อพท.ลุยอีสานใต้ ปลุกท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เพื่อชุมชนยั่งยืน

https://youtu.be/R6KY2gpkfrc

เนื่องเพราะองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการดูแลพื้นที่พิเศษและเขตการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดยมุ่งไปที่การท่องเที่ยวบนพื้นฐานของทรัพยากรชุมชน และศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ทั้งนั้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการกระจายรายได้ให้แก่คนในชุมชนอยู่ดีมีสุขในวิถีชีวิตแบบพอเพียง

ที่สำคัญ ปีงบประมาณ 2565 อพท.ดำเนิน “โครงการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ผ่านตลาดมูลค่าสูง” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากการดำเนินงานของ อพท.ตลอดช่วงผ่านมา

ด้วยการยึดหลักการส่งสริมการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ (BCG : Bio-Circula-Green Economy Model) เป็นแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ไม่นานผ่านมา อพท.จึงผนึกกำลังกับภาคีเครือข่าย BCG จัดกิจกรรมปลูกป่าชุมชนบ้านนาหนองเชือก ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ในชุมชนอีสานใต้

โดยกิจกรรมครั้งนี้มีทั้งหมด 3 หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน), หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ นทพ. กองบัญชาการกองทัพไทย และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร่วมกันปลูก “ต้นเชือก” หรือ “ต้นรกฟ้า”

“ต้นเชือก” หรือ “ต้นรกฟ้า” เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาตรงเรือนยอดของต้น เปลือกต้นไม้เป็นสีเทาค่อนข้างดำ และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ทั้งยังมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศเมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และประเทศไทย

ที่สำคัญ “ต้นเชือก” หรือ “ต้นรกฟ้า” มีประโยชน์ทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน คือ

หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากต้นเชือกเป็นไม้เนื้อแข็ง ขัดชักเงาได้ดี สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ และด้ามเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ เครื่องกลึง และงานแกะสลัก นอกจากนั้นยังนำไม้มาทำพื้นบ้าน, ฝาบ้าน, เสา, ไม้บุผนัง ขณะที่คนเก่าแก่จะนำไม้ต้นเชือกมาใช้สำหรับฟอกหนังสัตว์ ส่วนเปลือกต้นเชือกนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้

สอง ด้านสังคม ต้นเชือกสื่อถึงอัตลักษณ์ภายในชุมชน จนทำให้เกิดการอนุรักษ์ หวงแหน และตระหนักถึงความสำคัญของต้นเชือก ซึ่งเป็นไม้โบราณหายาก กระทั่งทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

สาม ด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดักฝุ่น และมลพิษภายในอากาศ เนื่องจากต้นเชือกหนึ่งต้นช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 9-15 กิโลกรัม/ปี และถ้าปลูกแค่ 1 ไร่ (64 ต้น) สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดถึง 960 กิโลกรัม/ปี ซึ่งชาวบ้านในชุมชนสามารถนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อนำรายได้กลับมาสู่ชุมชนอีกด้วย

ศุภนิมิตร เปาริก

“ศุภนิมิตร เปาริก” รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีในด้านการส่งเสริม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ และความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ, วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งยังผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวในระดับชุมชนอีกด้วย

“ต้องยอมรับว่ากระแสการท่องเที่ยวในช่วงโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทาง แต่ถึงตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น กระแสการท่องเที่ยวจึงค่อย ๆ กลับมา และในส่วนของการท่องเที่ยวของจังหวัด เรามีแผนส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวอยู่ก่อนแล้ว

โดยมีการเชื่อมโยงจากจังหวัดสู่ชุมชน และในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่สำคัญ อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่มากมาย จึงทำให้เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้มองเรื่องความเชื่อมโยงจากจังหวัดสู่ชุมชน อีกอย่างทางกระทรวงมหาดไทยสั่งการให้จังหวัดดำเนินการส่งเสริมเรื่องถนนสายวัฒนธรรมด้วย นอกจากนั้น เรายังให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมมือกับชุมชนต่าง ๆ ออกแบบรูตการท่องเที่ยวทั้งแบบ one day trip, two day trip เพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพื่อไปยังชุมชนต่าง ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย

พล.ท.ดำรงค์ คงเดช

“พล.ท.ดำรงค์ คงเดช” เสนาธิการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ นทพ. กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวเสริมว่า นทพ.มีภารกิจในการพัฒนาประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น งานจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, เพื่อการเกษตร, ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การส่งเสริมอาชีพ พัฒนารายได้ สร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชน และด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

โดยเราจะเข้าไปร่วม สนับสนุน หรือเป็นตัวนำ ซึ่งงานหลัก ๆ ของเราจะรับผิดชอบตำบลที่อยู่บริเวณชายแดน โดยจะเข้าไปคัดเลือกตำบลชายแดนที่มีความเข้มแข็งน้อย เพื่อจัดทีมเข้าไปสำรวจ และดูว่าชาวบ้านขาดแคลนอะไร เราจะเข้าไปซัพพอร์ตในสิ่งที่เขาขาดแคลน

เนื่องจากหน่วยงานของเรามี 13 ฟันเฟืองในการประสานงานกับส่วนราชการในอดีต แต่ปัจจุบันเรามีหน่วยงานเยอะกว่านั้น ซึ่งเหมือนกับครั้งนี้ เมื่อทาง อพท.และทางจังหวัดขอความร่วมมือ เราก็ยินดีที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

“ไม่ว่าจะเป็นกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ รถบรรทุกขนส่ง เครื่องดื่ม และสิ่งจำเป็นในการเตรียมความพร้อมในการปลูกป่า รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมปลูกป่าให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะผมถือว่าตรงนี้คือภารกิจของเรา”

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ

“ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ” รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ผมมองว่าเรื่องทรัพยากรท่องเที่ยว คนในชุมชนคือเจ้าของตัวจริง ไม่ใช่ส่วนราชการเลย แต่กระนั้น ชุมชนจะต้องแสดงความเป็นเจ้าของด้วย ซึ่งบางทีเขาก็ไม่รู้ตัว ดังนั้น บทบาทของ อพท.จะต้องเข้ามาปลุกจิตสำนึกว่า นี่คือทรัพยากรของคุณที่จะต้องรักษาไว้นะ

“เมื่อเขาเกิดความรู้สึกหวงแหน หน้าที่ต่อไปของเราคือการนำองค์ความรู้มาช่วยพวกเขา เพื่อให้เขามองเห็นว่าทรัพยากรของชุมชนสามารถสร้างรายได้ และสร้างอาชีพได้ ผมจึงมาที่บ้านนาหนองเชือก เพราะว่าที่นี่มีต้นเชือก หรือต้นรกฟ้า ซึ่งเป็นพันธุ์พืชไม้หายาก

ที่สำคัญ ยังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ตรงนี้ไม่เพียงจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา หากยังทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย”

ฉะนั้น หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผมจึงมองว่าเรื่องของสุขอนามัย และความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องเล็กแล้ว เพราะตลอด 2 ปีกว่าผ่านมา เราทำเรื่องพวกนี้จนชินอยู่แล้ว แต่เราจะไปเสริมสร้างในเรื่องของการสร้าง storytelling ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชุมชนให้น่าสนใจ

เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผมว่าตรงนี้คือ umbrella ใหญ่ที่เราจะต้องโฟกัส และพยายามผลักดันให้ชาวบ้านในชุมชนมองเห็นความสำคัญของทรัพยากร”

เพราะผ่านมาเราตื่นเต้นกับตัวเลขการท่องเที่ยว 3 ล้าน ๆ 4 ล้าน ๆ บาท แต่ใครจะรู้บ้างว่าเงินจำนวนเหล่านี้หมุนกลับไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ของประเทศไทยเท่าไหร่ ผมคิดว่ามีน้อยมาก เพราะฉะนั้น ผมในฐานะ อพท.จึงอยากขับเคลื่อนตรงนี้ เพื่อให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวหมุนกลับไปสู่รากหญ้าบ้าง

แต่กระนั้น พวกเขาต้องพัฒนาชุมชนของตัวเองให้เป็นแม่เหล็กด้วย เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้เข้ามาพักผ่อน จับจ่ายซื้อของ และใช้บริการธุรกิจในชุมชน เพราะงานของ อพท.ไม่ได้เพิ่มรายได้ในแนวดิ่ง แต่เราต้องการกระจายรายได้ในแนวนอน เพื่อให้พวกเขาบริหารจัดการกันเอง จนนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด


“พูดง่าย ๆ เราพยายามส่งเสริมให้พวกเขายืนบนขาตัวเองให้ได้ และนี่คือหน้าที่ และบทบาทของ อพท.”