ประกันสังคม เปิดช่องทางเช็กสิทธิ์ รับเงินเยียวยา ม.33 ม.39

ประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดระบบตรวจสอบสิทธิรับเงินเยียวยา ม.33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้ให้การเห็นชอบมาตรการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดระบบให้ตรวจสอบสิทธิแล้ว นายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา

ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. ก่อสร้าง 2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5. การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 6. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 9. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิได้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ผู้ประกันตนมาตรา 33 เพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็สามารถตรวจสอบได้ นายจ้างสถานประกอบการให้กรอกเลขบัญชีนายจ้าง 10 หลัก และเลขลำดับที่สาขา 6 หลัก

  • ช่องการตรวจสอบสิทธิ์ สามารถเช็กสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ประกันสังคมได้ (คลิกที่นี่)

โดยการช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้รับการจัดสรรงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เงื่อนไขการเยียวยา ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับการเยียวยา เป็นเงิน 2,500 บาท โอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น นายจ้างจะได้รับการเยียวยา ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดา จะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน นายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคล

โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า เมื่อสำนักงานประกันสังคมร่วมกับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ท่านจะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีตามที่กล่าวข้างต้น โดยท่านไม่ต้องมายื่นเรื่องหรือติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา แต่อย่างใด และผู้ประกันตนมาตรา 33 และนายจ้างบุคคลธรรมดา เมื่อท่านตรวจสอบสิทธิเรียบร้อยแล้ว ขอให้ท่านตรวจสอบบัญชีธนาคารของตนเองด้วยว่าได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนไว้แล้วหรือยัง หากยังขอให้เร่งดำเนินการด่วน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สอดคล้องกับคำแถลงของ นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เพิ่มสูงขึ้น สำนักงานประกันสังคมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเข้มงวด จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน งดการมาติดต่องานหรือธุรกรรมกับสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ ด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ประกันตน ผู้ใช้บริการ และเพื่ออำนวยความสะดวก ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สามารถติดต่อได้ที่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์แทน ดังนี้

  • การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน ม. 33  ม. 39 ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศของรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2564 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ประกันสังคม (คลิกที่นี่)
  • กรณีผู้ประกันตน ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และชราภาพ สามารถรับแบบขอรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ช่องทาง download แบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทนใน www.sso.go.th ส่งแบบพร้อมเอกสารได้ที่ไปรษณีย์ลงทะเบียน (AR ตอบรับ) โทรสาร (Fax) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) แอปพลิเคชั่น (Line)
  • รายละเอียดของแต่ละหน่วยงานท่านสามารถเข้าดูได้ที่ www.sso.go.th หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานประกันสังคมสามารถติดต่อสอบถามที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ผ่านช่องทาง e-mail : [email protected], กระดานสนทนา (webboard), live chat และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ssofanpage
  • กรณีนายจ้างขอทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้นายจ้างเข้าช่องทาง e-service ในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ในหัวข้อบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอ user สถานประกอบการ และ password เพื่อการนำส่งข้อมูลเงินสมทบ แจ้งผู้ประกันตน เข้า-ออก จากงาน หรือแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ประกันตน พร้อมชำระเงินสมทบของผู้ประกันตน ผ่านระบบ e-payment ได้ตลอดเวลา
  • กรณีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกันตน สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตนส่งเงินสมทบยอดเงินชราภาพ และการรับสิทธิประโยชน์รวมถึงเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทุกกรณี โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ ช่องทางระบบสมาชิกผู้ประกันตนในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือทางโทรศัพท์มือถือ สามารถดาวน์โหลดแอป SSO Connect หรือสอบถามผ่านการส่งข้อความในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ssofanpage ของสำนักงานประกันสังคม หรือโทรสายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงานประกันสังคมจึงขอความร่วมมือ นายจ้าง ผู้ประกันตน ใช้ช่องทางดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการรวมตัวกัน ป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19

ด้านนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงกรณีที่ น.ส.เกณิกา ตาปสนันทน์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ให้รีบควักเงินสมัครมาตรา 40 แต่ยังไม่มีความชัดเจน จะแน่ใจได้ยังไงว่าจะได้เงินเยียวยา เพราะตอนนี้แม้แต่ในเว็บไซต์ของประกันสังคมเอง ผู้ประกันตนเข้าไปเช็กสถานะก็ยังรวน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วแบบนี้ผู้ที่สมัคร ม.40 ใหม่ ที่เร่งให้สมัครก่อนสิ้นเดือน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเสียเงินสมัครไปแล้วจะได้เงินเยียวยาแน่นอน

ในเรื่องนี้ นางเธียรรัตน์ ชี้แจงว่า กรณีเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมนั้น แท้จริงแล้วเว็บไซต์ไม่ได้ล่ม เพียงแต่สำนักงานประกันสังคมได้ปิดปรับปรุงเว็บไซต์ 1 วัน เพื่อปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ที่จากเดิมกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 6 จังหวัดและเพิ่มเติมเป็น 10 จังหวัด

รวมทั้งขยายประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือจากเดิม 4 เป็น 9 ประเภทกิจการ เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ที่มีรายชื่อทั้งหมดอยู่ในระบบฐานข้อมูลอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ส่วนกรณีที่สำนักงานประกันสังคมให้ผู้ที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและต้องการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้สมัครมาตรา 40 นั้น ในเรื่องการสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.40 นั้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่สามารถมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบรายเดือนระยะยาว เพื่อรับการคุ้มครองที่ต่างกัน คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท

เพื่อให้ได้มีหลักประกันทางสังคมจากรัฐบาล เป็นการออมในระยะยาวเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งรัฐจะมีฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือและอุดหนุนเยียวยาจากมาตรการต่าง ๆ ซึ่งสามารถอนุมัติงบประมาณ ในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ต้องมีการสำรวจข้อมูลใหม่