เปิดหลักสูตร 2 ปริญญา ค่าเรียน 2.3 ล้านบาท มหาวิทยาลัยรัฐเชื่อมการศึกษาโลก

มหาลัย

ต้องยอมรับความจริงว่าโลกการศึกษามีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ จนทำให้นักศึกษาบนโลกใบนี้สามารถเรียนปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ไหนก็ได้ ซึ่งผ่านมาทุกคนคงได้ยินข่าวว่ามหาวิทยาลัยท็อปเทนระดับโลกเปิดรับนักศึกษาผ่านการเรียนออนไลน์ ทั้งในระดับปกติ และหลักสูตรพิเศษ

แต่เมื่อเกิดมหันตภัยไวรัสร้ายระบาด โลกของการศึกษาหยุดชะงักลง จนทำให้ภาคการศึกษาของหลายประเทศเกิดความสะดุด กระทั่งทำให้นักศึกษาเหล่านั้นต่างกลับประเทศของตน แต่เมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

หลายประเทศเปิดประเทศมากขึ้น กอปรกับโลกของการศึกษาเปิดช่องทางให้มหา’ลัยต่าง ๆ ทำหลักสูตร 2 ปริญญา เพื่อไปเรียนที่ต่างประเทศมากขึ้นด้วย ก็ยิ่งทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาของไทยเริ่มมองความท้าทายใหม่นี้

เพราะจะได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเองให้กว้างมากขึ้น ที่สำคัญ ยังมีโอกาสทำงานในต่างประเทศด้วย

วิศวะอินเตอร์ มธ. 2.3 ล้านตลอดหลักสูตร

“รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยเริ่มเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นคือหลักสูตรปริญญา 2 ใบ หรือที่เรียกว่า double degree โดยการผนึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เปิดโลกทัศน์ ความรู้ ประสบการณ์ นอกเหนือจากการเรียนที่ประเทศไทย

วิศวะ มธ. ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรก ๆ ที่เปิดโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (Twinning Engineering Programmes) หรือ TEP ซึ่งเป็นหลักสูตรอินเตอร์ ระดับปริญญาตรี เรียน 4 ปี ได้ปริญญา 2 ใบ โดยเปิดมากว่า 20 ปี ปัจจุบันมีคู่สัญญากับ 3 มหาวิทยาลัยระดับโลก ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร 2.มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย และ 3.มหาวิทยาลัยเคยู เลอเฟิน ประเทศเบลเยียม

“ในส่วนของค่าเล่าเรียนหลักสูตรวิศวะอินเตอร์ ประมาณ 360,000 บาท ตลอด 2 ปีที่เรียนในประเทศ ส่วนค่าเทอมของมหาวิทยาลัยคู่สัญญาเรตราคาจะไม่คงที่ เพราะมหาวิทยาลัยต่างประเทศมีการปรับราคาขึ้น 5-10% ทุกปี แต่เมื่อคำนวณคร่าว ๆ คาดว่าตกอยู่ที่ปีละ 1 ล้านบาท เรียน 2 ปี ก็ประมาณ 2 ล้านบาท

และถ้าคิดตลอดหลักสูตรที่เรียนในประเทศ และต่างประเทศ ตกประมาณ 2,360,000 บาท ในจำนวนนี้รวมค่าเทอม ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นบางส่วนแล้ว ซึ่งค่าเทอมระดับนี้ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เพราะแต่ละปีจะมีทุนการศึกษา ด้วยการมอบส่วนลดให้นักศึกษาไม่ต่ำกว่า 25%”

“ศิลปากร” บุกฝรั่งเศสหลักสูตรละ 8 แสนบาท

“ผศ.ดร.เฉลิมพร สิริวิชัย” รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับศิลปากรมีหลักสูตรปริญญาตรี แบบ double degree ถึง 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาด้านการออกแบบสื่อสารดิจิทัล

โดยทำความร่วมมือกับ Birmingham City University จากสหราชอาณาจักร, สาขาวิชาการจัดการสินค้าลักเซอรี่ ทำความร่วมมือกับ Paris Shool of Business France ประเทศฝรั่งเศส, สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว ร่วมกับสถาบันวาแตล (Vatel Hotel and Tourism Business School) ประเทศฝรั่งเศส

โดยล่าสุดคือ สาขาวิชาธุรกิจและเทคโนโลยี ด้วยการให้คณะวิทยาการจัดการ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำการออกแบบพัฒนาหลักสูตรร่วมกับ Paris School of Technology and Business (PST&B) จากประเทศฝรั่งเศส

เพื่อจัดการเรียนการสอนร่วมกัน ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีการศึกษา ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาทั้งชาวไทย และต่างชาติ จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยตั้งเป้าเพียง 20 คน

“เราเปิดสาขานี้ขึ้นมาด้วยเล็งเห็นว่าบทบาทของเทคโนโลยี มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงต้องผนวก 2 ศาสตร์นี้เข้าด้วยกัน จุดแข็งคือแม้จะเป็นหลักสูตร 4 ปี แต่นักศึกษาสามารถเรียนจบภายใน 3 ปี พร้อมกันนี้ยังมีโอกาสการเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่ PST&B ฝรั่งเศส เป็นเวลา 1 เทอม

ส่วนค่าเล่าเรียนจะอยู่ที่ 7-8 แสนบาท ตลอดหลักสูตร ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะนอกจากได้ประสบการณ์ชีวิต ยังได้ปริญญา 2 ใบ จาก 2 สถาบัน ถ้าเทียบกับหลักสูตรอื่น ๆ หรือไปเรียนต่างประเทศ 4 ปี กว่าจะได้ปริญญา 1 ใบ ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 1.5-2 ล้านบาทขึ้นไป”

“CMMU” จับตลาด ป.โท หลักสูตรละ 4 แสนกว่า

“รศ.ดร.ปรารถนา ปุณณกิติเกษม” ประธานหลักสูตรการจัดการสุขภาพองค์รวม สาขาการจัดการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล College of Management Mahidol University (CMMU) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่นี่มีหลักสูตร 2 ปริญญา ซึ่งเปิดให้ผู้เรียนต่อ ป.โท หลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชา General Management หรือการจัดการทั่วไป เรียนร่วมกับ Toulouse School of Management ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถาบันดังอันดับ 1 ด้านธุรกิจที่นักศึกษาชาวฝรั่งเศสต้องการเรียนมากที่สุด

“โดยผู้เรียนจะเรียนร่วมกับสถาบันนี้ พร้อมกับรับปริญญา 2 ใบ ในระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ซึ่งแบ่งออกเป็นเรียนที่ CMMU ประเทศไทย 3 เทอม ระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจึงไปเรียนต่อที่ตูลูส 2 เทอม ระยะเวลา 7 เดือน”

สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรอยู่ที่ประมาณ 429,000 บาท ไม่มีบวกเพิ่ม เนื่องจากทางตูลูสจะช่วยดูแลหาหอพักให้ ซึ่งราคานี้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับปริญญาใบแรกของ CMMU ส่วนปริญญาใบที่สองของทาง Toulouse School of Management จะไม่เก็บค่าหน่วยกิตเพิ่ม เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสผู้เรียน

“ม.เชียงใหม่” ปั้น น.ศ.รุกธุรกิจสตาร์ตอัพ

“กัญญา หิรัณย์วัฒนพงศ์” ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ นวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่นี่เปิดรับนักเรียนที่จบสายวิทย์ และสายศิลป์ที่มีทักษะภาษาอังกฤษ เนื่องจากเรามีเป้าหมายในการสร้างเด็กให้เป็นสตาร์ตอัพ เพื่อให้รู้จักใช้เทคโนโลยีในการหาเงิน หรือใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการที่จะผลิตออกมา

เพราะทุกวันนี้โลกของการทำธุรกรรมการเงิน สามารถทำได้ง่าย สะดวกสบาย ดังนั้นการระดมทุนประกอบธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้น สาขานี้จะสอนให้นักศึกษาเข้าใจศักยภาพของการเริ่มเป็นสตาร์ตอัพ และเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมาย และเทคโนโลยีต่าง ๆ

สำหรับการเรียนการสอน 2 ปีแรกจะเรียนที่มหา’ลัยเชียงใหม่ และ 2 ปีหลังไปเรียนที่มหาวิทยาลัยพันธมิตรในต่างประเทศ ซึ่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 3 ประเทศ ได้แก่ จีน, ออสเตรเลีย และอังกฤษ ส่วนค่าเล่าเรียนภาคการศึกษาปกติจะอยู่ที่เทอมละ 55,000 บาท, ภาคฤดูร้อน 27,500 บาท ส่วนการเรียน 2 ปีหลังในต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับอัตราค่าธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยพันธมิตร