บริบท SET ในมิติ Care รวมพลังบวกกู้วิกฤตโลกร้อน

ปลูกป่า

ต้องยอมรับว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นอกจากจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงแหล่งลงทุน ที่สำคัญยังเป็นช่องทางการออมและการสร้างดอกผลจากการลงทุนของประชาชนอีกทางหนึ่ง

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯทำหน้าที่ให้บริการความรู้ทางการเงิน และการลงทุนแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป

ดังนั้นตลอดช่วงผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯจึงให้ความสำคัญกับ “ธรรมาภิบาล” (governance) ในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่เมื่อไม่กี่ปีตลาดหลักทรัพย์ฯกลับให้ความสำคัญกับเรื่อง “สิ่งแวดล้อม”(environmental) และ “สังคม” (social) จนเข้าไปผนวกอยู่ในกรอบของการดำเนินธุรกิจ หรือที่รู้จักกันคือ “ESG” (environmental, social, governance)

โดยเฉพาะ “E-environmental” ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยรวม เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดี ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสภาพภูมิอากาศก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จนทำให้สหประชาชาติเข้ามาผลักดันกลุ่มประเทศสมาชิกต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ด้วย ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ผลเช่นนี้จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาตลาดทุน ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ จึงมุ่งหวังอย่างยิ่งที่อยากจะสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 มิติ อาทิ มิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

จนที่สุดจึงเกิดโครงการ “Climate Change Climate Care Collaboration : รวมพลังบวกกู้วิกฤตโลกร้อน” ขึ้น ทั้งนั้นเพื่อสร้างความสมดุลให้แก่โลก และช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนในขณะนี้ โดยผ่าน 3 โครงการหลัก ๆ คือ

หนึ่ง Care the Bear : Change the Climate Change

สอง Care the Whale : ขยะล่องหน

สาม Care the Wild : ปลูกป้อง Plant & Protect

เบื้องต้น “นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพราะเรามองเห็นว่าโลกไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน ยิ่งตอนนี้โลกของเรากำลังประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศ และเราเองก็มองเห็นว่า บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความคิดในการทำเรื่องนี้

นพเก้า สุจริตกุล
นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ยิ่งเมื่อโลกผจญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้มองเห็นหนทางในการแก้ปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่หลาย บจ.ต่างพยายามฟื้นตัวทางธุรกิจ แต่กระนั้นต้องยอมรับว่า บจ.ต่าง ๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้โลกใบนี้ร้อนขึ้นด้วย”

“ที่สำคัญ เรามองเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 รอบนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากการสั่งอาหารจากฟู้ดดีลิเวอรี่ และขยะจากหน้ากากอนามัย”

“ตรงนี้จึงทำให้ดิฉันมองเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะเป็น environmental K-shape change ยิ่งถ้าเราสังเกตจากตัว K จะเห็นว่าขาที่พุ่งขึ้นบนคือตัวแทนของธรรมชาติ และตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ประเทศ ทุกคนหยุดการเดินทางท่องเที่ยว”

“ปรากฏว่าธรรมชาติทุก ๆ ที่ในเมืองไทยต่างบำบัดและฟื้นฟูตัวเองอย่างเงียบ ๆ ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้, สัตว์ป่า, สัตว์ทะเล และอื่น ๆ ขณะเดียวกัน ถ้ามองมาที่ตัว K โดยเฉพาะขาล่าง ตรงนี้คือตัวแทนของมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้กระทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากสั่งอาหารเพิ่มขึ้นถึง 100% ส่วนขยะหน้ากากอนามัยคาดการณ์กันว่าภายในสิ้นปี 2564 น่าจะมีสูงถึง 50 ล้านชิ้น”

“คำถามเกิดขึ้นทันที แล้วเราจะบริหารจัดการอย่างไร ? จะเผาอย่างไร และจะมีใครติดเชื้อจากขยะเหล่านี้หรือไม่ ? สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ทำให้เราคิดและตระหนักอยู่เสมอว่า เราจะทำอย่างไร จนกระทั่งมองเห็นว่าควรเริ่มจากตัวเราก่อน และที่สุดก็เริ่มจากบุคลากรทุกคนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถึงตอนนี้ต้องบอกว่า แทบไม่มีใครใช้กล่องโฟม และก็ไม่มีใครใช้ขวดน้ำพลาสติก ตอนนี้ทุกคนต่างมีแก้วเป็นของตัวเอง จนทำให้ขยะเป็นศูนย์ 100%”

“นพเก้า” กล่าวต่อว่า เมื่อเราจุดประกายจากพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯจนประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงขยายผลไปสู่ฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ โดยในปี 2561 ผ่านมา เราจึงเริ่มโครงการ “Climate Change Climate Care Collaboration : รวมพลังบวกกู้วิกฤตโลกร้อน” ด้วยการทำ 3 โครงการหลัก ๆ

“สำหรับ Care the Bear : Change the Climate Change เราใช้หมีขั้วโลกเป็นสัญลักษณ์ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญ โครงการนี้เราถอดแบบมาจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพราะเขามีการวัดเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ออร์แกไนเซชั่น โปรดักต์ และคาร์บอนฟุตพรินต์ อีเวนต์ ออร์แกไนเซชั่น”

“พูดง่าย ๆ ว่า เราไปดูแล้วเห็นว่ายังไม่ค่อยมีใครทำ ก็เลยดึงมาทำ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ายากมาก จากนั้นเราก็ขายความเชื่อที่เรามี บวกกับ บจ.ต่าง ๆ ที่เขาทำ CSR อยู่ก่อนแล้ว และเห็นว่าทางตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสนใจเรื่องนี้มาก พวกเขาก็เลยมาเป็นพันธมิตรกับเราในการลดการใช้โฟมก่อน”

ต่อจากนั้นเราสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการจัดกิจกรรมทุกรูปแบบ มีให้คำปรึกษา วางแผน ออกแบบ อบรม และให้บริการ web based GHG calculator platform เพื่อใช้คำนวณการปล่อยก๊าซอย่างง่าย ๆ แต่นำไปใช้ได้จริง ปัจจุบันเรามีพันธมิตรเกือบ 200 องค์กร ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์แล้ว 10,783 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการดูดซับ CO2/ปี ของต้นไม้ จำนวน 1,198,136 ต้น หรือเทียบเท่ากับการดูดซับ CO2/ปี ของป่าสมบูรณ์ จำนวน 10,783 ไร่

“นอกจากนั้นในส่วนของการสร้างกิจกรรม 6 เรื่องสำหรับการดูแลใน web based GHG calculator platform เราจะใส่เรื่องของการไม่ใช้โฟม, ไม่ใช้กระดาษและขวดพลาสติก, ลดพลังงานไฟฟ้า, ใช้วัสดุธรรมชาติแทนการทำแบล็กดรอป และเดินทางด้วยรถสาธารณะ ดิฉันมองว่า Care the Bear มีความน่ารักตรงที่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ตอนนี้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯใครถือโฟมมาบนตึกไม่ได้เลย แม้แต่ถุงพลาสติกตอนนี้ก็ไม่มีใครใช้เลย”

ที่สำคัญ ในส่วนของ Care the Bear จะมีบริการฟรีคอยให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ อาทิ E-AGM การประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, executive meeting, online event, online service และการมอบรางวัลต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสามารถเข้าไปกรอกได้ที่ web based GHG calculator platform

ถึงตรงนี้ “นพเก้า” จึงเล่าต่อว่า สำหรับโครงการ Care the Whale : ขยะล่องหน เราใช้ปลาวาฬเป็นสัญลักษณ์ เนื่องจากครั้งหนึ่งมีข่าวปรากฏว่าปลาวาฬขึ้นมาเกยตื้นตาย พอผ่าท้องออกมาก็พบขยะพลาสติกอยู่ในท้องถึง 8 กิโลกรัม นับเป็นข่าวที่สลดใจมาก เราจึงนำปลาวาฬมาเป็นสัญลักษณ์ของโครงการ เพราะดั่งที่ทราบอาคารของตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมอยู่มาก

“ที่สำคัญ อาคารของเราตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก บ้านเลขที่ 93 เราจึงเกิดความคิดในการเชิญชวนเพื่อนบ้านของเราที่ตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันมาทำโครงการนี้ เริ่มจากทางด้านซ้ายมือสุดของเราไปจนถึงขวามือสุด ซึ่งบริเวณนี้จะมีธุรกิจอยู่ 3 ประเภทคือออฟฟิศบิลดิ้ง, ศูนย์การค้า และเรซิเดนต์

โดยเราจะเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ชักชวนกันมาทำโครงการกับเรา ปรากฏว่าเพื่อนบ้านทุกคนสนใจมาก ส่งคนมาดูงาน มาทำเวิร์กช็อป และมาลงมือกันทำ ทั้งในส่วนของ facility management, การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และการคัดแยกขยะ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ไปในตัว”

“และตอนนี้เราขยายพันธมิตรไปที่ศาลายา, เพลินจิต, พระราม 4, คลองเตย, เพชรบุรีตัดใหม่, วัชรพล และสมุทรปราการ ซึ่งสำนักงานของเพื่อนบ้านทุกคนที่เข้าร่วมโครงการกับเราจะทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ไปในตัวด้วย ผ่านมา หลังจากเรารณรงค์โครงการ”

“ปรากฏว่าทุกอาคารมีการคัดแยกขยะชัดเจนขึ้น ที่ไม่เพียงจะลดต้นทุน เพราะเราติดต่อบริษัทในพันธมิตรของเรามาขนขยะเหล่านี้ เพราะบางส่วนเป็นขยะมีพิษ บางส่วนเป็นขยะอันตราย และบางส่วนก็เป็นขยะจากของเหลือทิ้ง พวกเราทุกบ้านจะมาแชร์ต้นทุนในการขนย้ายแต่ละครั้ง ที่ไม่เพียงราคาจะถูกลง ยังถูกกำจัดขยะอย่างถูกต้องด้วย”

“นอกจากนั้นเรายังมีน้อง ๆ ที่มาจากโครงการ SE (social enterprise) ที่ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วยออกแบบ และเริ่มโครงการด้วยกัน ทั้งยังมีพันธมิตรอื่น ๆ ที่อยู่ย่านอื่น ๆ มาร่วมขับเคลื่อนโครงการด้วย ปรากฏว่าหลังจากทำโครงการผ่านไปสักระยะ เราสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะและคัดแยกขยะได้ถึง 10,218 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการดูดซับ CO2/ปี ของต้นไม้ จำนวน 1,135,370 ต้น”

ขณะที่ในส่วนของโครงการล่าสุด Care the Wild : ปลูกป้อง Plant & Protect “นพเก้า” เล่าให้ฟังต่อว่า โครงการนี้เราใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ชื่อว่า “ปลูกป้อง” เพราะ “ช้าง” แทนความหมายในความสมบูรณ์ของผืนป่าตามธรรมชาติ ที่สำคัญ จากข้อมูลที่ได้รับพื้นที่ป่าในประเทศไทยตลอดช่วง 5 ปีผ่านมามีจำนวนค่อนข้างคงที่ คือมี 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.5 จากพื้นที่ป่าทั้งหมด 322 ล้านไร่

“แต่ในความเป็นจริง ถ้าพื้นที่ป่าเกิดความสมดุลจริง ๆ ควรจะต้องมีพื้นที่ป่า 128 ล้านไร่ หรือร้อยละ 40 ถึงจะเกิดความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ผลตรงนี้จึงทำให้เราฉุกคิด และเกิดความคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะทำโครงการแล้วเกิดความสมบูรณ์ของผืนป่า อย่างแรกเลยเราต้องดูแลรักษาป่าอนุรักษ์ให้คงอยู่ จากนั้นถึงจะมาเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าภาครัฐ ป่าชุมชน ป่าของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และป่าภาคเอกชน ก่อนที่จะชักชวน บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯมาร่วมกันทำ”

“โดยมีหลักการ และแนวคิดในการทำโครงการ Care the Wild : ปลูกป้อง Plant & Protect ด้วยการระดมทุนเพื่อปลูกป่าใหม่ ปลูกป่าเสริม และส่งเสริมการดูแลป่า ดังนั้นคณะทำงานของเราถือเป็น collaboration platform ที่มาจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคสังคมในการทำงานร่วมกับธรรมชาติ”

“ทั้งนั้นเพื่อให้การพัฒนาอยู่บนเส้นทางเดียวกับความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำว่าปลูกคือปลูกไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า, ป้องคือปกป้องผืนป่าด้วยกลไกธรรมาภิบาลป่าไม้ เพราะนอกจากจะมีการเปิดเผยข้อมูลผู้ให้ทุน และผู้ปลูก ยังมีการติดตามการเติบโตของป่า ผ่าน application Care the Wild ในระยะเวลา 6 ปีในเบื้องต้น แต่ต่อไปอาจขยายเป็น 10 ปี, ส่วนปลูกคือปลูกไม้ให้ได้ป่า และปลูกแล้วต้นไม้ต้องรอด 100%”

