สปส.ระบุ ยังมีแรงงานอิสระที่ไม่สมัคร ม.40 กว่า 20 ล้านคน

ประกันสังคม-เงินเยียวยา

สปส.ระบุยังมีแรงงานอิสระที่ไม่สมัคร ม.40 กว่า 20 ล้านคน รอดู ครม. อนุมัติกลุ่มสมัครใหม่

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่ออธิบายข้อสงสัยของประชาชนประเด็นต่าง ๆ ให้มีความเข้าใจตรงกัน

น.ส.ลัดดา กล่าวว่า เงินที่จะจ่ายให้ผู้ประกันตนมี 2 ส่วน คือ 1. เงินกองทุนประกันสังคม ช่วยชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ที่รัฐสั่งปิด 9 กิจการ (1.กิจการก่อสร้าง 2.กิจการที่พักแรงบริการด้านอาหาร 3.กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ

5.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 6.สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ 7.สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 9.สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร) ใน 10 จังหวัด (กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) ขอย้ำว่าส่วนนี้เป็นเงินทางฝั่งกองทุนประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจ่ายสะสมมา

โดยนายจ้างต้องขึ้นทะเบียน e-service เพื่อแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 โดยระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คน และหยุดงานตั้งแต่วันที่อะไรถึงวันที่อะไร ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่กรอกแบบ สปส.2-01/7 และแนบสมุดปัญชีออมทรัพย์ ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่ง สปส. ภายใน 3 วันหลังจากที่ยายจ้างลงทะเบียน e-service แล้ว เพื่อจะได้รับเงินโดยเร็ว ซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมจะจ่าย 50% (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) กรณีว่างงานสูงสุด 90 วัน ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

2. เงินเยียวยาตามมติ ครม. เป็นส่วนเงินกู้ของรัฐบาล แต่มาใช้ฐานข้อมูลประชาชนในมาตราต่าง ๆ ของ สปส. เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนแก่กลุ่มแรงงานไทยและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด ที่รัฐสั่งปิด 9 กิจการ

โดยลูกจ้างมาตรา 33 ที่ได้รับเงินจากประกันสังคมเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (จ่ายสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ก็จะได้รับเงินจากส่วนเงินกู้ของรัฐบาลจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน (รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท) ส่วนนายจ้างมาตรา 33 ได้รับ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน ลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ รัฐบาลจะเยียวยา 5,000 บาท แต่ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรานี้มาก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ให้รีบสมัครภายใน 30 ก.ค. 2564 เพื่อ สปส.จะได้ส่งข้อมูลนำเข้า ครม.พิจารณาต่อไป

ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่ต้องกังวลว่า จะเสียเปรียบ เนื่องจากไม่ได้ใช้กองทุนเงินประกันสัมคมไปจ่ายให้มาตราอื่น ๆ เพราะส่วนนั้นเป็นเงินกู้ของฝั่งรัฐบาล

น.ส.ลัดดาอธิบายว่า หากต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถทำได้ผ่าน 7 ช่องทาง ได้แก่ 1.สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ 2.สายด่วนประกันสังคมหมายเลข 1506 3.เซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา 4.ธนาคาร ธ.ก.ส. ทุกสาขา 5. Big C ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 6.เครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศ 7.สมัครผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม

แต่ต้องยอมรับว่าระบบสมัครมาตรา 40 ออนไลน์มีความติดขัด เพราะมีคนเข้าไปสมัครพร้อมกันจำนวนมาก จึงขอให้กระจายใช้ช่องทางอื่น ๆ ที่เราเตรียมไว้ให้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สำนักงาน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าเป็นห่วง โดยเมื่อวานนี้ สปส.เขตพื้นที่ 12 เขต ใน 10 จังหวัด มีคนเดินทางไปสมัครมาตรา 40 ที่สำนักงานประมาณ 3 พันกว่าคนต่อเขต

“ทั้งนี้ จากที่เปิดรับผู้สมัคร มาตรา 40 มาหลายปี มีแรงงานนอกระบบหรือแรงงานอิสระสมัครเพียง 3 ล้านกว่าคน จากจำนวนแรงงานนอกระบบในไทยทั้งหมด 23 ล้านคน เท่ากับว่ายังมีผู้ประกอบอาชีพอิสระอีกมาก (กว่า 20 ล้านคน) ที่ไม่ได้สมัครมาตรา 40” 

น.ส.ลัดดากล่าวด้วยว่า ตอนนี้เราใช้ข้อมูลผู้ประกันตนมาตราต่าง ๆ เพื่อส่งให้รัฐในโครงการเยียวยา สิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ก่อน แต่ก็ได้มีการขยายกรณีที่นายจ้างที่มาขึ้นทะเบียนใหม่ หรือผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มาขึ้นทำเบียนใหม่ ช่วง 29 มิ.ย.–30 ก.ค. 2564 ซึ่งต้องรอการอนุมัติของ ครม. อีกทีว่า จะจ่ายกลุ่มผู้มาสมัครใหม่หรือไม่ จ่ายแบบใด และอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามทางรัฐได้อนุมัติตามหลักการแล้วสำหรับผู้ประกันตนที่สมัครก่อน 28 มิ.ย. 2564 ได้รับเงินแน่นอน ไม่ต้องเข้าระบบสมัครใด ๆ แต่ขอให้ผูกบัตรประชาชนกับพร้อมเพย์ไว้ เพื่อรับเงิน