ธุรกิจครอบครัว ปรับตัวเพื่อสร้างความแตกต่าง

ต้องยอมรับว่า “ธุรกิจครอบครัว” หรือ “family businesss” เป็นความท้าทายของเจเนอเรชั่น 2 และ 3 อย่างยิ่ง เพราะพื้นฐานการทำธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากยุคก่อตั้ง หรือยุคบุกเบิกตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ-แม่ แต่เมื่อถึงรุ่นลูก และรุ่นหลาน ปรากฏว่าหลายครอบครัวกำลังประสบปัญหา เนื่องจากทายาทไม่อยากทำธุรกิจ หรือสานต่อธุรกิจครอบครัว

เนื่องจากไม่มีความถนัดจัดเจนในธุรกิจหลัก หรือบางครอบครัวอยากทำธุรกิจอื่น เสมือนเป็นการ “สร้างดาวคนละดวง” จนทำให้ธุรกิจครอบครัวจำต้องเปลี่ยนมือไปสู่การจ้าง “มืออาชีพ” เข้ามาบริหารแทน หรือบางครอบครัวอาจล้มเลิกกิจการเลยก็มี

ยิ่งเฉพาะในช่วงโควิด-19 อย่างนี้ด้วย

ฉะนั้น การบริหารธุรกิจครอบครัวจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากในต่างประเทศ “ธุรกิจครอบครัว” ล้วนต่างปรับตัวเพื่อ “สู้” กับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

“ณฤทธิ์ โกสลาทิพย์” กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้ามองภาพธุรกิจครอบครัวของสหรัฐอเมริกาจะพบว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

โดยปี 2564 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐกว่า 64% มาจากธุรกิจครอบครัว ทั้งยังมีอัตราการจ้างงานสูงถึง 62% ที่สำคัญ ยังพบว่าอัตราการจ้างงานในสหรัฐอเมริกา 62% มาจากธุรกิจครอบครัวเช่นเดียวกัน

“นอกจากนั้น การจัดอันดับของฟอร์จูน 500 ปี 2021 ยังพบว่าประมาณ 35% ที่ถูกจัดอันดับ ต่างเป็นบริษัทที่บริหารโดยครอบครัว จึงเห็นชัดเจนว่าธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก

เพราะบางองค์กรมีอายุยาวนานถึง 100 ปี แต่ยังขับเคลื่อนธุรกิจผ่านทายาทจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน แม้ตอนนี้ธุรกิจครอบครัวกำลังเข้าสู่ยุค modernize หรือยุคสมัยใหม่ก็ตาม แต่ก็พบว่าเจเนอเรชั่น 2-3 ยังคอยกำกับ หรือควบคุมในระดับบริหารอยู่ แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม”

“ผมคิดว่าธุรกิจครอบครัวไทยก็ไม่แพ้ต่างชาติ แม้ลูก ๆ หลาน ๆ จะไปเรียนต่างประเทศ และไม่อยากทำธุรกิจเดิมของครอบครัว แต่กระนั้นก็มีหลายครอบครัวกลับนำวิชาความรู้จากการไปเรียนต่างประเทศมาสานต่อ ทั้งยังเพิ่มนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้าไป

จนทำให้ธุรกิจมีความทันสมัยขึ้น นอกจากนั้น ผมยังมองว่าแม้โควิด-19 จะระบาดในช่วง 2 ปีผ่านมาจนถึงวันนี้ ก็เป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ค่อนข้างดี”

“โดยเฉพาะหลายกิจการที่ดำเนินการมากว่า 50-60 ปี ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง แม้พวกเขาจะใช้เวลา 2-3 ทศวรรษ กว่ากิจการจะเติบโตขึ้น แต่ถ้าหันมามองเจเนอเรชั่น 2-3 ในวันนี้ พวกเขาอาจใช้เวลาเพียง 2-3 ปี ก็อาจชี้วัดความสำเร็จได้แล้ว โดยเฉพาะถ้าพวกเขาทำธุรกิจให้ตรงกับเทรนด์ หรือกระแสต่าง ๆ ก็จะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น”

ขณะที่ “อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” กรรมการบริหาร บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาด้านการบริหารงานบุคคล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่เกิดมหันตภัยไวรัสโควิด-19 ระบาดตลอดช่วง 2 ปีผ่านมา ธุรกิจครอบครัว และธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ดังนั้นถ้ามองแนวทางในการปรับตัวเพื่อ “สู้” กับสภาพการแข่งขัน คงต้องมองทางแก้ 3 เรื่องหลัก ๆ

หนึ่ง ธุรกิจครอบครัวที่เคยเป็นลูกค้าเดิมของสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง ยังต้องช่วยประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป เพราะหากเลิกกิจการ สถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบจากหนี้สูญ

สอง ปรับรูปแบบการทำธุรกิจจากเดิมที่ในระดับบริหารจะมีแต่เพียงคนในครอบครัวเท่านั้น ด้วยการหันมาจัดตั้งบริษัทใหม่ในรูปแบบโฮลดิ้ง (holdings company) คือการดำเนินธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นเป็นหลัก จากนั้นจึงให้ “มืออาชีพ” ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารธุรกิจให้ธุรกิจเติบโต

สาม ปรับรูปแบบการเข้าถึงแหล่งเงินด้วยการ “ระดมทุน” ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เรียกว่า peer-to peer lending หรือการกู้ยืมเงินโดยตรงระหว่างบุคคลทั่วไป เพื่อช่วย “ตัดตัวกลาง” อย่างสถาบันการเงินออกไป

“นพนารี พัวรัตนอรุณกร” กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด (ทายาทรุ่น 3) กล่าวว่า ธุรกิจร้านสมใจจำหน่ายเครื่องเขียนมานานกว่า 60 ปี แม้ปัจจุบันต้องเจอกับสถนการณ์ระบาดของโควิด-19 แต่คงยืนหยัดอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไปได้ เพราะเราให้ความสำคัญกับลูกค้า และคู่ค้า ที่สำคัญ เรามีการปรับตัวอย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดวิกฤต ด้วยการเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ต่าง ๆ

“จำได้ว่าตอนก่อนจะประกาศปิดประเทศ ร้านสมใจมีเวลาเตรียมตัวเพียง 2 วัน โชคยังดีที่เรามีคู่ค้าทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ที่ดี จนทำให้ระบายสินค้าไปได้บ้าง

ดังนั้น ความสำเร็จของร้านสมใจที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้วัดกันที่รายได้ หรือกำไร แต่วัดด้วยคู่ค้าที่ดีที่เรามีสายสัมพันธ์ดี ๆ ต่อกัน จึงทำให้ธุรกิจครอบครัวของเราประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้”

“ดังนั้น การที่ดิฉันเข้ามารับช่วงต่อจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นปัจจุบัน สิ่งแรกที่ธุรกิจครอบครัวไม่ควรมีคือความคาดหวัง และการหวังผลทางธุรกิจเท่านั้น

แต่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจครอบครัวให้เกิดความแตกต่าง และนำจุดแข็งของธุรกิจเดิมมาผนวกกับจุดแข็งของเราในการทำธุรกิจใหม่ให้เกิดการผสมผสานอย่างลงตัว ถึงจะทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการปรับตัวสู้กับสถานการณ์
โควิด-19 อย่างนี้ด้วย”


นับว่าน่าสนใจทีเดียว