ปั้นนักศึกษา CMMU เป็นผู้เล่นตัวจริง

คอลัมน์ : เอชอาร์ คอร์เนอร์

วงการธุรกิจก็เหมือนวงการกีฬาที่ในทุก ๆ เกมต้องการผู้เล่นที่เป็น MVP หรือ Most Valuable Player ซึ่งเป็นผู้เล่นทรงคุณค่า ผู้เล่นยอดเยี่ยมที่มีทักษะความรู้ ความสามารถโดดเด่นและแข็งแกร่ง

ดังนั้น วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ในนามสถาบันการศึกษาด้านการจัดการธุรกิจชั้นนำของประเทศ จึงมีพันธกิจใหญ่รับการเติบโตปีที่ 25 ของวิทยาลัย คือ “การปั้นนักศึกษาของ CMMU ให้เป็นผู้เล่นตัวจริง MVP ออกไปสู่วงการธุรกิจ”

“รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม” คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า เป้าหมายใหญ่ในวาระปีที่ 25 CMMU มีพันธกิจใหญ่ที่ต้องการสร้างผู้นำองค์กร หรือพัฒนาผู้นำองค์กรให้มีศักยภาพเพื่อที่จะไปแข่งขันในตลาดธุรกิจได้ เพราะทุก ๆ องค์กรปัจจุบันล้วนต้องการบุคลากรที่เก่งรอบด้าน รู้จริง ปฏิบัติได้จริง และปรับตัวต่อทุกการเปลี่ยนแปลงได้อย่างคล่องตัว

ดังนั้น การปั้นนักศึกษาของ CMMU ให้เป็นผู้เล่นตัวจริง MVP เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจจึงสะท้อนภาพผ่าน 3 กุญแจสำคัญ ดังนี้ 1.M-modern ทันสมัยด้วยเนื้อหาหลักสูตร รูปแบบและวิธีการสอน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วนของธุรกิจ

2.V-versatile เค้นศักยภาพของนักศึกษาออกมาให้ได้มากที่สุด พร้อมพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้มีความรู้และความสามารถด้านการจัดการธุรกิจครบรอบด้าน และรู้วิธีรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโลกธุรกิจ

และ 3.P-professional ทุกสาขาวิชาของ CMMU ได้รับการรับรองด้วยมาตรฐาน AACSB ที่มีมหาวิทยาลัยเพียง 5% ของโลกที่ได้รับการรับรอง จึงมีความพร้อมในการผลิตนักศึกษาให้เป็นบุคลากรที่ประสบความสำเร็จและเป็นมืออาชีพในวงการธุรกิจ

“ดร.วิชิตา” กล่าวต่อว่า การผลิตนักศึกษาให้เป็นผู้เล่น MVP ได้สำเร็จนั้น วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของสถาบันการศึกษาที่จะหล่อหลอมให้นักศึกษาเป็นคนเก่งพร้อมต่อยอดองค์ความรู้ พัฒนาธุรกิจและสังคมได้ก็สำคัญ ดังนั้น วิทยาลัยจึงต้องมี purpose-driven organization การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า CMMU จะสร้างประโยชน์ให้กับใครและด้านใดได้บ้าง สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนและสังคมอย่างไรนอกเหนือไปจากการวัดผลการเติบโตในด้านตัวเลข

“ในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษา จึงต้องมีการส่งต่อองค์ความรู้ให้กับสังคม ซึ่งในวาระครบรอบปีที่ 25 ของ CMMU เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จึงมีการจัดกิจกรรม Management Talk ในหัวข้อที่หลากหลายมาโดยตลอดถึงปัจจุบัน เพื่อเปิดให้ผู้คนเข้ามารับฟังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

มีทั้งการเชิญศิษย์เก่ามาพูดคุยว่าเมื่อเรียนจบจาก CMMU ไปแล้ว พวกเขาได้นำความรู้ไปใช้อย่างไรบ้าง ทั้งยังเชิญผู้บริหารชั้นนำระดับ CEO มาร่วมพูดถึงการจัดการธุรกิจ การบริหารคน หรือล่าสุดในเดือนมีนาคม 2565 มีหัวข้อสรรหา พัฒนา รักษา HR อย่างไร…สไตล์ Microsoft”

นอกจากนั้น “ดร.วิชิตา” ยังมองเรื่องการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงว่า สถาบันการศึกษาก็มีการ “ปรับ” และ “เปลี่ยน” ในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการภายในสถาบัน เปลี่ยนวัฒนธรรม หรือเปลี่ยนกลยุทธ์เช่นกัน ตอนนี้ CMMU มีการปรับการเรียนเป็นรูปแบบ hybrid ที่เปิดให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนออนไลน์ที่บ้านหรือเข้ามาเรียนที่วิทยาลัยได้ ภายใต้การบริหารความปลอดภัยตามมาตรฐาน

แต่การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งกล้องแล้วออกมาพูดเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้นักศึกษาได้รับประโยชน์มากที่สุดทางคณาจารย์จึงมีการมาร่วมกันพิจารณา student journey ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของหลักสูตรทั้งหมดว่าเราจะสอนอย่างไรเพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกันได้มากที่สุดเพื่อให้นักศึกษารู้สึกไร้รอยต่อ

“ส่วนเรื่องหลักสูตรระดับปริญญาโททาง CMMU มีการผลิตหลักสูตรใหม่ที่ทันสมัยตอบโจทย์ภาคธุรกิจทั่วโลกที่กำลังตระหนักให้ความสำคัญต่อเรื่อง sustainability หรือความยั่งยืนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหลักสูตรชื่อว่า Managing for Sustainability เป็นหลักสูตรการบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

โดยที่เราต้องการจะบอกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ไม่ได้เป็นส่วนที่แยกออกมาจากการบริหารจัดการ แต่เป็นส่วนที่ฝังตัวเข้าไปในกระบวนการทุกอย่าง รวมถึงการบริหารจัดการองค์กรที่จะช่วยขยายมุมมองนักศึกษาให้นึกถึงประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และโลกควบคู่กันไปได้อย่างลงตัว”

สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลักสูตรไทย-หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) สมัครได้ที่ https://apply.cm.mahidol.ac.th/web สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 0-2206-2000 หรือติดตามข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol