ปัญหาแรงงานต่างด้าว ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องกฎหมาย

จากงานเสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย ครั้งที่ 12 หัวข้อ “แรงงานต่างด้าว ช่วยจริงหรือวุ่นวาย” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสะท้อนปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่เรื้อรัง และสร้างความเสียหายแก่ประเทศมาเนิ่นนาน จึงมีการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เห็นสถานการณ์ และแนวทางการแก้ปัญหาหลายเรื่องด้วยกัน

“ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ” ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบของแรงงานข้ามชาติที่ช่วยเข้ามาทำงานในกลุ่มที่แรงงานไทยไม่ทำ เรียกว่า 3 D (dirty, dangerous, difficult) ซึ่งในส่วนนี้อาจมองเป็นผลกระทบในแง่ดีก็ได้ เนื่องจากช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขาดแรงงานในบางส่วน อีกทั้งภาคธุรกิจใช้ต้นทุนด้านแรงงานที่ถูกลงจากการจ้างงานแรงงานต่างด้าว

“ขณะที่ผลระยะยาว หากรัฐบาลยังมีการจัดการที่ไม่ดีพอ หรือขาดการต่อเนื่องในเรื่องของนโยบาย จะส่งผลให้ขัดขวางการดำเนินการนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งการที่ยังคงใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ นอกจากสะท้อนว่าภาคธุรกิจยังหวังพึ่งพาการใช้แรงงาน ยังต้องสู้กับการผันผวนของค่าจ้างแรงงาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีการปรับขึ้นเรื่อย ๆ”

“สุชาติ จันทรานาคราช” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากกล่าวโดยรวมแล้ว แรงงานถือเป็นต้นทุนที่สูงของภาคธุรกิจ ปัญหาแรกคือ เรื่องแรงงานไม่มีผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานจะต้องเร่งในเรื่องของการสร้างความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้น ซึ่งหากสามารถเพิ่มได้เพียง 1% ของแรงงานทั้งหมด จากจำนวนแรงงาน 3.8 ล้านคน จะทำให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลิตผลได้มากขึ้น

“ประเด็นต่อมา คือ เรื่องของแรงงานต่างด้าวมีต้นทุนสูง ทั้งจากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หากเลือกได้ต้องการที่จะใช้แรงงานที่เป็นคนไทยมากกว่า แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือก จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเอื้อในการจัดการต่าง ๆ ให้ง่ายขึ้น เช่น อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว ให้มีต้นทุนที่ถูกกว่ากลุ่มตลาดมืด รวมทั้งยกเลิกอาชีพสงวนบางอาชีพ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้ามาประกอบอาชีพนี้ได้”

เนื่องจากเป็นอาชีพพื้นฐานที่ขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ 1.งานกรรมกร 2.งานกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรือประมง 3.งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น ๆ 4.งานเจียระไน หรือขัดเพชร/พลอย 5.งานทำที่นอน หรือผ้าห่มนวม 6.งานทำรองเท้า 7.งานทำหมวก 8.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 9.งานปั้น หรือทำเครื่องปั้นดินเผา และ 10.งานทำมีด ซึ่งหลาย ๆ อาชีพที่ว่ามาดังกล่าวเป็นข้อจำกัดในการจ้างงาน ทำให้ต้องใช้การเลี่ยงจดทะเบียนอาชีพไปเป็นอาชีพอื่น

“รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ตัวเลขคาดการณ์จำนวนแรงงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งสิ้น 2,711,439 คน เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ/ฝีมือ จำนวน 149,721 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น ถัดมาเป็นประเภทแรงงานฝีมือต่ำ/ไร้ฝีมือ มีจำนวน 2,561,718 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเมียนมา, ลาว และกัมพูชา โดยในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ จำแนกออกเป็นกลุ่ม ม.9 นำเข้าตาม MOU ประมาณ 4.3 แสนคน, ม.9 พิสูจน์สัญชาติ ประมาณ 9 แสนคน, ม.13 ชนกลุ่มน้อย ประมาณ 2.7 หมื่นคน, ม.14 ทำงานตามฤดูกาล 1.5 หมื่นคน และผ่านศูนย์ One Stop Service ประมาณ 1.17 ล้านคน

“คาดว่าภายในสิ้นปี 2560 จะมีแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 3,467,000 คน และจำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งในด้านดี และด้านลบแก่เศรษฐกิจไทย ในด้านดี ผมมองว่าเนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องของโครงสร้างประชากร ที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น วัยแรงงานลดลง ภาคเศรษฐกิจยังคงใช้แรงงานทักษะน้อย แรงงานไทยเลือกงาน”

“โดยปฏิเสธที่จะทำงานที่มีความสกปรก อันตราย และงานที่มีความลำบาก ทำให้ความต้องการแรงงานต่างด้าวยังเป็นที่ต้องการของตลาด เห็นได้จากช่วงปี 2549- 2557 แรงงานต่างด้าวทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวประมาณ 0.16% ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ 5.53%”

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่อดีตมาการจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวยังคงมีปัญหา เนื่องจากเข้ามาแย่งงานแรงงานไทย ทำให้ส่งผลกระทบด้านลบแก่แรงงานไทยถึง 5.37% ส่งผลให้ได้รับค่าจ้างลดลงกว่าที่ควร 4.3% ทั้งในการขาดนโยบายระยะยาวในการจัดระเบียบ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายนำไปสู่ปัญหาค้ามนุษย์

ด้านแนวทางการจัดระบบแรงงาน “รศ.ดร. ยงยุทธ” กล่าวว่า ควรมีการวางยุทธศาสตร์ตั้งแต่การบริหารจัดการแรงงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มแรงงานในประเทศให้เพียงพอ โดยการใช้แรงงานจากพื้นที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม มีการยืดอายุใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ปัจจุบัน รวมถึงเพิ่มคุณภาพแรงงานต่างด้าว โดยให้มีการทดสอบมาตรฐานมาจากประเทศต้นทาง และพิจารณาให้พัฒนาฝีมือแรงงานระหว่างที่ทำงานอยู่ในประเทศ

“รวมไปถึงการควบคุม กำกับดูแลต้องมีความเข้มข้น มีการลงโทษนายหน้าที่นำแรงงานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย นายจ้างที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ละเลยด้วยโทษสูงสุด”

แน่นอนว่าทุกฝ่ายต่างต้องการให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปด้วยดี ทั้งธุรกิจ สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงปลอดภัย สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ เรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย และความเอาจริงเอาจังด้านกฎหมาย