พลิกโฉมมหาวิทยาลัย สร้าง “คนไซเบอร์” รับโลกเปลี่ยน

ศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล-ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล-พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี
ศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล-ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล-พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี

โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยระยะแรกเป็นการสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศถึงบทบาทการดำเนินงานของโครงการ

เพื่อจะก้าวไปสู่การปฏิรูปเต็มรูปแบบในปี 2567 ทั้งนั้นเพื่อทลายข้อจำกัดการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา พร้อมพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยไทยให้ขยับสู่เวทีวิชาการโลก อันตอบสนองทิศทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนยุคสมัยใหม่

ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

“ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล” รองปลัดกระทรวง อว. เปิดเผยว่า โครงการพลิกโฉมฯมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากำลังคนขั้นสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสร้างความเป็นเลิศตามความถนัดของตนเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม

ได้แก่ 1.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประกอบด้วย 16 มหาวิทยาลัยอย่าง ม.มหิดล, จุฬาฯ, ม.สงขลา, ม.ขอนแก่น ฯลฯ 2.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมนวัตกรรม 18 แห่ง เช่น กลุ่มพระจอมเกล้าฯ, กลุ่มเทคโนโลยีราชมงคลฯ

3.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ 30 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มราชภัฏ 4.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักธรรมทางศาสนา และ 5.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะทาง เป็นต้น ซึ่งกลุ่ม 4 และ 5 อยู่ระหว่างนำเสนอรายชื่อเข้ามา

การแบ่งกลุ่มเพื่อให้มหาวิทยาลัยชูศักยภาพของตนเองว่ามีความเชี่ยวชาญ หรือมีความเป็นผู้นำในด้านไหน และเพื่อให้ง่ายต่อการจัดสรรงบประมาณที่เราจะส่งไปให้ เช่น จุฬาฯอาจโดดเด่นด้านงานวิจัย นวัตกรรมต่าง ๆ มหิดลโดดเด่นเรื่องการแพทย์ ศิลปากรเด่นเรื่องงานศิลปะ กลุ่มพระจอมเกล้าฯถนัดเรื่องเทคโนโลยี หรือกลุ่มราชภัฏฯถนัดเรื่องการทำงานกับชุมชน ฯลฯ

ศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล
ศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล

กองทุนพันล้านพลิกโฉมประเทศ

“ศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล” ประธานอนุกรรมการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า เป้าหมายสูงสุดคือการร่วมกันพลิกโฉมประเทศ ไม่ใช่แค่พลิกโฉมมหาวิทยาลัยเท่านั้น สิ่งสำคัญที่เราพยายามสื่อสารกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยคือ อย่าใช้งบฯเป็นตัวตั้งเพื่อเขียนโครงการของบฯปีต่อปี

แต่จะต้องนำแผนของมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้ง เพื่อกำหนดทิศทางของตัวเองให้ชัดเจน แล้วเราจะช่วยสนับสนุน และเสริมสร้างศักยภาพของสถาบัน เพื่อพัฒนารูปแบบ และวิธีการพัฒนากำลังคนทั้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมเครือข่ายวิชาการนานาชาติ

โดยนักศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตรการเรียนรู้จากอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศอย่างคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของวงการอุดมศึกษาของประเทศไทยอย่างชัดเจน

พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี
พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี

“พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี” หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) กล่าวว่า โครงการพลิกโฉมฯได้รับเงินทุนเริ่มต้นที่ 1,423 ล้านบาทในปี 2564 และปี 2565 ได้รับเงินสนับสนุน 600 ล้านบาท ส่วนปี 2566 จะมีการปรับลดลงจากปีที่ผ่านมา

เนื่องจากยังไม่มีกองทุนของตนเอง เพราะเราได้รับการจัดสรรงบฯมาจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเป็นกองทุนที่ดูแลหลายทาง ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีข้อจำกัดหลายส่วน

แต่อนาคตกำลังจะมีกองทุนของตนเองในปีงบประมาณ 2567 หลังจากที่มติ ครม.เห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา นับตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเงินตั้งต้นของกองทุนระยะแรกประมาณ 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มปีละ 5,000 ล้านบาท

จากทั้งงบประมาณตามมาตรา 45(3) ซึ่งเป็นงบฯพัฒนาความเป็นเลิศและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และงบประมาณจากมาตรา 45(4) งบฯเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อยังเปิดช่องให้สามารถรับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยร่วมกันอีกด้วย

ในปีงบฯ 2564 มีสถาบันได้รับงบฯสนับสนุนไปแล้ว 17 มหาวิทยาลัย 15 โครงการ เช่น ม.มหิดล โครงการพัฒนาเทคนิควิจัยระดับสูงฯ, ม.สงขลาฯ โครงการวิทยาศาสตร์ดิจิทัล, ม.ศิลปากร โครงการยกระดับการวิจัยและสร้างสรรค์ด้านศิลปะและการออกแบบโดยการบูรณาการศาสตร์ และศิลป์,

ม.แม่ฟ้าหลวง การวิจัยและนวัตกรรมสู่นานาชาติ และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละแห่งจะได้งบฯแตกต่างกัน และในปี 2565 มีการขยายให้งบฯเพิ่มครอบคลุม ทั้ง 3 กลุ่มมหาวิทยาลัย 60 กว่าแห่งแล้ว และเราพยายามติดตามมหาวิทยาลัยต่อเนื่องว่าดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง

