บริหารท่ามกลางวิกฤต PTTGC ปรับแผนสร้างธุรกิจยั่งยืน

คงกระพัน อินทรแจ้ง
คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ต้องยอมรับว่าโควิด-19 กลายเป็นบททดสอบให้หลายองค์กรต่างพยายามก้าวข้ามผ่านวิกฤต ทั้งนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคตไม่ว่าจะองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ต่างต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งนี้

ซึ่งเหมือนกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ผู้ผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่ติดอันดับท็อปไฟฟ์ของเอเชีย

ความปลอดภัยต้องมาก่อน

เบื้องต้น “คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นบทสนทนาถึงเรื่องการดูแล “พนักงาน” บอกว่า ความปลอดภัยของพนักงานต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก

“ทั้งนั้น เพราะเป็นนโยบายสำคัญของ PTTGC โดยเฉพาะความปลอดภัยคือการดูแลเรื่องการจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานและครอบครัวทั้งหมด เพื่อให้พนักงานเองทำหน้าที่เป็น bubble and seal ให้กับตัวเองจากโควิด-19 จากเดิมวิธีที่ PTTGC ใช้มีแค่พื้นที่สำนักงาน โรงงาน และโรงแรมที่พักให้เท่านั้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดมาก PTTGC ต้องทำแบบนี้อยู่ 3 รอบ ในช่วง 2 ปีที่เกิดการระบาด”

“แต่วิธีดังกล่าวทำให้พนักงานเกิดความล้ามากเกินไป อีกอย่างพวกเขาเป็นห่วงครอบครัว เราจึงให้กลับไปทำงานที่บ้าน หรือ work from home-WFH แบบ 100% นอกเหนือจากจะดูแลพนักงานแล้วยังดูแลไปจนถึงคู่ค้าทั้งหมดที่ร่วมงานและสังคมโดยรอบของ PTTGC”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PTTGC เป็นตัวหลักที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ชุด PPE ชุดกาวน์ เพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม เพื่อป้องกันการติดเชื้อให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 3 ล้านชุดแล้ว โดยมีต้นทุนอยู่ที่เพียง 100 กว่าบาทต่อชุด หากนำเข้าจากต่างประเทศจะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อชุด อย่างไรก็ตาม สำหรับ PTTGC ยังมีการจ้างงานในหลากหลายรูปแบบด้วย”

ปรับวิกฤตสร้างโอกาส

นอกจากนั้น แม้อนาคตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจคลี่คลายลง แต่ในมุมมองของ “คงกระพัน” เชื่อว่าคงยังต้องให้พนักงาน WFH อยู่ พร้อมกับใช้วิธีการกระจายกลุ่มของพนักงานในการเข้ามาทำงานในโรงงาน เพราะหากพบว่ามีการติดเชื้อในพื้นที่โรงงานจะควบคุมค่อนข้างลำบาก แต่การกระจายคนจะทำให้มีการติดโควิด-19 เพียงบางส่วน และจำนวนคนที่เหลือยังทำให้โรงงานสามารถเดินเครื่องผลิตต่อไปได้ ส่วนพนักงานในแต่ละแผนกจะสลับกันเข้ามาทำงานประมาณ 2 ใน 3 ส่วนเพื่อลดความเสี่ยงและความแออัด

“โดยเฉพาะมาตรการภายในโรงงานเรามีความเข้มข้นมาก ทั้งยังมีการป้องกันอย่างดี ทุกคนต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ส่วนการทำงานที่ออฟฟิศ เช่น 2-3 อาทิตย์ถึงจะเข้าออฟฟิศสักครั้ง แต่เราก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ค่อนข้างเยอะ เพื่อการติดต่อสื่อสาร ประชุมผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด จึงทำให้การทำงาน smooth และมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสารค่อนข้างมาก”

