ประกันสังคม ขยายวงเงินกู้ ช่วยสถานประกอบการสูงสุด 30 ล้านบาท

เงินกู้ฉุกเฉิน

สำนักงานประกันสังคม ขยายกรอบวงเงินโครงการสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ช่วยเหลือสถานประกอบการ ได้มีทุนไปจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง เริ่มเพิ่มวงเงินเดือนตุลาคม และสมัครได้ถึงสิ้นปีนี้

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดำเนินการ “โครงการสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน” ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2563-2564) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถนำเงินกู้ที่ได้จากการขอสินเชื่อไปรักษาการจ้างงานของลูกจ้างในสถานประกอบการ

นางสาวลัดดากล่าวว่า ทางรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยสั่งการให้ทางสำนักงานประกันสังคมกำหนดให้สถานประกอบการรักษาจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ให้ไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด ณ วันที่ได้รับสินเชื่อ และตลอดอายุสินเชื่อ

จากการดำเนินโครงการพบว่า มีสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ยังต้องการเงินกู้มากกว่า 15 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการประกันสังคมฯรับทราบปัญหา และเห็นความสำคัญที่ไม่ควรให้ลูกจ้างต้องถูกเลิกจ้างจำนวนมาก จึงมีมติในการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 เห็นชอบให้ขยายวงเงินสำหรับสถานประกอบการ จากเดิมไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ เป็นกำหนดตามจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ

ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม

หากจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ได้วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท และจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป ได้วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งกำหนดวงเงินรวมที่ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป ไม่เกิน 20% ของวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารได้รับจัดสรรปัจจุบัน โดยอยู่ระหว่างการแก้ไขบันทึกข้อตกลง (MOU) โดยคาดว่าจะเริ่มเพิ่มวงเงินได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

นางสาวลัดดากล่าวต่อไปว่า การให้สินเชื่อตามโครงการสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 ทางสำนักงานประกันสังคมไม่ได้กำหนดประเภทกิจการ ยังคงให้สถานประกอบการทุกประเภทกิจการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน สามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้กับสำนักงานประกันสังคมได้

โดยปัจจุบันธนาคารในโครงการมีจำนวน 5 แห่ง วงเงินรายละ 2,000 ล้านบาท ได้แก่

  1. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
  2. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
  4. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

การพิจารณาให้สินเชื่อ เป็นไปตามระเบียบและดุลพินิจของแต่ละธนาคาร กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 2.75% ต่อปี และกรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 4.75% ต่อปี

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-Service ของประกันสังคม (www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp) โดยเลือกหัวข้อ ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ) หรือสแกน QR code ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารทั้ง 5 แห่งข้างต้นได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

“โครงการสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เป็นโครงการที่ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2559 ที่สามารถนำเม็ดเงินไม่เกิน 10% ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุนทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการ รักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย” นางสาวลัดดากล่าว