22 องค์กรกุศล เปิดโครงการประมูล กล้องถ่ายภาพไลก้า ชุดพิเศษ

ล้องดิจิทัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง

22 องค์กรการกุศล เปิดโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ ไลก้า รุ่น M 10-P Limited Edition เริ่ม 30 ก.ย.นี้ รายได้นำไปช่วยเหลือสังคมตามวัตถุประสงค์แต่ละองค์กร

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศล พร้อมด้วย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัว “โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพ ชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition” ซึ่งเป็นกล้อง Leica ที่จัดทำขึ้นมาพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ. 2562 นำรายได้จากการประมูล มอบให้แต่ละองค์กรนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละแห่ง

 เปิดโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพไลก้าชุดพิเศษ

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าเนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ ปี พ.ศ.2562 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมกับ 22 องค์กร ขอร่วมเทิดพระเกียรติและร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลด้วยการจัดโครการสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition ขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

จุดเริ่มต้นโครงการ “กษัตริย์กับกล้อง”

โดยจุดเริ่มต้นโครงการ เกิดจาก “ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณศักดา ศิริพันธุ์ราชบัณฑิต” ได้เขียนข้อความไว้ในคำนำหนังสือ “กษัตริย์กับกล้อง” ที่ท่านเป็นผู้ประพันธ์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2547 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า ‘กษัตริย์กับกล้อง’ เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการฉายภาพอย่างมาก

และเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงวางรากฐาน สนพระราชหฤทัย ทรงพัฒนา ทรงอนุรักษ์ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 147 ปีแล้ว”

ข้อความดังกล่าวนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้พวกเรา ตัดสินใจเลือกการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition ขึ้น เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

สำหรับกล้องถ่ายภาพ Leica เป็นกล้องถ่ายภาพจากเยอรมนีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี และได้รับการยกย่องว่าเป็นกล้องถ่ายภาพที่สร้างด้วยความประณีต ละเอียดอ่อนประหนึ่งงานศิลปะ มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร และเป็นที่นิยมของนานาประเทศ

กล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษ

นายฐาปนกล่าวต่อว่า การจัดทำกล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้ ได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับบนกล้องได้

โดยได้จัดทำกล้องเป็นสองรูปแบบคือชุดสีเหลือง ประกอบด้วยกล้องดิจิทัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง พร้อมเลนส์ APO Summicron-M 1:2/50 ASPH และเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH จำนวน 10 ชุด

ล้องดิจิทัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้

และชุดสีเขียว ประกอบด้วย กล้องดิจิทัล Leica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พร้อมเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH จำนวน 20 ชุด

ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดราคาชุดสีเหลืองชุดละ 1,500,000 และชุดสีเขียวชุดละ 1,000,000 บาท ซึ่งจะเหลือ 22 ชุด จะมอบให้กับมูลนิธิและองค์กรต่าง ๆ จัดการประมูลในวันที่ 30 ก.ย.นี้ รายได้จากการประมูล จะมอบให้แต่ละองค์กรนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

กล้องดิจิทัล Leica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พ

ด้านนายนิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดทำกล้องรุ่นพิเศษนี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ บวกกับสถานการณ์โควิด จึงทำให้โครงการล่าช้าอย่างมาก เพราะทั้งเรื่องของการผลิตต่าง ๆ และเรื่องของมาตรการของรัฐบาลประเทศเยอรมนีที่ปิดโรงงานผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ยังประสบปัญหาด้านวัสดุชิ้นส่วนที่ผลิตมาจากหลายมุมโลกก็ยังส่งออกไม่ได้ ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้า เพราะการผลิตกล้องที่เป็นแบรนด์ดังลักเซอรี่ ค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นจึงจะส่งออกได้ กว่าจะผลิตสำเร็จเวลาก็ลุล่วงมาจนถึงปี 2565 และเพิ่งได้รับกล้องมาไม่นานนี้

“หลังจากนี้ จะเปิดให้ผู้สนใจร่วมการประมูลติดต่อและแสดงความเจตจำนงเข้าร่วมได้ที่มูลนิธิและองค์กรทั้ง 22 แห่ง หรือขอแค็ตตาล็อก จาก คริสตี้ส์ (Christies) ซึ่งเป็นบริษัทรับจัดประมูล และกรอกแบบฟอร์ม Written Bid Form ไว้ก่อน พร้อมแจ้งเจตจำนงเข้าร่วมงานประมูล ทีมงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อ เพื่อเชิญเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 30 ก.ย.

ซึ่งการประมูลนี้ จะเป็นการประมูลในประเทศไทย จำนวน 21 ชุด เป็นกล้อง Leica ชุดสีเหลือง 4 ชุด และกล้อง Leica ชุดสีเขียว 17 ชุด ส่วนกล้อง Leica ชุดสีเขียว 1 ชุดที่เหลือ จะมอบให้สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์ นำไปประมูลที่ประเทศสิงคโปร์ ในลำดับต่อไป เนื่องจากเล็งเห็นว่าอยากให้คนไทยในต่างประเทศ ที่สนใจเรื่องกล้องได้มีโอกาสเข้าร่วมประมูลด้วย”

สำหรับ 22 มูลนิธิและองค์กรการกุศล ประกอบด้วยมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช, มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ รวมไปถึงไตรโครงการ ที่ประกอบด้วย 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก, สภากาชาดไทย, มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.), มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, มูลนิธิจุฬาภรณ์,

มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE, ศิริราชมูลนิธิ, มูลนิธิรามาธิบดี, มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์, มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ, มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก, คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์, มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์, องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์, มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น