SDGs กรอบอาชีพยั่งยืน หนุนเศรษฐกิจ-แก้ไขปัญหาสังคม

the global goals

จากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการใช้ชีวิต การทำงาน ทั้งยังส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ และหลายธุรกิจเสียหาย แต่ในอีกด้าน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์

อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ที่มาจากการสำรวจปัญหา และสรุปความต้องการที่แท้จริงที่เกี่ยวข้องกับทุกประเทศสมาชิกทั่วโลก จนออกมาเป็น 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย 169 เป้าหมายย่อย (SDGs targets) ที่เชื่อมโยงส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยเป้าหมายเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นในปี 2015 โดยวางว่าทุกประเทศต้องช่วยกันผลักดันให้บรรลุผลในปี 2030

ทั้งนี้ สหประชาชาติระบุว่าการที่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล, องค์การนอกภาครัฐ (NGOs), อาสาสมัคร และมูลนิธิเท่านั้น แต่ต้องมาจากการที่ประชาชนในแต่ละประเทศร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพ

“ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา” นักวิชาการอิสระ นักนวัตกรรมทางความคิด และประธานมูลนิธิบ้านอารีย์ กล่าวว่า การจัดทำ SDGs ของสหประชาชาติเป็นการสรุปความต้องการที่แท้จริงของประชาชนโลกกว่า 7 พันล้านคน เพื่อให้ทุกคนในทุกภาคส่วนร่วมลงมือทำ แต่คนส่วนใหญ่ยังมองเรื่องของ SDGs เป็นหน้าที่และบทบาทของภาครัฐบาล จึงละเลยที่จะนำเป้าหมายเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้

ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา
ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการอิสระ นักนวัตกรรมทางความคิด และประธานมูลนิธิบ้านอารีย์

“หากคนไม่ละเลยความสำคัญของ SDGs หลายปัญหาในปัจจุบันอาจไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นก็จะไม่รุนแรงมาก เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่าง ๆ และการเผาวัสดุต่าง ๆ และหากมองในมุมการประกอบอาชีพ ผู้ที่สามารถทำงานที่ตอบโจทย์ SDGs targets จะได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาล ไปจนถึงนักลงทุนระดับโลกมากกว่างานทั่วไป”

“SDGs จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคนที่ต้องการค้นหาอาชีพที่ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอยู่แล้วให้เห็นช่องทางใหม่ ๆ เพราะเมื่อศึกษา SDGs อย่างละเอียด จะพบโอกาสทองในการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพยั่งยืนจำนวนมาก และหากสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ ใส่นวัตกรรมลงไปในสินค้าและบริการ จะทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน”

ทั้งนี้เมื่อจัดกลุ่ม 169 SDGs targets ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันจะสามารถสร้างอาชีพยั่งยืนออกมาเป็น 5 มิติ (5P) ดังนี้

หนึ่ง people อาชีพที่เกี่ยวกับการพัฒนาคน การขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สอง planet อาชีพที่สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

สาม prosperity อาชีพที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี

สี่ peace อาชีพที่ไม่ก่อให้เกิดการแบ่งแยก ส่งเสริมการสร้างสันติภาพ และความยุติธรรมเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ห้า partnership อาชีพที่ส่งเสริม ผลักดันหุ้นส่วนในการพัฒนา ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ

“ผศ.ดร.วีรณัฐ” กล่าวด้วยว่าตอนนี้มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น ปัจจุบันมีการขายของออนไลน์ อาชีพไรเดอร์ (คนส่งของ) งานด้าน e-Learning การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล งานด้านการตลาด และงานธุรกิจขายประกัน เป็นต้น ซึ่งอาจดูเป็นอาชีพสมัยใหม่ แต่ทว่าตอบโจทย์ SDGs เช่นกัน เพราะการเกิดขึ้นของงานเหล่านั้นจะช่วยให้ประชากรโลกมีงานทำเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง

จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) มีคนว่างงานทั่วโลกในปี 2558 กว่า 204 ล้านคน และโลกต้องการงานใหม่ที่ตอบโจทย์กับการเติบโตของประชากรวัยทำงาน มากกว่า 600 ล้านงานภายในปี 2573 ทั้งยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้เหมาะกับคน 780 ล้านคน ที่ทำงาน แต่ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัวให้พ้นจากความยากจน

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงไม่เพียงเป็นโอกาสการได้งานที่ดีและดีเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ต้องเป็นงานที่สร้างการเติบโต มั่นคง และลดความยากจนด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDG 8 ที่ระบุถึงการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน รวมถึงการจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน

ทั้งนี้ SDG 8 มีเป้าประสงค์ย่อยที่ครอบคลุมหลายประเด็น เช่น

8.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรอย่างยั่งยืน

8.2 การเพิ่มผลิตภาพผ่านการเพิ่มความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม

8.3 การส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

8.4 การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และการทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อม

8.5 การบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน

8.6 การลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีการศึกษา และไม่มีทักษะ

8.7 ยุติแรงงานทาสและแรงงานเด็ก

8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม

8.9 การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

และ 8.10 การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน

“อย่างไรก็ตาม อาชีพที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะยังคงใช้ได้ตลอด หรืออย่างน้อยจะตรงกับความต้องการของคนทั้งโลกในอีก 9 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปี 2030 ที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นปีที่เป้าหมาย 17 ข้อต้องบรรลุให้ได้”

the global goals

“ดังนั้น การทำความเข้าใจกับ SDGs ถือเป็นโอกาสทองด้านการทำงาน และการประกอบธุรกิจที่เกิดจากการแก้ปัญหา ผู้ที่ทำงานปิดช่องว่างช่วยผู้คน และสังคมก่อน ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นที่มาของความต้องการที่แท้จริง”


นับว่าการส่งเสริมผู้ประกอบการ และการสร้างงานที่มีคุณค่าตอบโจทย์ SDGs มีความสำคัญเช่นเดียวกับมาตรการขจัดการบังคับใช้แรงงาน การเป็นทาส และการค้ามนุษย์ ทั้งยังทำให้บรรลุการจ้างงานที่สมบูรณ์และมีประสิทธิผล SDGs กรอบอาชีพยั่งยืน