บริบทภาคเอกชน ฟื้นตัวอย่างมั่นคงด้วย SDGs

ภาพจาก : อินโดรามา
ภาพจาก : อินโดรามา

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน” (A Bright Leap Forward 2021 : Resilient and Sustainable Growth) เมื่อไม่นานผ่านมา

ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของไทย โดยมีผู้แทนหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมมาแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกัน ซึ่งในช่วงหนึ่งของการเสวนามีตัวแทนของภาคเอกชน อาทิ เอสซีจี, อินโดรามาฯ และไทยยูเนี่ยนกล่าวถึงบทบาทและมุมมองที่มีต่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs

เอสซีจีเชื่อมแผน BCG

“ณัฐวุฒิ อินทรส” Sustainable Development Deputy Director บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเริ่มต้นว่า ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (bio-circular-green economy หรือ BCG model) ที่รัฐบาลให้งบประมาณส่วนนี้ราว 4.4 ล้านล้านบาท

“ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่าจะนำมาเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาธุรกิจและสังคมเราอย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทุก ๆ ด้าน อย่างเอสซีจีเรามีธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เคมิคอล และแพ็กเกจจิ้ง ในมุมมองความยั่งยืน เชื่อมกับแผน BCG เราต้องคำนึงถึงการทำอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่มีการใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดคาร์บอนต่ำมากขึ้น”

“สิ่งที่เอสซีจีกำลังทำคือเราพยายามสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านสังคมเรามีการทำงานร่วมกับชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ธุรกิจของเราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิกฤตโควิดก็มีการนำเอาความเชี่ยวชาญของธุรกิจไปสนับสนุนคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ การเปิดพื้นที่ฉีดวัคซีน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น น้ำท่วม แล้ง มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้”

“ทั้งยังมีการทำเรื่องของ circular economy (CE) ต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้คือการสร้างความยั่งยืน แต่จากความท้าทายของโลกที่เพิ่มมากขึ้น และประเทศกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ก็ต้องมองว่าเราจะขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมเราได้อย่างไรบ้าง และในฐานะองค์กรใหญ่อีกความท้าทายคือต้องช่วยคนที่ตัวเล็กกว่า และอยู่รอบ ๆ เรา มาร่วมกันต่อจิ๊กซอว์เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

ภาพจาก : อินโดรามา
ภาพจาก : อินโดรามา

อินโดรามาฯรีไซเคิลพลาสติก

“ศศิโณทัย โรจนุตมะ” ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดพลาสติก PET ที่นำไปทำขวดน้ำดื่มแล้วก็เส้นใยโพลิเอสเตอร์

“ปีที่ผ่านมาได้เข้าร่วม GCNT FORUM พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ชัดว่าจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมาย SDGs ไปจนถึงปี 2030 มูลค่า 1 พันล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่เราสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะการรีไซเคิลกับ CE เนื่องจากสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพลาสติก และในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตก็ต้องรับผิดชอบตรงนี้ โดยจะใช้กระบวนการทางธุรกิจของเราตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำผลักดันอย่างจริงจัง”

“แต่ทั้งนี้การจะไปสู่จุดหมายดังกล่าวความท้าทายคือทำอย่างไรให้ผู้บริโภคคำนึงถึงความรับผิดชอบร่วมด้วย เนื่องจากพลาสติกที่เราจะใช้รีไซเคิลต้องมีความสะอาดปลอดภัย”

“ฉะนั้น ผู้บริโภคก็ต้องบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางในการคัดแยกประเภท ไม่นำไปปะปนกับขยะชนิดอื่นเพื่อสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ทำให้เราต้อง engagement กับพันธมิตรที่เราทำงานด้วย เช่น บริษัทเครื่องดื่ม สตาร์ตอัพด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยกันรณรงค์จัดทำโครงการให้ความรู้ประชาชน แยกขยะ และจัดทำจุด drop point เพื่อรับพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในโรงงาน”

“ขณะนี้ตั้งแต่ที่เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลา 10 ปี เราได้รีไซเคิลขวดพลาสติกไปแล้วประมาณ 67,000 ล้านขวด เฉลี่ยแล้วทำได้เกือบ 10,000 ล้านขวดต่อปี ซึ่งหวังว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์จะช่วยให้สามารถเพิ่มตัวเลขสูงขึ้น เพราะตั้งเป้าว่าจะรีไซเคิลให้ได้ถึง 50,000 ล้านขวดต่อปี ภายในปี 2025”

“ซึ่งดิฉันมองว่าพลาสติกมีคุณค่าที่จะนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ดังนั้น เป้าหมายต่อไปก็จะรณรงค์ผู้บริโภคทุกคนให้ความสำคัญกับการคัดแยกพลาสติกเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจังและยั่งยืนมากขึ้น”