“ดังนั้นโครงการนี้จึงเริ่มจากแผนระดมทุนในการหาเงิน, แผนออกแบบพื้นที่, แผนระบบน้ำ, แผนชุมชน, แผนการตรวจแปลง และรายงาน, แผน application innovation, แผนการถอดบทเรียนความรู้ และแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อต่อยอดโครงการต่อไป ฉะนั้นเราจึงมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทเอกชนหลายรายมาร่วมโครงการกับเรา”

“แต่กระนั้นพื้นที่ปลูกต้นไม้ต้องมีเอกสารสิทธิ และมีกฎหมายรองรับในเรื่องป่าชุมชนด้วย ผลตรงนี้จึงทำให้เราจับมือกับกรมป่าไม้เพื่อนำพื้นที่ป่าชุมชนมาให้เราเลือก ที่สำคัญ ชุมชนต้องเห็นคุณค่าของป่า และต้องมาช่วยดูแลป่า และช่วยรดน้ำต้นไม้ด้วย”

“หลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2563 ผ่านมา เราปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 30,000 ต้น ในอาณาบริเวณทั้งหมด 150 ไร่ ใน 5 จังหวัด ทั้งผืนป่าต้นน้ำภาคเหนือ (จ.เชียงราย และน่าน) ภาคกลาง (จ.เพชรบุรี และราชบุรี) และภาคอีสาน (จ.มหาสารคาม) รวมทั้งยังติดตามการเติบโตร่วมกับกรมป่าไม้เพื่อให้ต้นไม้มีอัตรารอด 100% ตามเป้าหมายโครงการ เพราะทุก 6 เดือนจะมีรายงานจากเจ้าหน้าที่ชุมชนเข้ามา ด้วยการถ่ายภาพต้นไม้, วัดความสูงของต้นไม้, วัดความกว้าง และตรวจสอบคาร์บอนฟุตพรินต์ตลอดเวลา”

“นพเก้า” บอกต่อว่า ดังนั้น impact return จึงไม่ใช่แค่ป่าอย่างเดียว แต่จะเป็นรายได้ของชุมชน ตัวเลขการย้ายถิ่นที่ลดลง การสร้างอาชีพ เพราะต้นไม้ที่ปลูกจะมาจากความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ที่สำคัญ ตอนนี้เรากำลังหาตัวบ่งชี้ (indicator) มาวัด เพราะอนาคตเราจะนำนวัตกรรมมาใช้ เรามี SE innovation ที่เขานำตะปูยิงเข้าไปที่ต้นไม้แต่ละต้น

“ดังนั้นพอต้นไม้โต ตะปูจะฝังไปกับต้นไม้ และจะส่งข้อมูลเอไอเข้ามาในระบบตรวจสอบทางคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินสภาพของต้นไม้ว่าสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าไม่สมบูรณ์เราจะปลูกทดแทน ขณะเดียวกัน ก็ยังรายงานสภาพป่าโดยรวมว่าเป็นอย่างไรบ้าง เครื่องมือดังกล่าวนี้ใน สปป.ลาว, กัมพูชาทำมาก่อนเรา เพราะมีพวกยุโรปเขามาทำโปรเจ็กต์ให้กับประเทศเหล่านี้ แต่ของเรากำลังจะให้คนรุ่นใหม่ที่ทำ SE innovation เป็นคนทำ ดิฉันคิดว่าไม่นานเทคโนโลยีน่าจะนำไปใช้กับผืนป่าชุมชนที่เราปลูกได้”

เพราะดั่งที่บอกโครงการ “Climate Change Climate Care Collaboration : รวมพลังบวกกู้วิกฤตโลกร้อน” ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนบนโลกใบนี้ ดังนั้นการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯออกมาทำเรื่องพวกนี้ จึงอยากเชิญชวน บจ.และภาคธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงภาครัฐและภาคประชาชนมาร่วมมือกันสร้างโลกของเราให้กลับมาสวยงามดุจดังเดิม


จึงนับเป็นโครงการที่น่าสนใจทีเดียว