Care the Wild ปลูกปกป้องผืนป่าลดโลกร้อน

ปลูกต้นไม้

โลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินขีดความสามารถในการดูดซับของธรรมชาติ โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้พลังงานโดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากเกินไป ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

อันเกิดจากการทำกิจกรรมทางธุรกิจของหลาย ๆ ภาคส่วน ผนวกกับการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและรองรับการขยายตัวของเมืองมากขึ้น

ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันรับผิดชอบในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในการช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการปลูกป่านั้นต้องใช้เวลาในการปลูกเป็นระยะเวลาหลายปีกว่าที่จะเติบโตได้

จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เชิญชวนพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ร่วมกันรักษาระบบนิเวศป่าด้วยการผลักดันโครงการ “Care the Wild : ปลูกป้อง Plant & Protect”

ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ด้วยรูปแบบการระดมทุนเพื่อปลูกป่าใหม่ ปลูกป่าเสริม และส่งเสริมการดูแลป่าโดยใช้หลักการธรรมาภิบาลป่าไม้คือ การสร้างความโปร่งใสในกระบวนการปลูก ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลผู้ให้ทุน ผู้ปลูก และสามารถติดตามการเติบโตของป่าได้โดยผ่านแอปพลิเคชั่น Care the Wild ซึ่งมีเป้าหมายในการดูแลติดตามเป็นระยะเวลา 6 ปี และต้นไม้ในป่าแต่ละแห่งจะต้องอยู่รอด 100%

“นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า เกิดจากการที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ค่อยทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพบว่าสถานการณ์ป่าไม้ในขณะนี้

จากข้อมูลของกรมป่าไม้ ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.5 จากพื้นที่ป่าทั้งหมด 322 ล้านไร่ แต่ในความเป็นจริงถ้าจะให้พื้นที่ป่าเกิดความสมดุลควรต้องมีพื้นที่ป่า 128 ล้านไร่ หรือร้อยละ 40 ถึงจะเกิดความสมดุลตามธรรมชาติ ตอนนี้เรายังขาดอีกประมาณเกือบ 30 ล้านไร่จึงจะถึงเป้าหมายดังกล่าว

“แม้ในช่วงหลังภาครัฐพยายามออกกฎหมายควบคุมป่า แต่กฎหมายเหล่านั้นอาจยังไม่พอ จึงเป็นที่มาที่เราต้องร่วมมือกันช่วยดูแลผืนป่า และต้องรีบดำเนินการทันทีเพราะกว่าที่ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้นั้นใช้เวลาหลายปี”

สำหรับการดำเนินโครงการจะแบ่งข้อต่อออกเป็น 3 ข้อคือ

ข้อต่อแรก การร่วมกับสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ซึ่งการจะเข้าไปทำงานร่วมกับป่าชุมชนได้จำเป็นต้องรู้ข้อมูลพื้นที่ ข้อระเบียบกฎหมายต่าง ๆ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศกว่าหลายหมื่นแห่ง

ข้อต่อสอง ภาคธุรกิจมาช่วยสนับสนุนทุนในการปลูกต้นไม้ และสนับสนุนคนในพื้นที่ช่วยกันพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ

ข้อต่อสาม การร่วมมือกับคนที่มีอินโนเวชั่นเรื่องป่า เพราะเราจะต้องนำโนว์ฮาวจากเขามาใช้ เช่น กลุ่มเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม, ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม, นักวิชาการต่าง ๆ มาช่วยขับเคลื่อนโครงการอันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้โครงการเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

“ยกตัวอย่าง พื้นที่นำร่องป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว หมู่ 2 ต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี พื้นที่แห่งนี้เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์กรภาคตลาดทุนให้ปลูกจำนวน 2,000 ต้น บนพื้นที่ 10 ไร่”

“พร้อมกับวางระบบน้ำ ติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำไปยังแท็งก์น้ำ และต่อท่อสายน้ำหยดไปยังโคนต้นไม้ทุกต้น เพื่อให้ต้นไม้ได้รับน้ำในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากพื้นที่มักประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจากผลการติดตามล่าสุดในปีนี้พบว่าต้นไม้ทุกต้นเฉลี่ยแล้วอัตรารอดตายอยู่ที่ 96% และต้นไม้ทุกต้นมีความสูงเพิ่มขึ้น 2-3 เมตร”

