กรณีศึกษา SCB สู่การปรับองค์กร

SCB
เอชอาร์ คอร์เนอร์

พิชญ์พจี สายเชื้อ

ข่าวการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ของ SCB สร้างความตื่นเต้น (แต่ไม่แปลกใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าองค์กรใหญ่ยังไง ๆ ต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนแค่ไหน อย่างไร เป็นอีกเรื่อง) ที่ตื่นเต้นนั้นเพราะเป็นการปรับอย่างพลิกโฉมเลยทีเดียว องค์กรที่ทำได้ต้องมีความกล้า (ที่จะเปลี่ยนแปลง) อย่างมาก รวมทั้งต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน

แต่อย่างที่บอกค่ะ การเปลี่ยนตอนนี้มีข้อได้เปรียบเพราะ “มันมีเหตุที่ต้องเปลี่ยน” (change for change) ชัดเจน ได้แก่ แรงขับเรื่องธุรกิจหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ? การเข้าสู่ the next normal หรือการถูกดิสรัปต์อย่างมหาศาลจากเทคโนโลยีที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ที่สำคัญคือการ “ไม่” ปรับเปลี่ยนของกฎระเบียบต่าง ๆ ของภาครัฐ (ที่ยังมีความไม่ยืดหยุ่น ไม่เหมาะกับยุคสมัย เป็นต้น) ทำให้การยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงไม่ยากเหมือนสมัยก่อน

เรื่องของ SCB นี้นำมาสู่บทความที่ดิฉันอยากนำมาแชร์วันนี้คือ บทความของ McKinsey ที่ให้คำแนะนำสำหรับการเป็นองค์กรในอนาคตเรื่อง “8 ways to build a future-proof organization” คิดว่ามีหลายข้อเทียบเคียงกับสิ่งที่ SCB ทำหรือพยายามทำ (ความเห็นส่วนตัวนะคะ) แสดงให้เห็นว่าความจำเป็นที่ต้องปรับองค์กรสำหรับอนาคตไม่ใช่เรื่องไกลตัวองค์กรในเมืองไทยอีกต่อไปแล้ว จึงอยากนำมาแชร์เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรต่าง ๆ

บทความได้เกริ่นนำว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ต้องจัดระเบียบใหม่ทุก 2-3 ปี และแต่ละครั้งใช้เวลามากกว่า 18 เดือน ที่เป็นอย่างนี้เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการ “รอดู” ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว (wait and see is not an option) เพราะองค์กรต้องเปลี่ยนเพื่อไปต่อให้ได้ในอนาคต ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไปต่อไม่ได้นั่นเอง

ซึ่งองค์กรที่ไปต่อได้ในอนาคตคือองค์กรที่ปรับตัวเร็ว, ตัดสินใจเร็ว และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงภายนอกอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังต้องมีความยืดหยุ่นต่อโอกาสและความท้าทายด้วย การตัดสินใจทั้งหมดจะเกิดที่หน่วยงานหลัก (front line) และการทำงานจะเป็นแบบ network มีสายการบังคับบัญชาให้น้อยที่สุด โดยในบทความได้ให้คำแนะนำว่าจะทำอย่างไร (how) ไว้ 8 ข้อ ดังนี้

1.ให้ความสำคัญกับ “ความเร็ว” อย่างที่ “Jeff Bezos” CEO ของ Amazon เคยบอกว่า เขาให้ความสำคัญกับการตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาที่ต้องเร็วมาก ๆ เขาบอกว่า “ต้นทุนของการตัดสินใจช้าสูงกว่าการตัดสินใจผิดมากมายนัก”

2.ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้ “กลยุทธ์ใหม่” เพราะกลยุทธ์ใหม่ต้องนํามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และไม่มีจุดสิ้นสุดด้วย (คือกลยุทธ์ต้องมียืดหยุ่น เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน ไม่ต้องนึกว่าจะหาจุดหยุดได้ เพราะมันไม่มีแล้ว โลกเปลี่ยนตลอดเวลา)

3.ต้องตัดสินใจ “เรื่องใหญ่” และ “เรื่องเร่งด่วน” ก่อน อย่ารอ ส่วนเรื่องเล็ก ๆ กระจายอำนาจไป

4.ต้อง “ปรับโครงสร้างใหม่ให้เร็วและชัดเจน” การที่องค์กรมีโครงสร้างแบบเชื่อมต่อ (network) มากเท่าไหร่ และยิ่งมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพสูงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น (เพราะองค์กรแบบนี้จะสนับสนุนเรื่องความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยน การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาไม่ต้องรอตามสายการบังคับบัญชา)

5.ต้องปรับ “talent program” ให้เหมาะสมกับองค์กรและความต้องการ โดยนำ “analytic tool” มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาคนได้ดียิ่งขึ้น

6.”ปรับเปลี่ยนโมเดลของผู้นำในองค์กร” คนที่มีความเป็นผู้นำจะเป็นใครก็ได้ในองค์กร เพราะในองค์กรที่มีความ agile แล้ว ผู้นำจะนำโดยการสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ลูกน้องศรัทธามากกว่าที่จะสั่งหรือควบคุมลูกน้อง ผู้นำต้องแก้ปัญหาในองค์รวมได้ เราต้องการผู้นำแบบนี้สำหรับอนาคต

7.ต้องเลือก “ใช้วิธีการที่หลากหลาย” ในการบริหารองค์กร องค์กรที่ดีต้องสามารถที่จะเดินต่อไปในอนาคตได้ด้วยการใช้วิธีที่ง่ายแต่หลากหลาย (ซึ่งต่างจากองค์กรแบบเดิมที่ชอบใช้วิธีที่ซับซ้อนวุ่นวาย)

8.ต้องปลูกฝัง “ค่านิยมและวัตถุประสงค์องค์กร” รวมทั้งให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสังคมด้วย องค์กรในอนาคตจะเน้นการทำงานให้สอดคล้องกับค่านิยมและวัตถุประสงค์องค์กร ผู้บริหารจะอิงกับหลักการดังกล่าวในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ โดยองค์กรต้องเน้นในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างคุณค่า (ที่ครอบคลุมถึงปัจจัยด้านสังคม ซึ่งคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมาก)

สุดท้ายนี้ดิฉันหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้นำองค์กรทุกท่าน และขอให้ดำเนินการอย่างราบรื่นนะคะ