แผนความยั่งยืน “อิเกีย” ปี’73 แบรนด์ทั่วโลกตอบโจทย์ CE

LOKALT working process

การดำเนินธุรกิจของ “อิเกีย” (IKEA) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน นอกจากจะตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ต้องส่งมอบสินค้าที่ดีและการใช้งานในราคาที่จับต้องได้แก่ลูกค้าแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ตั้งแต่การออกแบบสินค้าโดยใช้วัสดุหมุนเวียน และวัสดุรีไซเคิล ที่สำคัญ สินค้าต้องเอื้อต่อการดัดแปลง และนำมาใช้ซ้ำใหม่ได้ เพราะอิเกียตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 สินค้าของแบรนด์ทั้งหมดจะต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy-CE)

ผ่านมาในปี 2563 อิเกียประกาศยุติการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง อาทิ หลอด, จาน, ถ้วย, ถุงแช่แข็ง, ถุงขยะบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ในสโตร์ทั่วโลก รวมทั้งพลิกโฉม “มีตบอล” เมนูยอดนิยม ด้วยการเปิดตัว “แพลนต์บอล” เมนูใหม่สูตรไร้เนื้อสัตว์ แต่ยังคงรสชาติเหมือนเดิม ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และห่วงใยสุขภาพมากขึ้นกว่าเดิม เพราะผ่านกระบวนการผลิตที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซอันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียง 4% เท่านั้น

ที่กล่าวมาเป็นแนวทางการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนชื่อ “People and Planet Positive” ที่ให้ความสำคัญด้านการใช้ชีวิตอย่างสุขภาพดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศ, การบริหาร และการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม

นอกจากนี้ ภายใต้แผนงานความยั่งยืน “อิเกีย” ยังมีภารกิจสำคัญที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องคือ การทำงานร่วมกับผู้ประกอบการทางสังคมในทุกแห่งที่มีสโตร์ของอิเกียตั้งอยู่ ผ่านโครงการ “IKEA Social Entrepreneur” โดยโครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่นจากชุมชนที่ประสบปัญหาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ลี้ภัย เป็นต้น

LOKALT

โดยผ่านการทำงานกับดีไซเนอร์ หรือนักออกแบบท้องถิ่นในการช่วยออกแบบงานหัตถกรรมของใช้ของตกแต่งภายในบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสังคม

“ลาช สเวนสัน” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนอิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก กล่าวว่าอิเกียยังคงร่วมงานกับผู้ประกอบการทางสังคมหลายประเทศ ในการว่าจ้างช่างฝีมือท้องถิ่นจากชุมชนต่าง ๆ ทำงานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ผสานความร่วมมือกับดีไซเนอร์เข้ามาช่วยออกแบบให้ผลงานหัตถกรรมของชุมชนมีความทันสมัยมากขึ้น จนกลายเป็นคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ เพื่อวางขายในสโตร์ของอิเกีย นัยหนึ่งเพื่อสร้างรายได้ และสร้างอนาคตที่ดีให้กับครอบครัวของพวกเขา

ลาช สเวนสัน
ลาช สเวนสัน ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนอิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก

ปัจจุบันอิเกียร่วมงานกับผู้ประกอบการทางสังคมกว่า 16 ประเทศ ใน 5 ภูมิภาคทั่วโลก จนถึงทุกวันนี้โครงการได้สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วโลกแล้วกว่า 30,000 งาน และมีเป้าหมายว่าในปี 2025 จะสร้างงานให้ได้ถึง 95,000 งาน

“ผมมองว่านี่ไม่ใช่การกุศล แต่คือการพัฒนาทางธุรกิจ เราต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ยืนยาวกับคู่ค้า และสนับสนุนให้มีการเติบโตไปด้วยกัน พร้อมกับเปิดทางให้ผู้ประกอบการทางสังคมสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้”

“ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดคอลเล็กชั่นใหม่ในปีนี้ชื่อว่า ลูคอลต์ (LOKALT) เป็นภาษาสวีเดน แปลว่า ท้องถิ่น ด้วยการทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ และธุรกิจเพื่อสังคมใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย, อินเดีย และจอร์แดน สำหรับคอลเล็กชั่นนี้จะมีของใช้ภายในบ้าน อาทิ ปลอกหมอน, พรม, ตะกร้า, ถ้วยชาม ฯลฯ ตามรูปแบบ และลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ”

LOKALT

“โดยมีทันยา ฮัดแดด แฟชั่นดีไซเนอร์ทำงานร่วมกับ Jordan River Foundation มาร่วมกันออกแบบผ้าคลุม และปลอกหมอนเย็บปักมือเป็นลวดลายทัศนียภาพของเมืองอัมมาน ประเทศจอร์แดน และอคานชา เดโอ นักออกแบบประจำอิเกียในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ที่ร่วมงานกับ Industree และ Diamond Carpets Female Weavers มาช่วยออกแบบปลอกหมอน, หมอนข้าง, พรม ไปจนถึงโคมไฟ และตะกร้าที่สานจากใยกล้วย”

สำหรับประเทศไทย อิเกียร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานกับชุมชนชาวเผ่าทางภาคเหนือ และถือเป็นพันธมิตรที่ยาวนานกับอิเกียนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ด้วยการร่วมงานกับ 2 ดีไซเนอร์จาก THINKK Studio เข้ามาช่วยออกแบบงานให้มีความทันสมัยมากขึ้น

“ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวเสริมว่า อิเกียถือเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่ของมูลนิธิที่เริ่มทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2550 ก่อนจะมีการเปิดสโตร์แห่งแรกในประเทศไทย ตอนนั้นมูลนิธิส่งดีไซเนอร์ไปฝึกงานกับอิเกียที่สำนักงานใหญ่ ประเทศสวีเดน เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อเตรียมออกคอลเล็กชั่นพิเศษในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่อิเกียเข้ามาเปิดสโตร์แรกในประเทศไทยพอดี

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

“ผลงานที่ช่างฝีมือดอยตุงผลิตร่วมกับดีไซเนอร์ครั้งแรกคือ ภาชนะเซรามิกสำหรับโต๊ะอาหาร เป็นการออกแบบลวดลายที่ได้มาจากเอกลักษณ์ของผลฝิ่นที่พบเจอในภาคเหนือ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก จนปัจจุบันดอยตุงกับอิเกียร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วถึง 12 คอลเล็กชั่นด้วยกัน เพราะเรามุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรในระยะยาว เนื่องจากดอยตุงเองเป็นทั้งผู้ผลิต และเจ้าของแบรนด์ ทั้งยังเป็นผู้จำหน่ายด้วย เราจึงทำงานภายใต้กระบวนการของเราเองทั้งหมด”

“บางครั้งในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี ยอดขายลดลงไปบ้าง ยิ่งถ้าเราไม่มีงานนอกเข้ามาซัพพอร์ตด้วย สุดท้ายจะส่งผลให้เราจำเป็นต้องปลดพนักงาน หรือลดเวลาจ้างงาน ซึ่งส่วนใหญ่พนักงานเหล่านี้จะเป็นชนเผ่าภาคเหนือ แต่จากการที่เรามีพาร์ตเนอร์อย่างอิเกียเข้ามา จึงช่วยทำให้เราสามารถคงสถานะในการจ้างงานต่อได้ แต่เราต้องมีการปรับตัวร่วมกันเสมอในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีผ่านมา เศรษฐกิจซบเซา อิเกียก็ยังไม่ละเลิกจะสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งยังมุ่งมั่นสนับสนุนให้เติบโตไปด้วยกัน”

“การเป็นผู้ประกอบการ หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคมโดยทั่วไป ไม่ได้มีทุนที่หนามากอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาแข่งขันกับใคร หรือกับปัจจัยอะไรก็ตาม เราอาจจะสู้แบรนด์ดัง ๆ มากไม่ได้ เราต้องใช้ฐานของผู้ที่เขามีตลาดชัดเจน มีออร์เดอร์ที่แน่นอนเข้ามาซัพพอร์ตธุรกิจของเรา และจากการที่อิเกียขยายช่องทางขายทั้งออนไลน์ และดีลิเวอรี่ ก็ถือเป็นการสร้างปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นให้กับมูลนิธิเป็นอย่างดี”

“ม.ล.ดิศปนัดดา” กล่าวต่อว่า เราเดินทางร่วมกันมากว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้น การเดินทางครั้งต่อไป ผมคิดว่าอิเกียเขาทำหน้าที่ของเขาค่อนข้างดี แล้วเขาก็เพิ่มความเข้มข้นในการทำงานกับเราทุกปี ซึ่งเราเองก็ต้องมีความพยายามมากขึ้นและพัฒนาสินค้า เพื่อจะตามกระแสหลักให้ได้ ต้องพยายามทำให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อสู้กับซัพพลายเออร์เจ้าอื่น ๆ

“ฉะนั้น ความท้าทายในอนาคตคือต้องพยายามทำงานให้ได้ตามมาตรฐาน ตามต้นทุนที่อิเกียกำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้องค์กรเดินต่อไปได้ ผมคิดว่าการร่วมมือกันเป็นหนึ่งไอเดียที่ช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจทั้งสององค์กร”

ขณะที่ “พลอยพรรณ ธีรชัย” และ “เดชา อรรจนานันท์” ผู้ก่อตั้ง THINKK Studio กล่าวร่วมกันว่า อิเกียจัดเวิร์กช็อปขึ้นที่ดอยตุง เพื่อให้ดีไซเนอร์จาก 3 ประเทศมาพูดคุยกันเป็นครั้งแรกก่อนแยกย้ายกันไปทำงาน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก สำหรับงานในคอลเล็กชั่นนี้ เพราะเราร่วมมือกับทีมช่างฝีมืองานเครื่องปั้นดินเผาจากดอยตุง ด้วยการนำเสนอชุดหัตถกรรมไทย และการจัดโต๊ะอาหารแบบไทย ๆ ที่มีวัฒนธรรมรับประทานอาหารร่วมกัน

พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ ผู้ก่อตั้ง THINKK Studio

“ทั้งยังเพิ่มความทันสมัย และฟังก์ชั่นการใช้งานเข้าไป เพื่อสะท้อนถึงงานทำมือหรือ craftmanship ด้วยการประทับรอยนิ้วมือไว้บนพื้นผิวของจาน, ชาม, แจกัน ที่สำคัญยังสะท้อนให้เห็นถึงประเพณี ธรรมเนียมความนอบน้อมในการมอบสิ่งของให้ผู้อาวุโส โดยการใช้ทั้งสองมือส่งมอบสิ่งของต่าง ๆ ด้วยการเพิ่มด้ามจับ 2 ข้างไว้บนชามเซรามิกของลูคอลต์ด้วย”


สำหรับคอลเล็กชั่นใหม่ พร้อมจะจำหน่ายในตลาด 25 แห่ง และในสโตร์อิเกีย 294 แห่งทั่วโลก ส่วนประเทศไทยเริ่มจำหน่ายมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนผ่านมาที่อิเกีย บางนา รวมถึงช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย