Care the Wild ปลูกป่าน่าน ลดภาวะโลกร้อน

ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าในประเทศไทยมีจำนวนคงที่คือ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.6 จากพื้นที่ประเทศทั้งหมด 322 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2562 0.04% ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีพื้นที่ป่า ร้อยละ 40 เพื่อให้เกิดพื้นที่ป่าที่แท้จริง

ซึ่งป่าไม่เพียงจะสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate changes) อันเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำทั่วโลกกำลังพยายามร่วมกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ด้วยเหตุนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) หรือ SET ผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนให้เกิดประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม จึงตอกย้ำวิสัยทัศน์ To Make the Capital Market “Work” for Everyone ผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลของโลกตามกรอบเป้าหมายแห่งสหประชาชาติ (UNSDG Goal) ในข้อ 13 climate action และขับเคลื่อนการทำงานด้วยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนตามเป้าหมายข้อ 17 partnership for the goal

ภายใต้โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” มาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศด้วยการนำร่องภาคเหนือ, ภาคกลาง และภาคอีสาน โดยล่าสุด SET และผู้สนับสนุนลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าที่ป่าชุมชนบ้านนาหวาย หมู่ 8 ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน

“นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” มีกลไกขับเคลื่อนด้วยการระดมทุน เพื่อการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ โดยผ่านภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

นพเก้า สุจริตกุล
นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โครงการมีองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ 1) กระบวนการในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากป่าไม้ 2) ความมีส่วนร่วมของผู้ร่วมโครงการ 3) กระบวนการติดตาม ประเมินผลการปลูก และร่วมดูแลป่าไม้ 4) กระบวนการร่วมขยายผลที่เกิดจากป่าและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ทั้งนี้ มีสัญลักษณ์โครงการเป็นช้างรักษ์ป่า ชื่อ “พี่ปลูกป้อง” ที่คอยให้ข้อมูลเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศพืช สิ่งแวดล้อม และร่วมระดมทุนปลูกต้นไม้

“เราเน้นการร่วมดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโต รอดและเติบโต 100% จนกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิดป้อง หลังจากมีผู้บริจาคเงินเพื่อการปลูกต้นไม้ ต้นละ 200 บาท องค์กรผู้ยื่นแบบความจำนงขอระดมทุนเพื่อปลูกป่าจะนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของต้นไม้, สถานที่ปลูก, วัน, เดือน และปีที่ปลูก

รวมถึงมีการรายงานความคืบหน้าของผลการปลูก และการเติบโตของต้นไม้เป็นระยะทุก 6 เดือนผ่านแอปพลิเคชั่น Care the Wild ผู้ให้ทุนสามารถเรียนรู้การเติบโตของต้นไม้ การทำงานของชุมชน และการมีส่วนร่วมในการขยายผลเพื่อพัฒนาชุมชน”

ป่าชุมชนบ้านนาหวาย หมู่ 8 ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อปลูกต้นไม้จำนวน 100 ไร่ แบ่งเป็น 2 แปลง คือ แปลงที่ 1 จำนวน 80 ไร่ ตั้งอยู่ที่บริเวณห้วยฮ้อ ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน แปลงที่ 2 จำนวน 20 ไร่ อยู่ในเขตป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ พื้นที่ดอยเขาลม

ซึ่งผู้ที่ให้ความช่วยเหลือจากองค์กรภาคตลาดทุนประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO), สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย (KAsset) และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด (The Mall) ร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนงบประมาณแก่โครงการ Care the Wild

โดยมีกรมป่าไม้ยื่นความจำนงเป็นองค์กรผู้ปลูกด้วยการทำงานร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านนาหวาย และสมาชิกหมู่บ้านร่วมปลูกป่าและติดตามรายงานผลการเติบโตของผืนป่าแห่งนี้ตลอดระยะเวลา 6 ปี ซึ่งเริ่มปลูกเมื่อกรกฎาคม 2564

“โครงการนี้นอกจากทำที่ จ.น่านแล้ว ในภาคเหนือยังทำที่ป่าดอยอินทรีย์ จ.เชียงราย และป่าชุมชนบ้านใหม่ จ.เชียงราย ภาคกลาง ป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาว จ.สุพรรณบุรี ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน จ.ราชบุรี และป่าชุมชนบ้านพุตูม จ.เพชรบุรี ส่วนภาคอีสาน ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม”

“นพเก้า” กล่าวด้วยว่า 1 ปีผ่านมาโครงการมีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีสัดส่วนต้นไม้ที่รอดมากกว่า 80% ซึ่งชุมชนมีการปลูกเสริมต้นที่ตายต่อเนื่อง และการมาสำรวจป่าชุมชนบ้านนาหวายครั้งนี้เรายังมอบฝายและเครื่องดับไฟป่าด้วย เพราะตอนนี้กำลังเข้าสู่หน้าแล้งเราจึงมีการทำระบบน้ำหยดเพื่อรดต้นไม้และวางแผนจะสร้างธนาคารน้ำใต้ดินรองรับปัญหาความแห้งแล้งที่จะมาถึง

“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของโครงการนี้ คือ การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างภาคเอกชน ชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ สร้างป่าและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในปีหน้าเราจะขยายไปปลูกต้นไม้ในป่าชุมชนอื่น ๆ ต่อไป”

“ไตรสรณ์ วรญาณโกศล” นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) กล่าวว่า นอกจากบริษัทจดทะเบียนจะมีบทบาทในการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ หน้าที่อีกด้านที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการที่โลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ

ไตรสรณ์ วรญาณโกศล
ไตรสรณ์ วรญาณโกศล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA)

“ต้นไม้เป็นตัวช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีที่สุด โครงการนี้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ ถึงแม้การแก้ปัญหานี้อาจต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ดีกว่าการที่ไม่เริ่มลงมือทำ และปล่อยให้สายเกินไป”

“การที่ป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เช่น สัตว์ป่า ดิน น้ำ อากาศ นอกจากนั้น เมื่อขาดต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้ น้ำก็จะไหลบ่าท่วมบ้านเรือนและที่ลุ่มในฤดูน้ำหลาก พอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำซึมใต้ดินไว้หล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธาร ทำให้แม่น้ำมีน้ำน้อยจนส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม”

“นันทนา บุญยานันต์” ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านนาหวายซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุม 520 ไร่ ดังนั้น การปลูกป่าจำนวน 80 ไร่ ด้วยต้นไม้กว่า 16,000 ต้น จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 144,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างแหล่งอาหาร เพิ่มพื้นที่ป่า ลดแล้ง เพิ่มความสมบูรณ์ให้แหล่งต้นน้ำไหลสู่แม่น้ำน่าน สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านนาหวายกว่า 4,165 ครัวเรือน อีกทั้งยังส่งผลให้ได้ใช้ประโยชน์จากต้นน้ำเพื่อการเกษตรที่สมบูรณ์ สร้างพืชเศรษฐกิจให้ชุมชน สร้างอาชีพจากเกษตรแปรรูป เช่น มะขามแช่อิ่ม เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย”

“สมหวัง แสงวันเพ็ญ” ผู้ใหญ่บ้านและประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านนาหวาย กล่าวว่า ชุมชนต้องการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการพัฒนาเป็นแหล่งสมุนไพรของชุมชน และสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่

“พันธุ์ไม้ที่ต้องการจะปลูก ได้แก่ ไม้ป่ายืนต้น เช่น ไม้ประดู่, ไม้มะค่าโมง, ไม้พยูง, งิ้วดอกแดง, ไม้สัก, มะขามป้อม, ตาว, พืชวนเกษตร และไม้ผล ส่วนประเภทต้นไม้ ได้แก่ มะม่วง, มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์, มะม่วงหิมพานต์, ไผ่ซางหม่น, เงาะ, ลิ้นจี่, ลำไย, อะโวคาโด, กาแฟ ฯลฯ”


นับว่าเป็นโครงการที่เน้นการร่วมดูแลต้นไม้ที่ให้เติบโตจนกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง ทั้งยังร่วมทำงานกับชุมชน สร้างส่วนร่วมในการขยายผลให้ต้นไม้เติบโตจนกลายเป็นส่วนสำคัญของการขยายแนวผืนป่าของประเทศต่อไป