บริบท CSV “ไทยประกัน” เสริมโอกาสสุขยั่งยืน “วิสาหกิจชุมชน”

วิสาหกิจชุมชนไทยประกันชีวิต1

โครงการ “ไทยประกันชีวิต เสริมโอกาส สุขยั่งยืน” เป็นโครงการที่บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ริเริ่มขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนในหลากหลายมิติ และหลายลักษณะ โดย “สอนให้ทำ นำไปใช้ได้จริง” ด้วยการจัดอบรมเวิร์กช็อปส่งเสริมการตลาด อาทิ การทำแพ็กเกจจิ้ง การจัดบูท การนำเสนอสินค้า ตลอดจนการบริหารจัดการเงิน

โดยในปี 2562 ผ่านมา นำร่องกับวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเชียงราย 19 ชุมชน และขยายขอบเขตการจัดกิจกรรมในปี 2563 จากระดับจังหวัดสู่ระดับกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีตัวแทนวิสาหกิจชุมชนจาก 23 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, สุรินทร์ และกาฬสินธุ์เข้าร่วม

และในปีนี้มีแผนขยายกิจกรรมสู่ระดับภูมิภาคใน 14 จังหวัดภาคใต้ ด้วยเป้าหมายครอบคลุมวิสาหกิจทั่วประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับซีเอสอาร์องค์กร สู่การสร้างคุณค่าธุรกิจองค์กรสู่สังคม หรือ CSV (Creating Shared Value)

“ดวงเดือน คงคาสวัสดิ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำกิจการเพื่อสังคมของไทยประกันชีวิตเริ่มทำมาแล้วอย่างน้อย 40 ปี แบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 3 ด้าน คือ การให้, การดูแลชีวิตคนไทย และการเติมเต็มคุณค่าแห่งชีวิต ซึ่งการให้นั้นส่วนใหญ่จะอยู่ใน inprocess ของบริษัท เช่น การออกกรมธรรม์พิเศษ อย่างกรมธรรม์ ภัยสงคราม ไทยประกันชีวิตทหาร หรือกรมธรรม์เพื่อคนพิการ

ดวงเดือน คงคาสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (กลาง)

ส่วนเรื่องการดูแล เพื่อให้สังคมอยู่ดีมีสุข ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องจิตอาสาของพนักงาน รวมถึงการสร้างภาพยนตร์โฆษณาก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติมเต็มการใช้ชีวิตของคนในสังคม ในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจ และกำลังจะยกระดับสู่ CSV อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเป็นโมเดลนำร่อง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การเติมเต็มคุณค่าแห่งชีวิต

“ดิฉันมองว่าวิสาหกิจชุมชนเป็นสถานประกอบการที่เกิดจากการรวมตัวของชุมชนในระดับตำบลและหมู่บ้าน มีการใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร ทุน และแรงงานจากท้องถิ่นเป็นหลักถือเป็นเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ”

ประเทศไทยมีมากกว่า 90,000 วิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกอยู่ในนั้นประมาณ 1.7 ล้านคน โดยปกติกลุ่มวิสาหกิจจะมีองค์กรภาครัฐให้การส่งเสริม แต่ด้วยความที่มีจำนวนมาก ทั้งยังกระจายหลายพื้นที่ บางกลุ่มภาครัฐก็ไม่อาจเข้าถึง

“ไทยประกันชีวิตจึงอยากเข้าไปช่วยส่งเสริม ด้วยการเพิ่มพูนขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้า ขาย และการวางแผนการเงินเพื่อให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วิสาหกิจที่เราทำงานด้วยเป็นกลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์สินค้าคุณภาพ เพราะเทรนด์สุขภาพมาแรง”

“ทั้งยังสอดคล้องกับธุรกิจของเรา ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตคน เริ่มจากหาเพนพอยต์ก่อนว่าชุมชนต้องการอะไร มีปัญหาอย่างไร ซึ่งเขามีความชำนาญในการผลิตสินค้าอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ขาดความเชี่ยวชาญในการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ออกบูทแสดงสินค้า การสื่อสาร การสร้างแบรนด์ และหลายชุมชนมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเงินที่ไม่เป็นระเบียบ”

“เราจึงชวนผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้าไปอบรมแก่ชุมชน โดยไทยประกันชีวิตจะเป็นตัวแทนอบรมเรื่องการเงิน ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่เหมือนกันเพราะหลายคนไม่ได้เก็บเงินที่เป็นระเบียบ ไม่มีทำบัญชีรายรับรายจ่ายก็ต้องช่วยให้ความรู้ตรงนี้”

“ดวงเดือน” กล่าวต่อว่า พอเราอบรมเสร็จ ก็ไม่ได้ทิ้ง แต่จะโค้ชให้ชุมชนตลอด พร้อมทั้งตั้งกลุ่มไลน์ เพื่อให้สอบถามข้อมูลได้ และในกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วย ใครเชี่ยวชาญด้านไหนก็ตอบ ที่สำคัญจะมีกลุ่มพนักงานจิตอาสาในบริษัทเข้าไปเยี่ยมเยือนวิสาหกิจในแต่ละชุมชนเสมอ เพื่อเข้าไปถามว่าหลังอบรมแล้วได้ประโยชน์อะไร ทำการค้าขายได้ไหม

“โดยผลการดำเนินงานผ่านมา นำร่องที่เชียงราย ปี 2562 เป็นการอบรมในพื้นที่ จนกระทั่งปี 2563 เริ่มอบรมให้กับวิสาหกิจภาคอีสานเป็นปีที่เรามุ่งสู่ออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ได้มีการโฟกัสไปที่ตลาดออนไลน์ด้วยการเปิดช่องทางมาร์เก็ตเพลซผ่านเฟซบุ๊ก กลุ่มชื่อตลาดสุขยั่งยืน เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านสุขภาพระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายทั่วประเทศ โดยผู้ขายต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรที่ผลิต หรือจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ”

หน้าเพจเฟสบุ๊ก กลุมสุขยั่งยืน

ยกตัวอย่างเช่น ผงกล้วยแปรรูป หรือกล้วยชงเพื่อสุขภาพ ของวิสาหกิจชุมชนมหาสารคามเป็นการนำกล้วยน้ำว้าเขียวมาปอกเปลือก สไลซ์เป็นชิ้นแว่นบาง ๆ ประมาณ 1 มิลลิเมตร นำไปตาก 2-3 วัน ก่อนนำมาบดละเอียด แพ็กกระปุกขนาด 250 กรัม ราคากระปุกละ 150 บาท สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท

ยิ่งเข้าสู่ตลาดออนไลน์รายได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทะเบียนขายสินค้าในกลุ่มเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงข้อความประกาศขายสินค้า เพื่อให้เป็นตลาดนัดออนไลน์มาตรฐาน ที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อสินค้า ซึ่งมีความคาดหวังเรื่องสุขภาพ ทั้งด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ตอนนี้มีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 14,000 ราย มีผู้ขายลงทะเบียน 680 รายแล้ว

นอกจากนี้ยังจัดทำเฟซบุ๊กเพจเสริมโอกาส สุขยั่งยืน สำหรับเผยแพร่ความรู้ เทคนิคต่าง ๆ ให้วิสาหกิจชุมชนทุกแห่งสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ตลอดเวลา

โดยเอาหัวข้อที่ใช้ในการทำงาน บรรยายทั้งหลาย มาทำเป็นคลิปวิดีโอ เนื้อหาที่ให้เขาได้มาเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น เรื่องการทำบัญชี การคิดต้นทุน ที่สำคัญยังโฟกัสเรื่องถ่ายภาพ การทำ storytelling มากขึ้น เพื่อช่วยชุมชนดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้ขายได้วิสาหกิจชุมชนไทยประกันชีวิต2

อย่างไรก็ดีถึงแม้โครงการจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นไม่นาน แต่วันนี้ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะภายหลังจากส่งโมเดลของโครงการไปประกวดในระดับนานาชาติ สามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล CSR Initiative of the Year 2020-Thailand จากการประกวด Insurance Asia Awards 2020 ประเทศสิงคโปร์

รางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2020 (AREA 2020) ประเภท Investment in People ประเทศสิงคโปร์ และรางวัล Bronze Stevie® Award 2020 ระดับ Bronze ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศสหรัฐอเมริกา”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดกระบวนการวางแผนอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องนี้ “ดวงเดือน” บอกว่า เราจะลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ เช่น หาดใหญ่, สงขลา, ตรัง เพราะเรามองเห็นว่ากลุ่มเหล่านี้มีศักยภาพ เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ตอนนี้กำลังอยู่ในการวางแผน และรอดูสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะต้องมีรูปแบบอบรมอย่างไร และจะไม่ได้จำกัดแค่ 20 ชุมชนเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะช่วงนั้นเราเลือกจำนวนจำกัด เพราะต้องการคนที่สนใจเข้ามาอบรมจริง ๆ

“แต่ครั้งนี้อยากขยายเพิ่มขึ้น รวมถึงขยายกลุ่มเป้าหมายผู้อบรมไปยังนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ จากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เป็นคนกลางในการนำองค์ความรู้ถ่ายทอดต่อให้กับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป และในอนาคตอันใกล้ยังมีแผนปรับเปลี่ยนสาขาไทยประกันชีวิตทั่วประเทศกว่า 270 แห่ง ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาชุมชนอีกด้วย ด้วยการใช้สาขาของเราเป็นพื้นที่ให้ชุมชนนำสินค้าเข้ามาขาย”

“ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ต้องปรับทั้งกระบวนการบริหารงานภายในสาขาที่ต้องตอบโจทย์ทั้งในแง่ธุรกิจไทยประกันชีวิต และตอบโจทย์เพื่อสังคมที่จะต้องพัฒนาศักยภาพพนักงานกว่า 6 หมื่นคนทั่วประเทศ ให้สามารถทำงานได้หลายอย่าง เพราะอย่างที่ทราบว่าปีนี้หลายธุรกิจไม่ได้มีกำไรมากมาย ธุรกิจของเราก็ไม่ได้เติบโตหวือหวา แต่ค่อยเป็นค่อยไป”

“เพราะเรายึดหลักว่าจะล้มไม่ได้ จะปิดสาขาที่มีเลยก็ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะเราเอาเงินลูกค้ามา จึงต้องบริหารความเสี่ยงให้เขา ปรับโมเดลหรือทำอะไรได้ก็ทำ ฉะนั้น เราต้องดูแลเงินของลูกค้าอย่างดี สิ่งหนึ่งที่เรารำลึกเสมอ และถูกบรรจุใน core value บริษัท คือคนเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด”

เมื่อถามว่าโครงการนี้เป็นโมเดลหนึ่งของ CSV มีแผนจะผุดโมเดลอื่นเพิ่มอีกหรือไม่ “ดวงเดือน” บอกว่า บริษัทอยากจะทำให้โมเดลนี้แข็งแรงก่อนที่จะขยายไปสู่โมเดลอื่น ๆ เราต้องดูว่าทำแล้วดีไหม ถ้าไม่ดี ต้องแก้ตรงไหน เพราะทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างยั่งยืน

ต้องมีการตรวจสอบตลอดเวลา คณะผู้บริหารเขาก็บอกว่าอยากจะให้วิสาหกิจชุมชนแต่ละแห่ง สามารถดำเนินธุรกิจเขาต่อไปได้อย่างยั่งยืนด้วยตนเอง ที่สำคัญเราเชื่อว่าถ้าคนในชุมชนอยู่ได้ ไทยประกันชีวิตก็อยู่ได้เช่นกัน

“เพราะพื้นฐานของเราคือคนที่เกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตทั้งนั้น ถ้าถามว่าทำไมเราไม่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เพราะว่าธุรกิจเราทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เรื่องประหยัดไฟ น้ำ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่งานเราเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเสียมากกว่า ดังนั้น เมื่อนึกถึง CSR, CSV เราจะนึกถึงคุณภาพชีวิตคนเป็นหลัก เพราะตอบโจทย์ธุรกิจเรา หรือแม้แต่ CSR ที่ทำมากว่า 20-30 ปี เรื่องรณรงค์บริจาคโลหิต อวัยวะ ก็เป็นการช่วยชีวิตคน”

“ไม่เว้นแม้แต่ภาพยนตร์ไทยประกันชีวิต เราก็ทำเรื่องชีวิตคน สะท้อนชีวิตของมวลมนุษยชาติ ให้เขารู้สึกอะไรบางอย่าง เช่น ให้คิดถึงครอบครัว คิดถึงคนที่รัก หรือเป็นแรงบันดาลใจ ก็เป็นที่ยอมระดับในระดับนานาชาติว่าในฐานะเอเชีย สามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับคนทั้งโลกได้ในที่สุด”