“จ๊อบไทย” แนะเทคนิคตอบ 4 คำถามสัมภาษณ์งานที่ผู้สมัครมักตอบไม่ได้

“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า การสัมภาษณ์งานถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้หางาน เพราะจะเป็นช่วงเวลาตัดสินว่าใครจะได้ตำแหน่งงานนั้นไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้สัมภาษณ์มักจะถามคำถามเพื่อต้องการดูว่าสิ่งที่ผู้สมัครเขียนลงในเรซูเม่นั้นจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังดูทักษะอื่นๆ ที่ต้องใช้ในการทำงาน รวมถึงลักษณะนิสัย และทัศนคติในการทำงานร่วมกับองค์กร แต่บ่อยครั้งที่ผู้สมัครหลายคนมักจะไม่สามารถตอบคำถามได้ดี จนทำให้พลาดโอกาสการได้งานไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งความตื่นเต้น หรือไม่มีการเตรียมตัวที่มากพอ

ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมจึงรวบรวมตัวอย่าง 4 คำถามสัมภาษณ์งานที่ผู้สมัครงานมักตอบไม่ได้ พร้อมเทคนิคการตอบให้โดนใจผู้สัมภาษณ์ ดังนี้

*การแนะนำตัวเอง – เป็นคำถามพื้นฐานที่ผู้สมัครทุกคนต้องเจอ ซึ่งการแนะนำตัวว่า ชื่อ-นามสกุลอะไร อายุเท่าไร พ่อแม่ชื่ออะไร มีพี่น้องกี่คน เรียนจบคณะหรือมหาวิทยาลัยอะไรนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าลืมว่าเมื่อทุกคนเจอคำถามนี้ เราจะตอบอย่างไรให้ดูโดดเด่นและแตกต่าง

สิ่งที่ควรทำคือการแนะนำตัวเองให้องค์กรเห็นว่าเราเป็นผู้สมัครงานที่ดีที่สุด เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวอย่ งไร รวมถึงยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้องค์กรมองเห็นภาพ และรู้สึกสนใจในตัวเรามากยิ่งขึ้น ที่สำคัญควรพูดให้กระชับและเข้าใจง่าย โดยทั่วไปควรใช้เวลาในการแนะนำตัวไม่เกิน 2 นาที

*คำถามที่เกี่ยวข้องกับองค์กร – ผู้สมัครหลายคนจะเริ่มสนใจรายละเอียดเชิงลึกขององค์กรก็ต่อเมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์งานแล้ว แต่การเตรียมตัวศึกษาข้อมูลขององค์กรที่สมัครไว้แต่เนิ่นๆ จะทำให้เราได้เปรียบในการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน

อาทิ ขนาดขององค์กร โครงสร้างการทำงาน วัฒนธรรม การบริหารงาน ผลิตภัณฑ์และบริการ ชื่อเสียงขององค์กร เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด มีความกระตือรือร้นในการสมัครงานและอยากทำงานกับองค์กรนั้นจริงๆ

*คำถามเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน – หลายครั้งที่องค์กรพบว่าผู้สมัครหลายคนจะตอบว่าทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับเนื้องานและสามารถทำได้ แต่พอถูกถามรายละเอียดที่ลึกลงไป กลับตอบได้แต่ภาพกว้างๆ เท่านั้น ไม่สามารถตอบรายละเอียดเฉพาะเจาะจง หรือระบุเป็นขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนได้

สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นคือ การศึกษาข้อมูลและอ่านรายละเอียดของตำแหน่งงานที่สมัคร พร้อมทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือไม่ควรโกหก ถ้าหากรู้สึกไม่มั่นใจหรือไม่เคยทำมาก่อนก็ควรแจ้งกับผู้สัมภาษณ์ตรงๆ

นอกจากนั้น ควรแสดงให้องค์กรเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำตำแหน่งนี้ด้วยการบอกว่า เราพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ยังขาด หรือประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กั บตำแหน่งงานที่สมัครได้อย่างไร

*คำถามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต – ส่วนใหญ่ผู้สมัครหลายคนมักจะบอกถึงผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร แต่จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของคำถามนี้ องค์กรอยากจะทราบว่าผู้สมัครได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้อย่างไร พร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุง และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผิดพลาดนี้เอาไปสอนคนอื่นได้อย่ างไร

คำถามสัมภาษณ์งานลักษณะนี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ได้รู้จักตัวตนของผู้สมัครมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความคิด ทัศนคติ ของผู้สมัคร

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สมัครงาน เพื่อเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์งานในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนตัดสินใจเปลี่ยนงานกันเป็นจำนวนมาก

“แนวคำถามข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้สมัครงานทุกคนต้องพบเจอตอนสัมภาษณ์งาน ดังนั้น หากผู้สมัครงานได้เรียนรู้และมีการเตรียมตัวที่ดี ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการสัมภาษณ์งานมากยิ่งขึ้น และช่วยให้มีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรที่ใฝ่ฝัน”