ภาพจาก : อินโดรามา
ภาพจาก : อินโดรามา

SeaChange@เปลี่ยนท้องทะเล

“ปราชญ์ เกิดไพโรจน์” ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทเรากำหนดกลยุทธ์ SeaChange@ การเปลี่ยนแปลงท้องทะเลอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้ความสำคัญใน 4 เสาหลัก ได้แก่

ด้านแรก สิทธิแรงงาน คือ พนักงานหรือคนที่ถูกจ้างในห่วงโซ่อุปทานของเราทั้งหมดจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น แรงงานเรือประมง เราไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมงเองเพราะต้องซื้อปลาจากแพปลา ซึ่งแรงงานส่วนนี้ค่อนข้างน่ากังวลเพราะทำงานบนความเสี่ยง อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เราก็ต้องสุ่มตรวจสอบเสมอว่าเจ้าของเรือมีการจ้างงานถูกต้องหรือไม่ ให้ความเป็นธรรมหรือไม่

“ซึ่งการสุ่มตรวจของเราก็จะส่งทีมเข้าไปโดยตั้งแต่ปี 2018 จนถึงวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา เราตรวจไปแล้ว 143 ลำในมหาสมุทรทั่วโลก พร้อมกับสัมภาษณ์แรงงานกว่า 850 คน ซึ่งในอนาคตก็จะต้องเพิ่มความเข้มข้นโดยคาดว่าจะร่วมกับเอ็นจีโอติดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจสอบการทำงานบนเรือ ดูสภาพสินค้าเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการทำประมงอย่างถูกต้องมีจริยธรรม”

ด้านที่สอง จัดหาวัตถุดิบอาหารทะเลอย่างมีความรับผิดชอบ อย่างปลาทูน่าเป็นวัตถุดิบหลักในผลิตภัณฑ์อาหารของเรามีทั้งแบบแช่แข็ง หรือที่นำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เรามี commitment ตั้งไว้ว่า 75% ของปลาทูน่าในสินค้าแบรนด์ของไทยยูเนี่ยนทั้งหมดจะต้องมีการจัดหาอย่างรับผิดชอบ เรือประมงที่เป็นซัพพลายของเราต้องมีใบรับรอง MSC ซึ่งเป็นใบรับรองเกี่ยวกับมาตรฐานความยั่งยืน ถ้าไม่มีจะต้องเข้าร่วมโครงการพัฒนาประมง (FIP) เหมือนเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพคนงานให้บรรลุเป้าหมายมาตรฐาน MSC

ด้านที่สาม สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าวัตถุดิบอาหารมาจากแหล่งใด

ด้านที่สี่ สิ่งแวดล้อมในโรงงานของไทยยูเนี่ยนได้ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกและลดปริมาณการใช้น้ำต่อเนื่อง ซึ่งผลสำเร็จในปี 2020 พบว่า การลดก๊าซเรือนกระจกในโรงงานของเราตั้งเป้า 30% เราลดได้ 28% ส่วนของเสียฝังกลบเราตั้งเป้า 20% ทะลุเป้า 70% ส่วนการใช้น้ำตั้งเป้า 20% ทำได้ 26% อุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานตั้งเป้า 40% ทำได้ 49% ทั้งหมดนี้เทียบเท่ากับปีฐาน 2016

ภาพจาก : อินโดรามา
ภาพจาก : อินโดรามา

บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100%

“ปราชญ์” กล่าวต่อว่า ในสิ้นปี 2564 กำลังตั้งเป้าหมายใหม่แบบ science based targets หรือเป้าหมายอิงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายข้อตกลงปารีสที่จะทำให้โลกร้อนไม่เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ที่ผ่านมาเราดำเนินการในโรงงานของเราแล้ว ต่อไปจะโฟกัสไปที่ซัพพลายของเราหรือในส่วนที่เราไม่ได้ควบคุมเอง เช่น เรือทูน่า เรือประมง อื่น ๆ เพราะแน่นอนว่ากลุ่มนี้มีการใช้พลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ ก็จะทำงานร่วมกับซัพพลายทั้งในและต่างประเทศ

“ขณะเดียวกัน ในเรื่องของพลาสติกก็มีการทำงานด้าน global ghost gear initiative (GGGI) สนับสนุนการแก้ปัญหาลดขยะพลาสติก และลดซากอุปกรณ์ประมง การสูญเสียหรือทิ้งอุปกรณ์ประมงลงทะเลทั่วโลก”

“นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายอีกว่า ภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ไทยยูเนี่ยน 100% ต้องรีไซเคิลได้ ย่อยสลายได้ทั้งหมด รวมถึงอย่างน้อยสิ่งที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ 30% ต้องมาจากรีไซเคิลคอนเทนต์ ไม่ว่าจะกระดาษ พลาสติก โลหะ ฯลฯ”

ตรงนี้ก็ครอบคลุมการจัดการขยะในท้องทะเลด้วยเช่นกัน