“โดยเฉพาะการประชุมผ่านออนไลน์ เพราะจะช่วยลด gap ระหว่างพนักงานและผู้บริหารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วง town hall meeting ที่ประชุมพนักงานครั้ง 1 ราว 4-5 พันคน จากเดิม
ที่มีพนักงานเข้าร่วมประชุมเพียงไม่เกิน 2 พันคน แต่เวทีนี้พนักงานทุกระดับสามารถตั้งคำถามถึง CEO โดยตรง ขณะที่ฝ่ายบริหารก็ตอบคำถามพนักงานอย่างกันเอง จนสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน และสร้างความผูกพันระหว่างคนทำงานกับองค์กรแนบแน่นขึ้น”

ลดต้นทุน-ปรับกฎระเบียบ

นอกจากนั้น “คงกระพัน” ยังกล่าวถึงผลกระทบเชิงบวกของโควิด-19 ด้วยว่า ทำให้ต้นทุนการอบรมพนักงานลดลงราว 25% เพราะหันไปฝึกอบรมผ่าน e-Learning แทน จนทำให้คิดว่าต่อไปอาจพัฒนาการทำงานไปสู่รูปแบบอื่น ๆ ได้ อย่างเช่นการเรียนภาษาต่างประเทศ ก็จะเรียนผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ PTTGC จัดเตรียมไว้ให้พนักงาน

“ซึ่งการวัดผลไม่ได้ใช้เพียงการสอบเพื่อวัดผลเท่านั้น แต่ยังเพิ่มรูปแบบการประเมินแบบเรียนไป ทดสอบไปด้วย โดยเฉพาะกฎระเบียบการทำงานต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เช่น พนักงานสามารถนำเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปทำงานที่บ้านได้ พร้อมกำหนดกฎระเบียบเพิ่มคือห้ามประชุมในช่วงเที่ยงวันและหลัง 17.00 น. ยกเว้นในกรณีที่พนักงานต้องการประชุมเอง”

“e-Learning จึงถือเป็นโอกาสในช่วงโควิด-19 ไม่อย่างนั้นเราต้องจัดเวลา หาเวลา สถานที่เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นไปค่อนข้างยาก แต่พอมีโควิดทุกคนสามารถประชุมพร้อมกัน ทั้งยังฝึกอบรมให้กับพนักงานเป็นจำนวนมาก ๆ แถมมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนทำให้ต้นทุนทางด้านนี้ลดลงราว 25%”

ลดพนักงาน-กระชับองค์กร

แต่กระนั้นในภาพธุรกิจที่จะต้องสร้างความเติบโตไปพร้อม ๆ กับการฝ่ามหันตภัยไวรัสร้าย “คงกระพัน” มองในเรื่องนี้ว่า ผมเองก็เข้าใจและยอมรับ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเตรียมคนเพื่อรองรับธุรกิจ ภายใต้ “โครงการ FIT” ที่ต้องการกระชับองค์กรให้มีความคล่องตัว เนื่องจากธุรกิจของ PTTGC การแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งยังมีผู้ผลิตรายใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะสภาวะสงครามการค้าจีน-สหรัฐทำให้การแข่งขันสูงต่อเนื่อง

“ยิ่งมาบวกกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 เราจึงออกแบบองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้นจาก 2 วิธีคือ 1) ปรับลดพนักงาน โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยี พูดง่าย ๆ คือ ลดคน แต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อลดกระบวนการทำงานบางอย่างลง และ 2) การนำดิจิทัลเข้ามาใช้โดย PTTGC มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนพนักงานลงให้ได้ 10% ภายในปี 2020 แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ แม้จะปรับลดพนักงานแต่ธุรกิจต้องมีการขยายตัว”

“ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับการลดจำนวนพนักงาน แม้เราจะทำแบบเปิดเผย ไม่มีการทำอะไรที่ไม่ดี ไม่ไล่ออกเพราะพนักงานของ PTTGC โดยเฉลี่ยคนทำงานจะลดลงอยู่ที่ 3% ต่อปี ไม่นับพนักงานเกษียณ หรือลาออกเอง หากไม่รับคนในส่วนนี้มาทดแทน งานบางประเภทเราอาจต้องรับพนักงานเพิ่มด้วยซ้ำ”