อย่างไรก็ตาม นับแต่เริ่มโครงการตลาดหลักทรัพย์ฯร่วมมือกับพันธมิตรมาช่วยปลูกป่าในหลายพื้นที่ รวมถึงการร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินการในพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน อ.เมือง จ.ราชบุรี และป่าชุมชนบ้านพุตูม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

“นัยนา ยังเกิด” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้วยบทบาทความรับผิดชอบในฐานะสถาบันการเงินที่มุ่งมั่นสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ กรุงศรีจึงเข้าร่วมโครงการ Care the Wild โดยให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาแอปพลิเคชั่น รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมปลูกป่า

“ซึ่งได้ดำเนินการ 2 พื้นที่ ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน จ.ราชบุรี เราสนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 แสนบาทเพื่อปลูกต้นไม้ในพื้นที่ 10 ไร่ จำนวน 2,000 ต้น ครั้งนั้นเริ่มสำรวจและดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 โดยมีไม้ป่าและไม้ผลกินได้

ซึ่งจำนวนต้นไม้ที่ช่วยกันปลูกนี้คาดว่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 18,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนสามารถเก็บพืชจากป่านำมาต่อยอดสร้างรายได้อีกด้วย”

“รวมถึงพื้นที่ล่าสุด ป่าชุมชนบ้านพุตูม จ.เพชรบุรี เริ่มดำเนินการสำรวจและปลูกเมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ 2,248 ไร่อนาคตจะมีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป แต่ที่ผ่านมามักประสบปัญหาไฟป่าและการบุกรุก

จึงได้ร่วมกันเข้ามาดำเนินการปลูกต้นไม้เสริมทดแทนกว่า 2,230 ต้น ครอบคลุมพื้นที่ 16 ไร่ ซึ่งจากการคาดการณ์จำนวนที่ปลูกน่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 20,070 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้”

ขณะที่ “ดร.ชัยรัตน์ จันทรศาลทูล” ผู้แทนจากกรมป่าไม้ กล่าวเสริมว่า ป่าชุมชนบ้านพุตูมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมป่าไม้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ในอดีตเคยเป็นเหมืองแร่แกรนิตเก่าที่ได้สัมปทานไปนานแล้ว

และปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่และนักอนุรักษ์หลาย ๆ กลุ่มกำลังรวมตัวกันปกป้องป่าผืนนี้ และร่วมกันพัฒนาเป็นป่าชุมชน เนื่องจากมีความเสื่อมโทรมมากจากการถูกบุกรุกและไฟป่าที่มาในฤดูแล้งทุก ๆ ปี

“ปัจจุบันสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ป่าโปร่ง มีไม้เล็กน้อยขึ้นอยู่ประปราย โดยทั่วไปเป็นเชิงเขา มีอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ป่าใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ค่อนข้างหนาแน่น แต่ก็ยังมีบริเวณเสื่อมโทรมที่ต้องมีการปลูกเสริมจำนวนมาก

จึงได้นำไม้พะยูง, สัก, ตะเคียน, หว้า, มะค่าโมง, ประดู่, ขี้เหล็ก, ยมหอม, ยางนา, เหรียงป่า, มะขามป้อม มาปลูก พร้อมกับติดตั้งปั๊มน้ำด้วยการวางแนวสายท่อและท่อน้ำหยดเพื่อให้น้ำจากฝายอ่างเก็บน้ำไปยังบริเวณโคนต้นไม้ทุกต้น เพื่อลดปัญหาแล้ง และวางแผนกำหนดการปล่อยน้ำทุกวัน”

“การทำอย่างนี้จะช่วยให้มีน้ำรดต้นไม้ตลอดปี จนกว่ากล้าไม้จะแข็งแรงและเติบโตได้ต่อไป ทั้งยังช่วยลดอัตราการตายของกล้าไม้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจากการสำรวจร่วมกับชุมชนล่าสุดยังพบว่าผลลัพธ์การเติบโตยังดี อัตราการรอดตายอยู่ที่ 95% แต่ต้องคอยดูแลต่อเนื่อง หากพบว่าต้นไม้ตายจะมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ๆ”

ทั้งนั้น เพื่อให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ต่อไป