เปิดรายงานไอแอลโอ แนวโน้มการจ้างงาน-ประเด็นสังคมปี 2565

ภาพ: ILO/F. Latief

รายงานแนวโน้มการจ้างงานและประเด็นสังคมปี 2565-2566 ของไอแอลโอ สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ชั่วโมงทำงานที่ลดลงในปี 2565 มาจากผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เช่น โอมิครอน

วันที่ 18 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization: ILO) รายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลก และประเด็นสังคม 2565 (World Employment and Social Outlook Trends 2022: WESO Trends 2022) เตือนการฟื้นตัวเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่แน่นอน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดแรงงานทั่วโลก

ไอแอลโอได้ปรับลดประมาณการการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปี 2565 โดยคาดการณ์จำนวนชั่วโมงการทำงานทั่วโลกลดลง เทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 52 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ของปี 2562 ขณะที่การประมาณการก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ได้คาดการณ์การลดลงของการจ้างงานว่าเทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 26 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ตามประมาณการของปี 2565 ยังต่ำกว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานทั่วโลกช่วงก่อนการระบาดใหญ่เกือบร้อยละ 2

ทั้งนี้ มีการคาดการว่า การว่างงานทั่วโลกจะยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย โดยประเมินว่า ระดับการว่างในปี 2565 อยู่ที่ 207 ล้านคน เทียบกับ 186 ล้านคนในปี 2562 และรายงาน WESO Trends 2022 ของไอแอลโอยังเตือนด้วยว่า ผลกระทบโดยรวมต่อการจ้างงานมีมากกว่าตัวเลขที่แสดงไว้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากหลายคนได้ออกจากกำลังแรงงาน มีการคาดการว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานทั่วโลกในปี 2565 จะยังต่ำกว่าอัตราในปี 2562 ที่ 1.2 จุดร้อยละ (p.p)

การปรับลดการประมาณการชั่วโมงการทำงานในปี 2565 สะท้อนผลกระทบจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของโรคโควิด-19 อาทิ สายพันธุ์เดลต้า และสายพันธ์โอมิครอน ที่มีต่อโลกของการทำงาน รวมถึงความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับระยะเวลาการระบาดในอนาคต

นอกจากนั้น รายงาน WESO Trends 2022 ยังเตือนถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในแง่ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อกลุ่มแรงงานในประเทศต่าง ๆ โดยความแตกต่างเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งภายในและระหว่างประเทศมากขึ้น และทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมของเกือบทุกประเทศอ่อนแอลง

โดยภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือกำลังมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีที่สุด ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และแคริบเบียนมีแนวโน้มเชิงลบมากที่สุด สำหรับระดับประเทศ การฟื้นตัวของตลาดแรงงานแข็งแกร่งที่สุดในประเทศที่มีรายได้สูง ขณะประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำมีการฟื้นตัวของตลาดแรงงานน้อยที่สุด

ซึ่งความเสียหายนี้อาจต้องใช้เวลานานนับปีในการซ่อมแซม และอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน รายได้ครัวเรือน และความสมานฉันท์ทางสังคม รวมถึงอาจกระทบต่อทางด้านการเมืองด้วย

รายงานระบุด้วยว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานแรงงานหญิงเป็นอย่างมาก คาดว่าจะคงเป็นเช่นนี้ไปอีกในปีต่อ ๆ ไป ขณะที่การปิดสถาบันการศึกษาและสถาบันการอบรมจะมีผลกระทบระยะยาวต่อเนื่องสำหรับเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต

นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า 2 ปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 แนวโน้มยังคงเปราะบางและเส้นทางสู่การฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าและไม่แน่นอน

“เราเห็นความเสียหายจากผลกระทบของโควิด-19 ที่อาจจะคงอยู่กับตลาดแรงงานต่อไปอีก ควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของความยากจนและความเหลื่อมล่ำ ทำให้แรงงานหลายคนจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ เช่น การปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อรับมือกับการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานของ เป็นต้น

ตอนนี้ยังไม่เห็นความสามารถในการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 อย่างแท้จริง และยังไม่เห็นการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในวงกว้าง ทั้งนี้ เพื่อความยั่งยืนในการสร้างการฟื้นตัว จะต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักการต่าง ๆ ของงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยและสุขภาพ ความเท่าเทียม การคุ้มครองทางสังคมและการเจรจาทางสังคม”

รายงาน WESO Trends 2022 แสดงให้เห็นว่า เช่นเดียวกับวิกฤตครั้งก่อน ๆ รูปแบบการจ้างงานชั่วคราวเป็นตัวกันชนจากแรงกระแทกของวิกฤตโควิด-19 แม้ว่างานชั่วคราวหลายตำแหน่งได้ถูกยกเลิก หรือไม่ได้รับการต่อสัญญาใหม่ แต่ก็ยังเกิดทางเลือกอื่น โดยเฉลี่ยแล้วสถานการณ์การทำงานชั่วคราวไม่ได้เปลี่ยนแปลง

รายงานฉบับนี้ยังเสนอบทสรุปที่เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ ที่มุ่งไปที่การสร้างการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างครอบคลุม และเน้นคนเป็นศูนย์กลาง โดยข้อเสนอเหล่านี้อิงตาม หลักการดำเนินการเพื่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุม ยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง (Global Call to Action for a human-centred recovery from the COVID-19 crisis that is inclusive, sustainable and resilient) ที่ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกของไอแอลโอ 187 ประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564