สธ. เตรียมใช้ Rapid Antigen Test ตรวจโควิดในสถานพยาบาล

Photo by YASSER AL-ZAYYAT / AFP

อธิบดีกรมวิทย์ เผยที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข เสนอแนวทางใช้ชุดตรวจแอนติเจน (Rapid Antigen Test) ตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นำร่องในสถานพยาบาล 300 กว่าแห่งทั่วประเทศ ก่อนอนุญาตให้คนไทยนำไปตรวจเองที่บ้าน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวประเด็น Rapid Antigen Test โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่มีผู้เข้าคิวรอตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยสถานพยาบาลบางแห่งต่อคิวยาว บางแห่งมีผู้ไปรอตรวจตั้งแต่ 4-5 ทุ่ม เพื่อรอตรวจวันรุ่งขึ้น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นโจทย์ที่ผู้บริหารได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาปรึกษาหารือกันเพื่อหาคำตอบ เกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิด

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

ซึ่งได้มีการพูดคุยกันไปหลายครั้ง โดยเฉพาะการนำชุดตรวจ Rapid Test มาใช้ตรวจหาแอนติเจน หรือการตรวจองค์ประกอบของไวรัส โดยกรมวิทย์ อย. กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค บรรดาคณาจารย์ คณะกรรมการวิชาการ ก็ได้มีการเสนอเข้าที่ประชุม ระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้มีมติเห็นชอบให้มีการใช้ชุดตรวจ
ดังกล่าวได้

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า Rapid Antigen Test เป็นชุดตรวจหาไวรัส ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจหาแอนติบอดี หรือตรวจหาภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองมีเทคนิคการตรวจต่างกัน ข้อมูลที่เรามีวันนี้ Antigen test ชนิด Rapid มีขึ้นทะเบียนในประเทศไทยทั้งหมด 24 ยี่ห้อ ทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ใช้ในลักษณะเป็น Professional use หรือใช้ในบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถนำไปตรวจเองได้

แต่สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคตข้างหน้า อาจจะพิจารณาให้นำไปตรวจเองที่บ้านได้ และทั้ง 24 ยี่ห้อนี้ ก็มีความแตกต่างในเรื่องของคุณภาพ การเก็บตัวอย่างที่ใช้ตรวจ เทคนิคการตรวจหาโปรตีนของไวรัส และการทำลายเชื้อของสารทำละลายที่ใช้ในการตรวจ

ข้อแนะนำจากที่ประชุม

สำหรับข้อแนะนำจากที่ประชุมล่าสุด สำหรับการใช้ Rapid Antigen Test คือ

1.ชุดตรวจที่เอามาใช้จะต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนกับ อย.

2.การเก็บตัวอย่างมีหลายแบบ อาจใช้ nasopharyngeal swab (การแหย่จมูก), oropharyngeal (การแหย่ช่องปากถึงคอ) หรือ nasal swab (แหย่จมูกอย่างเดียว) ตามที่ชุดตรวจกำหนด

3.ใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้น และควรได้รับการยืนยันด้วย RT-PCR อีกครั้งและทำคำแนะนำชัดเจน ทั้งการแปรผลและการแยกกักตนเอง ตามผังที่แนะนำ

4.สถานที่รับตรวจ Rapid Antigen Test ตอนนี้ยังไม่มีแนะนำให้นำไปตรวจเองที่บ้าน ต้องตรวจที่สถานบริการที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งขณะนี้มี 300 กว่าแห่งทั่วประเทศ คาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับดำเนินการ เหตุผลเพราะว่า เมื่อตรวจแล้วผลเป็นบวก จะต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR อีกครั้ง ไม่ใช่ตรวจได้ที่คลินิกทั่วไป

5.เตรียมพร้อมระบบทางการแพทย์ การจัดการกระบวนการรับการรักษา การคัดแยกความรุนแรง ช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุ เสี่ยงป่วยหนัก และการทำ Home Isolation กับผู้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย

แนวทางใช้

ส่วนแนวทางการใช้ Rapid Antigen Test

กรณีเป็นผู้สงสัยที่ไม่มีอาการใด ๆ ถ้าตรวจด้วย Rapid Antigen Test แล้วผลเป็นลบ ให้คำอธิบายว่ายังไม่เจอเชื้อ แต่อาจจะมีเชื้อน้อย ๆ ให้กลับไปดูแล กักตัวที่บ้าน และอาจจะมาตรวจใหม่อีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม ถ้าผลบวกจะยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR อีกครั้ง แต่ถ้าตรวจ RT-PCR แล้วผลเป็นลบก็ให้คำแนะนำเหมือนตรวจแอนติเจนเป็นลบ แต่ถ้าผลเป็นบวกจะเข้าระบบในการดูแลผู้ป่วยโควิด

กรณีกลุ่มที่มีความเสี่ยง ผู้สัมผัสแล้วมีอาการ ปกติแนะนำให้ตรวจ RT-PCR เป็นหลัก เพราะเป็นวิธีมาตรฐานที่ตรวจเจอเชื้อเร็วที่สุด แต่ในกรณีที่สถานบริการรองรับไม่ไหว มีคนตรวจจำนวนมาก อาจใช้วิธี Rapid Antigen Test ก่อนได้ ถ้าใครผลบวกให้ตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR แต่ถ้าผลลบและตรวจด้วย RT-PCR ลบด้วย ก็อาจจะกลับไปดูแลตัวเองตามระบบ

เกณฑ์เบิกจ่าย สปสช.

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สำหรับค่าใช้จ่าย ถ้าตรวจด้วย Rapid Antigen Test หากเข้าเกณฑ์ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะให้เบิกไม่เกินรายละ 450 บาท การตรวจในหน่วยบริการไม่เกิน 600 บาท ซึ่งวันนี้ สปสช.กำลังพิจารณา กำหนดเกณฑ์เหล่านี้ออกมาให้สอดคล้องกัน หรือพูดง่าย ๆ คือ ถ้าตรวจตามเกณฑ์ ก็สามารถเบิกจ่ายได้ตอนนี้อยู่ในขั้นพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรามาถึงจุดที่รายงานจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายวันค่อนข้างสูง ยังถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ การเปิดให้มีการตรวจด้วย Rapid Antigen Test ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องมือเดียว ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่อาจจะทำให้คนไทย เข้าถึงบริการเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ หรือบางกรณีเลือกใช้ คณะกรรมการจะช่วยกันพิจารณา เมื่อจำเป็นต้องนำมาใช้ประโยชน์ ก็จะมาเสนอเป็นนโยบายและให้ทุกคนเข้าใจในการใช้เครื่องมือให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

“วันนี้เราขยับใช้ Rapid Antigen Test แค่ในสถานพยาบาล ยังตรวจเองไม่ได้ และย้ำว่าเป็นแค่วิธีการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น หากผลบวก ยังต้องมีการตรวจซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน เพราะตัวนี้จะเห็นผลดีกับผู้มีเชื้อมาก และอีกไม่นานเราจะทำให้สามารถนำไปตรวจได้เอง ก็จะมีการกำหนด ขั้นตอน กติกา วิธีการ ที่มากขึ้นกว่านี้ เช่น จะส่งชุดตรวจให้ยังไง ตรวจแล้วยังไงต่อ บางประเทศก็ดำเนินการอยู่ ดังนั้นขอพิจารณารอบคอบว่าทำแล้วคุ้มค่า หรือเกิดประโยชน์ต่อระบบเราจริง ๆ”