ประกันสังคม จ่ายทุกบริษัท สูงสุด 6 แสน – ม. 33 ได้ 2,500 ทุกคน

แจกแจงเงินเยียวยาแรงงาน ผู้ประกันตน ม. 33 รัฐบาลจ่ายนายจ้างสูงสุดแห่งละ 6 แสนบาท ลูกจ้างใน 10 จังหวัด รอรับโอน 2,500 บาท

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงขั้นตอนการดำเนินงานการจ่ายเงินเยียวยา กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ใน 10 จังหวัด ใน 9 กิจจการว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พิจารณาการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดแล้ว โดยให้เร่งลงทะเบียนกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมถึงเห็นให้กระทรวงมหาดไทย ให้ความช่วยเหลือกระทรวงแรงงาน ในการตรวจสอบผู้ที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต่อไป

ทั้งนี้ มาตรการการจ่ายเงิน ในรายละเอียด สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และสภาพัฒน์ จะนำเสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 กรกฏาคม 2564

แรงงาน ม.33 ได้ 2,500 บาททุกคน

ในทางปฏิบัติและการดำเนินการเยียวยา กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม ในการจ่ายเงินชดเชยผู้ที่อยู่ในมาตรา 33 ที่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการที่ถูกปิด ตามประกาศ-คำสั่งของรัฐบาล และต้องการให้ได้เงินเยียวยาแก่แรงงานผู้ที่อยู่ในมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบทั้งหมดได้รับการชดเชย 2,500 บาทด้วย โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564

นายจ้างทุกบริษัทได้สูงสุด 6 แสนบาท

แหล่งข่าวระบุเพิ่มถึงรูปแบบการจ่ายเงินเยียวยาอีกว่า เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล และตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน ให้แก่ นายจ้าง ตามมาตรา 33 ทุกบริษัท ใน 9 กิจการ ที่อยู่ในเขต 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดหรือสีแดงเข้ม โดยนายจ้างได้สูงสุด 6 แสนบาท (จากลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ๆ ละ 3,000 บาท) ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เช่นเดียวกัน

กรณีบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาล นายจ้างต้องขึ้นทะเบียน e-service เพื่อแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 โดยระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คน และหยุดงานตั้งแต่วันที่อะไรถึงวันที่อะไร ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่กรอกแบบ สปส.2-01/7 และแนบสมุดปัญชีออมทรัพย์ ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่ง สำนักงานประกันสังคม ภายใน 3 วันหลังจากที่ยายจ้างลงทะเบียน e-service แล้ว เพื่อจะได้รับเงินโดยเร็วซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมจะจ่าย 50% (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) กรณีว่างงานสูงสุด 90 วัน ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

ส่วนวงเงินเยียวยาเพิ่มเติม ตามมติ ครม. มาจากเงินกู้วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยใช้ฐานข้อมูลของประกันสังคม ในส่วนนี้ เจาะจงจ่ายช่วยเหลือเร่งด่วนแก่กลุ่มแรงงานไทยและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด กรณีได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาลใน 9 กิจการ โดยลูกจ้างมาตรา 33 ที่ได้รับเงินจากประกันสังคมเยียวยาเดิมได้รับ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) รัฐบาลจะเพิ่ม่ให้สบทบลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน (รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท)

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ รัฐบาลจะเยียวยา 5,000 บาท โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 ก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ให้รีบสมัครภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564 เพื่อสำนักงานประกันสังคม จะได้ส่งข้อมูลนำเข้า ครม. ในวันที่ 20 ก.ค. 2564 พิจารณา

เปิดรายละเอียดมาตรการเยียวยาอีกครั้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการผ่านระบบ Video Conference (13 ก.ค.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ความช่วยเหลือเร่งด่วน แก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด ดังนี้

ขอบเขตของกิจการที่ได้รับการเยียวยา จำนวน 2 กลุ่ม

9 หมวดกิจการ 

  1. ก่อสร้าง
  2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
  3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ
  4. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ
  5. ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์
  6. ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
  7. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุ
  8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9) ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร

5 กิจการของถุงเงิน 

  1. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
  2. ร้าน OTOP
  3. ร้านค้าทั่วไป
  4. ร้านค้าบริการ
  5. กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)

ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ

  • 1 เดือน

รายละเอียดเงื่อนไขการเยียวยา

  • ลูกจ้าง มาตรา 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท
  • นายจ้าง มาตรา 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน
  • สำหรับผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 และ 40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน
  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ให้ขึ้นทะเบียนตาม มาตรา40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
  • ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
  • ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม มาตรา40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
  • ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม มาตรา 33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
  • ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม มาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)