ไมโครซอฟท์ เดินหน้า ยกระดับทักษะดิจิทัลคนไทย 10 ล้านคน

ไมโครซอฟท์

ไมโครซอฟท์ เผยความสำเร็จโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน ที่ดำเนินงานมาระยะเวลา 1 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 สามารถเสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยไปแล้วกว่า 280,000 คน

เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) และมูลนิธิกองทุนไทย

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงานได้จัดอบรมทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยผ่านทั้งรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ไปแล้วกว่า 280,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี ผ่านแพลตฟอร์มของยูเนสโก, ดีป้า และหน่วยงานอื่น ๆ

ซึ่งได้นำทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในปัจจุบันมาจัดเป็นคอร์สเรียนสำหรับคนไทย ไม่ว่าจะเป็น Basic Cyber Security, e-Commerce Content Creation, Microsoft Sway, Word Intermediate, Excel Intermediate และ PowerPoint Intermediate เป็นต้น ซึ่งผู้เรียนทุกคนจะได้รับเกียรติบัตรเมื่อเรียนจบคอร์สด้วย

จากการสำรวจพบว่าในจำนวน 280,000 คนที่เข้ามาอบรม มี 14,000 คนที่นำสกิลดิจิทัลไปใช้พัฒนาตนเอง ยกตัวอย่าง เด็กมัธยมที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ได้เรียนหลักสูตรพื้นฐาน เช่น Microsoft Word, Microsoft Excel จากนั้นนำสกิลที่ได้ไปใช้จัดข้อมูลในร้าน และจัดทำรีพอร์ตต่าง ๆ ได้อย่างดี

วันนี้เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านทั้งที่อายุยังน้อย หรืออีกตัวอย่างคือ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้นำทักษะ Power Platform ของไมโครซอฟท์ ไปสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตนเอง เพื่อค้าขายจนมีรายได้

ทักษะดิจิทัลมีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะเราอยู่ในยุคที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอด การที่จะได้ทักษะนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 4 ปีในมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว สามารถเรียนหลักสูตรระยะสั้นได้ ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าปีนี้จะยกระดับทักษะคนไทยให้ได้เพิ่มอีก 180,000 คน

และขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมทั้งเพิ่มเนื้อหาหลักสูตรมากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่เราตั้งไว้ นั่นคือ ยกระดับทักษะคนไทย 10 ล้านคน

“ธนวัฒน์” กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากรายงานภาวะสังคมของประเทศไทย ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งหมด 37.7 ล้านคน ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 ที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด โดยมีผู้ว่างงาน 870,000 คน ในปี 2564

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านทักษะระดับโลกยังเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ตลาดแรงงานมีสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจต้องการเสริมความแข็งแกร่งและตามหาผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน และส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent Acquisition Specialist) และพันธมิตรเชิงธุรกิจด้านทรัพยากรบุคคล

ภาพ : ไมโครซอฟท์

ขณะที่บิ๊กดาต้าเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพให้กับการดำเนินงานของภาคธุรกิจและภาครัฐ ทั้งยังช่วยด้านการตัดสินใจในองค์กร เพราะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเต็มไปด้วยโอกาสมากมาย เนื่องด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโต เช่น โลกออนไลน์ที่กำลังเติบโต ผลักดันให้มีความต้องการอาชีพนักการตลาดดิจิทัลมากขึ้น โดยอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในประเทศไทย 10 อันดับ ประจำปี พ.ศ. 2563

ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาระบบแบ็กเอนด์ วิศวกรข้อมูล วิศวกรแบบฟูลสแต็ก เจ้าของผลิตภัณฑ์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล และนักพัฒนาระบบฟรอนต์เอนด์

ด้าน “วัลลพ สงวนนาม” รักษาการเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของ กศน.กว้างมาก เพราะมีลูกศิษย์ทั่วประเทศ 9 แสนกว่าคน และมีสมาชิกกลุ่มบุคคลทั่วไปที่เข้ามาเรียนตามอัธยาศัยอีกราว 2-3 ล้านคน

“ที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนขึ้นมากว่า 7,400 แห่งทั่วประเทศ บทบาทของศูนย์แห่งนี้คือช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง รวมทั้งจัดอบรมหลักสูตรดิจิทัลให้กับชุมชน ปีที่ผ่านมาเราได้ร่วมกับไมโครซอฟท์จัดอบรมครู กศน. เพื่อให้ครูนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสอนต่อลูกศิษย์และชุมชนตนเองที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ในส่วนของ กศน. เราอบรมไปแล้วกว่า 100,000 คน จากการสำรวจผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่จะเป็นสุภาพสตรีที่ว่างงาน เขาเข้ามาอบรมเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น จัดทำบัญชีครัวเรือน ควบคุมค่าใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งปีนี้ กศน.มีเป้าหมายว่าจะอบรมคนให้ได้อีก 114,000 คน”

“ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต” รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เข้ามาเรียนหลักสูตรของไมโครซอฟท์ผ่านแพลตฟอร์มของดีป้ามีมากกว่า 7,000 คน มีทั้งกลุ่มนักศึกษา คนทำงาน และบุคคลทั่วไป

และจากจำนวนเหล่านี้ประมาณ 25% มีงานทำภายใน 6 เดือน หรือบางส่วนอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลื่อนตำแหน่ง มีการปรับเปลี่ยนสายงานที่ดีขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของดีป้าที่อยากจะให้คนไทยมีทักษะดิจิทัล เกิดการสร้างงาน และมีรายได้ที่มั่นคง

“ขณะนี้ประเทศไทยต้องการกำลังคนในสายงานดิจิทัล ปีละไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ตำแหน่ง แต่คนที่มีทักษะสูงเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ยังน้อย จากข้อมูลล่าสุดนักศึกษาที่เรียนจบสาขาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ, วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฯลฯ มีประมาณ 12,000 คนเท่านั้น แต่เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมจริง ๆ ประมาณ 5,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปียังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ราว 25,000 คน”

ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง ให้แรงงานเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น เพราะดีมานด์แรงงานด้านนี้ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ไทยมีเป้าหมายที่อยากพัฒนาประเทศ และบุคลากรทางด้าน deep technology มากขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

“สิ่งที่ดีป้าและหลาย ๆ หน่วยงานกำลังดำเนินการ คือเร่งรีสกิลคนไทยทุกช่วงวัยให้มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านโครงการต่าง ๆ ส่วนดีป้าจะมุ่งเน้นทำงานกับเยาวชนมากขึ้น เพราะผู้ที่มีทักษะทางด้านดิจิทัลจะได้เปรียบทั้งโอกาสในการหางาน และโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ”

ทั้งนี้ “มร.ชิเงรุ อาโอยางิ” ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ยูเนสโกสนับสนุนให้คนเข้าถึงทักษะดิจิทัลเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงการด้านการเรียนรู้จำนวนมากที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่งผลให้ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่มีจำนวนลดลงถึง 11% ในประเทศไทย

อีกทั้งข้อจำกัดด้านการให้บริการเนื้อหาดิจิทัลที่มีคุณภาพยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเข้าถึงและคุณภาพของการเรียนรู้ โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านการให้บริการเนื้อหาในภาษาท้องถิ่นหรือภาษาแม่

ดังนั้นเพื่อตอบรับความต้องการต่อการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม และเรียนรู้ทักษะใหม่ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งในช่วงท่ามกลางและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยูเนสโกจะยังคงเดินหน้าในการทำงานกับพันธมิตรทั้งหมดอย่างใกล้ชิด

เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันเชิงดิจิทัลและโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไปในประเทศไทย และทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตและคุณภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น พร้อมส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคคล และความยั่งยืนของชุมชน