“ผลตรงนี้จึงทำให้เกิดสูตรออก 3 รับ 1 คือจะมีพนักงานหายไป 2% ต่อปี ฉะนั้น ภายใน 5 ปีเราจะดำเนินการตามแผน คือ ลดจำนวนพนักงานลง 10% โดยโครงการ FIT จะเข้าไปดูกระบวนการทำงานทั้งหมด พนักงานทุกคนต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อีกทั้งพนักงานบางส่วนอาจจะต้องถูก “upskill-reskill” เพื่อไปใช้ในงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนได้”

“ผมบอกว่าเราต้องผ่าตัดในวันที่เราแข็งแรง เพราะขณะนี้ PTTGC ถือว่ามีความแข็งแรงค่อนข้างมาก แต่จะให้รอตอนเจ็บป่วย ไม่แข็งแรงแล้ว อาจยิ่งทำให้ไม่แข็งแรงเพิ่มขึ้นอีก ผมมองว่าแม้จะเป็น
เรื่องยากแต่สุดท้ายเราก็ต้องทำ เพราะเราทำเพื่อ PTTGC ในอนาคต”

เทรนพนักงาน Data Analytic

นอกจากนั้น “คงกระพัน” ยังกล่าวถึงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการจ้างแรงงานแบบใหม่ เพราะมีการขยายธุรกิจของ PTTGC ไปสู่ระดับ “global” กว่า 20 ประเทศทั่วโลก ขณะนี้ PTTGC ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้าน data analytic เพื่อนำมาปรับกระบวนการทำงานให้มีความ advance มากขึ้น

“อีกทั้งการสรรหาเทรนเนอร์มาเทรนพนักงานรวม 200-300 คน เพื่อมาช่วยทำงานในหลายอย่าง เนื่องจากเรามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลจำนวนมาก อย่างเช่น เรื่อง advance analytic ผมก็สามารถจ้างคนเหล่านี้เข้ามาช่วยทำงานได้แต่การจ้างงานก็อาจจะต้องปรับผลตอบแทนให้มีความสอดคล้อง เนื่องจากมีความลับของทางบริษัทรวมอยู่ด้วย”

“อย่างกรณีการทำโปรเจ็กต์ Smart Plant ให้มีความทันสมัย เราอาจจ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน data analytic ต่างประเทศ 3 คน ในประเทศ 2 คน ตรงนี้ก็จะช่วยทำให้พนักงานของเราเก่งขึ้นด้วย”

ปรับแผนธุรกิจสร้างการเติบโต

สำคัญไปกว่านั้น “คงกระพัน” เชื่อว่าโควิด-19 ยังอยู่กับสังคมไทยไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ดังนั้น PTTGC อาจต้อง “ชะลอ” บางโครงการไว้ก่อน เช่น การลงทุนด้านธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก

โดยผู้ถือหุ้นบางส่วนขอให้ชะลอออกไป แต่โครงการที่เป็นโอกาสและเร่งดำเนินการขึ้นมาคือ การเข้าไปลงทุนใน Allnex Holding GmbH กว่า 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของ PTTGC ด้วยเช่นกัน

“ผมคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีเพื่อเข้าไปซื้อกิจการ และน่าจะดีกว่าไปสร้างโรงงานเอง โครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของ PTTGC อีกครั้ง แม้เราจะผจญอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แต่ในเชิงธุรกิจ PTTGC ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 ที่ผ่านมา มีกำไรมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา”

“เพราะธุรกิจปิโตรเคมีเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่าเศรษฐกิจในประเทศ ยกตัวอย่าง ปี 2563 ที่ใคร ๆ ต่างแย่กันไปหมด แต่พอปี 2564 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากลับเริ่มฟื้นตัว แม้แต่จีน ยุโรป ธุรกิจปิโตรเคมี หรือว่าเคมีภัณฑ์ก็มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง PTTGC ก็เช่นกัน ผมเชื่อว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

จึงน่าจะทำให้ธุรกิจ PTTGC เกิดความยั่งยืนในอนาคต