000 บาท ซึ่งจะเท่ากับเงินเดือนทั้งปีของเรา

แต่ถ้าหากมีโบนัสที่จ่ายเป็นครั้งคราว เช่น เงินพิเศษที่ได้ตอนจบโปรเจค หรือเบี้ยเลี้ยงพิเศษอื่น ๆ เช่น แต๊ะเอียช่วงตรุษจีน หรือเงินอื่น ๆ ที่จ่ายไม่เท่ากันแต่ละครั้ง ก็ให้นำมารวมกัน แล้วหารจำนวนปีที่เราทำงานอยู่เพื่อหาค่าเฉลี่ย เช่น ทำงานมาแล้ว 3 ปี มีโบนัสพิเศษตามนี้ 10,000+20,000+20,000 = 50,000 / 3 = 16,667

แล้วเอาเงินจำนวนนี้มารวมกับเงินเดือนทั้งปีจากนั้นหารด้วย 12 เดือน 252,000 + 16,667 = 268,667 / 12 = 22,388 นี่คือเงินเดือนขั้นต่ำที่เราควรได้รับหากย้ายงานใหม่ จากนั้นเอามาบวกด้วยปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายในงานใหม่ที่เราบอกไปแล้วข้างบนดู เช่น ค่าเดินทางเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท ค่าภาษีสังคมประมาณเดือนละ 1,500 บาท จะเป็น 22,388+1,000+1,500 = 24,888 บาท ก็จะได้เป็นเงินเดือนที่เราควรเรียก

พิจารณาองค์ประกอบอื่นด้วย

เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่อาจมีเพิ่มมากขึ้นเมื่อย้ายไปทำงานที่ใหม่ และความท้าทายที่มากขึ้นอาจทำให้ไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน ดังนั้น ควรพิจารณาองค์ประกอบด้านอื่น ดังนี้

1. อัตราเงินเดือนของตำแหน่งงานนั้น ๆ

ศึกษาอัตราเงินเดือนตำแหน่งที่กำลังไปสมัครว่าอยู่ที่เท่าไหร่ในท้องตลาด อาจลองหาจากอินเตอร์เน็ต หรือเว็บไซต์หางาน หรือถามคนรู้จักที่ทำงานตำแหน่งนี้ เพื่อที่จะได้ประเมินเงินเดือนเบื้องต้นถูก

2. ประเมินค่าใช้จ่ายที่ทำงานใหม่

ลองคิดคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากต้องย้ายไปทำงานที่ใหม่ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากินค่าอยู่

บริษัทที่อยู่ในย่านธุรกิจมักมีค่าอาหารแพงกว่าบริษัทย่านชานเมือง หรือแม้แต่ค่าภาษีสังคมที่เราจะต้องจ่าย เช่น เพื่อนร่วมงานในบริษัทใหม่อาจจะมีแนวโน้มที่ชอบใช้จ่าย เพราะบริษัทมีฐานเงินเดือนสูงที่สามารถรองรับไลฟ์สไตล์ได้

ลองคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกมาเป็นรายเดือน เพราะค่าเดินทาง ค่าที่อยู่ และค่าอาหาร จัดว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็น fix cost ที่มีผลโดยตรงต่อการคิดคำนวณการขึ้นเงินเดือน

3. สวัสดิการ

นอกจากเงินเดือนแล้ว สวัสดิการก็เป็นส่วนสำคัญที่ควรเอามาพิจารณาควบคู่กัน เพราะบริษัทที่มีสวัสดิการดี เช่น ค่ารักษาพยาบาล จะช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก เพราะบางครั้งเกิดเหตุให้ต้องเข้าโรงพยาบาล อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

บางบริษัทเลือกที่จะจ่ายเงินเดือนสูง แต่มีสวัสดิการน้อย ดังนั้นลองคิดเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก่อน แล้วมาดูว่าเงินเดือนที่จะได้รับเหมาะสมหรือไม่ บางทีการย้ายไปอยู่บริษัทที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมาก แต่มีสวัสดิการที่ดีกว่าอาจจะตอบโจทย์เรามากกว่าก็ได้

4. ค่าทักษะและประสบการณ์

การทำงานมาระยะเวลาหนึ่งย่อมทำให้คนมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่มากขึ้น ดังนั้น ความสามารถส่วนนี้เป็นสิ่งที่จะเอาไปต่อรองขอขึ้นเงินเดือนขึ้นได้ อาจจะเป็นวุฒิปริญญา ใบประกาศในการฝึกอบรบหลักสูตรต่าง ๆ หรือเป็นผลที่เราเคยทำ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนคุณค่าและความสามารถได้เป็นอย่างดี แต่ควรเรียกเงินเพิ่มแต่พอดี พร้อมแสดงให้เจ้านายใหม่เห็นว่าเงินเดือนที่เรียกไปเหมาะสมกับความสามารถของเรา

5. ลักษณะงานใหม่ และความท้าทาย

ควรพิจารณาเนื้องานใหม่ที่จะย้ายไปเทียบกับอัตราเงินเดือนด้วย ถ้างานใหม่มีความท้าทายมากขึ้น และมีความเสี่ยงในการทำงาน หรือต้องใช้ความทุ่มเทในการทำงานสูง จนอาจจะกินเวลาในชีวิตมากกว่างานเก่ามาก ดังนั้น ควรนำส่วนนี้มาคิดถึงความคุ้มค่ากับเงินเดือนที่จะเรียก

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหรือความยากในงานใหม่ อาจเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เป็นโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นจึงควรคิดปัจจัยนี้อย่างรอบคอบ