ส่วนเป้าหมายต่อไปคือการเพิ่มมหาวิทยาลัยเข้ากลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา โดยมีมหาวิทยาลัยด้านศาสนาของไทย ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 แห่ง คือ ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย คาดว่าจะเริ่มทำโครงการได้ในปีงบประมาณ 2566 หรือ 2567 ต่อไป

ขณะที่ส่วนของกลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ เริ่มมีการเสนอโครงการเข้ามาประมาณ 7 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาบุคลากรแบบเฉพาะทาง คาดว่าจะเห็นการดำเนินโครงการได้ราวปีงบประมาณ 2566-2567

ปลดล็อก 4 ด้านสร้างคนไซเบอร์

สำหรับผลลัพธ์จากการพลิกโฉม นอกเหนือจากการแบ่งกลุ่ม “ดร.ศุภชัย” ยกตัวอย่าง 3 เรื่องที่เห็นภาพชัดเจนให้ฟัง ได้แก่

หนึ่ง การยกเลิกเกณฑ์กลางของการจบการศึกษา ต่อไปนี้นักศึกษาจะเรียนกี่ปีก็ได้ ไม่มีข้อกำหนดว่าต้องเรียนให้จบภายใน 4 ปี หรือถ้ารีไทร์ก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องจบภายใน 8 ปี จะเรียนเกินก็ได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดเอง

สอง หลักสูตร sandbox จะช่วยปลดล็อกหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา หลักสูตรที่เข้าใน sandbox คือหลักสูตรที่ต้องการกำลังคนอย่างเร่งด่วน เช่น หลักสูตร cyber security ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำลังร่างหลักสูตร เพื่อให้แต่ละมหาวิทยาลัยนำไปใช้ ซึ่งง่ายต่อการผลิตคน

เพราะหลักการคือไม่ว่าจะคณะไหนก็สามารถมาเรียนได้ แล้วผู้สอนไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะเป็นหน่วยงานอื่น ๆ หรือภาคเอกชนก็ได้ แต่ต้องเชี่ยวชาญด้านนี้ เพราะถ้าดูจำนวนผู้สอนด้าน cyber security ในประเทศจริง ๆ มีไม่ถึง 100 คน มิหนำซ้ำยังกระจายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถ้าแยกกันผลิตบัณฑิต ไม่มีทางที่จะทำได้ตามเป้าที่เราตั้งไว้ว่าภายใน 2 ปีที่จะต้องได้ 1,000 คน

นอกจากนั้นยังมีหลักสูตร AI สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ตลาดมีความต้องการคนเก่ง AI ประมาณ 600 คน ตอนนี้ 6 มหาวิทยาลัย นำโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.มหิดล, ม.สงขลา, ม.เชียงใหม่, ม.ขอนแก่น ฯลฯ กำลังร่างหลักสูตรร่วมกับภาคเอกชน หลักการก็คล้าย cyber security คาดว่าในอีก 1-2 เดือนหลักสูตรจะแล้วเสร็จ

สาม national credit bank หรือคลังหน่วยกิตกลาง คือไม่ว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยไหน สถาบันอบรมอะไร เรียนอะไรมา สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นหน่วยกิตเก็บไว้ที่คลังหน่วยกิตกลางของประเทศได้ คาดเร็ว ๆ นี้จะมีการประกาศเรื่องการเทียบโอนหน่วยกิต ระบบนี้ถ้าเรียนแล้วสะสมไปเรื่อย ๆ จะบอกตัวตนว่ามีสมรรถนะอะไร และจะช่วยให้ระบบกำลังคนของประเทศมีความชัดเจนขึ้น

ผลักดันสู่ Ranking ระดับโลก

“ดร.ศุภชัย” กล่าวต่อว่า ผมคาดหวังว่ากลุ่ม 1 จะขึ้นไปอยู่ในระดับ ranking ดี ๆ ของประเทศและโลก โดยเฉพาะ by subject ตอนนี้มหาวิทยาลัยไทยมีสาขาวิชาติดอันดับโลกกว่า 122 สาขา โดย QS World University Rankings by Subject 2022 (QS) ผมอยากให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ส่วนกลุ่ม 2 ต้องมีเทคโนโลยี นวัตกรรม ในการสร้างอิมแพ็กต์ต่อเศรษฐกิจประเทศได้ มีสตาร์ตอัพไปถึงยูนิคอร์น ส่วนกลุ่ม 3 จะเด่นเรื่องศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ ผมก็อยากให้เป็นโมเดลระดับโลก เพราะมหาวิทยาลัยไทยทำงานกับพื้นที่เยอะมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในโลก


“จะเห็นได้จากการที่เราเข้าไปอยู่ใน impact ranking ถึง 51 มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการจัดอันดับที่วัดว่ามหาวิทยาลัยสร้างอิมแพ็กต์ต่อชุมชนอย่างไรบ้าง ตามแนวทาง SDG’s 17 ข้อ โดยเฉพาะกลุ่มราชภัฏทำงานกับชุมชนเยอะมาก จากที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักในกระดานไหนของโลก ตอนนี้เราทำได้แล้ว ซึ่งต่อไปผมอยากให้เกิดการถอดโมเดลเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ และเศรษฐกิจประเทศ”