แม่ในนวนิยายไทย เทิดพระเกียรติพระพันปีหลวง

นิทรรศการแม่ในนวนิยาย

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หอสมุดแห่งชาติ จัดนิทรรศการ “แม่ในนวนิยายไทย” เทิดพระเกียรติ โดยนำเสนอวิวัฒนาการของนวนิยายไทย และถ่ายทอดความเป็นแม่ผ่านนวนิยายเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1.“90 พรรษา แม่ของแผ่นดิน” เสนอพระราชประวัติ ทรงเป็นพระธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และ ม.ล.บัว กิติยากร พระราชสมภพ วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 9 ทรงพระผนวช วันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

จึงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดา 4 พระองค์ ทรงปฏิบัติและบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทุกสถานเต็มบริบูรณ์ สมพระอิสรยศักดิ์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระราชมารดาผู้ประเสริฐอบรมสั่งสอนพระราชโอรสพระราชธิดาให้ทรงตระหนักรู้หน้าที่อันพึงทรงบำเพ็ญต่อบ้านเมือง

พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ทรงเป็น “แม่ของแผ่นดินและประชาชน” มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ 498 โครงการ การพัฒนาส่งเสริมอาชีพ 260 โครงการ การพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา 5 โครงการ การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 61 โครงการ การพัฒนาด้านการเกษตร 38 โครงการ การพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร 14 โครงการ และการพัฒนาด้านบูรณาการอื่น ๆ 71 โครงการ

2.“วิวัฒน์นวนิยายไทย” นำเสนอประวัติความเป็นมาของนวนิยายเล่มแรกของไทย และจัดแสดงหนังสือนวนิยายไทยที่จัดพิมพ์ในรัชสมัยต่าง ๆ

Advertisment

3.“บทบาทของความเป็นแม่ในนวนิยายไทย” นำเสนอนวนิยายเรื่องต่าง ๆ กว่า 50 เรื่อง พร้อมเนื้อเรื่องย่อ รวมทั้งนวนิยายไทยที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ กว่า 20 เรื่อง อาทิ กรงกรรม เรื่องราวที่ว่าด้วยกรรมของตัวละครต่าง ๆ ที่พานพบกัน นำมาสู่โศกนาฏกรรมและการสูญเสียผ่านผู้คนในตระกูลแบ้ เจ้าของกิจการร้านค้าและโรงสี ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

นั่นคือครอบครัว “นางย้อย” ซึ่งมีลูกชาย 4 คน ได้แก่ ปฐม ประสงค์ กมล และมงคล เป็นเรื่องราวความรักของเเม่ที่มีต่อลูก ๆ คอยบงการชีวิตลูก ๆ หวังให้ลูกมีชีวิตที่ดี แต่การปรากฏตัวของ “เรณู” ภรรยาลูกชายคนแรก คือจุดพลิกผันของเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาต้องทะเลาะกัน คนที่อยู่ในบ้านแบ้เป็นเสมือนกรงแห่งกรรมที่ขังคนทั้งหมดเอาไว้ ตอนท้ายเรื่องจะได้เห็นว่า ไม่มีใครดีไปเสียหมด และไม่มีใครเลวไปเสียหมดอีกเช่นกัน

Advertisment

ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก เรื่องราวชีวิตต้องสู้ของ “แสงคำ” พ่อเป็นกรรมกรก่อสร้าง แม่เป็นแม่ค้าในตลาด มีน้องสาวหน้าตาสวยชื่อสร้อยคำ แสงคำเป็นหญิงแกร่งต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เธอทำงานหนักส่งเสียน้องสาวให้ได้เรียนหนังสือ และได้แต่งงานกับพระเอกเพื่อยกฐานะตัวเอง

เธอช่วยสามีทำงานสร้างธุรกิจครอบครัว จนได้เป็นเจ้าของกิจการร้านเสริมสวย แต่แล้วโชคชะตาพลิกผันสามีเธอประสบอุบัติเหตุทำให้ขาพิการ แสงคำต้องดูแลทั้งธุรกิจและครอบครัว สมดังคำว่า “ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก

4.“จากนวนิยายสู่บทโทรทัศน์” นำเสนอบทละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของแม่ที่สร้างจากนวนิยาย เช่น ทองเนื้อเก้า คู่กรรม สี่แผ่นดิน

5.“เกร็ดความรู้จากนวนิยาย” นำข้อมูลที่ปรากฏในนวนิยาย เช่น สถานที่ วัฒนธรรม ประเพณี มาอธิบายเพิ่มเติมให้ความรู้แก่ผู้เข้าชม เช่น สถานีรถไฟบางกอกน้อย จากนวนิยายเรื่อง “คู่กรรม”, ทุ่งวัวแล่น จากนวนิยาย “แผ่นดินของเรา” และตลาด ๑๐๐ ปีชุมแสง จากนวนิยาย “กรงกรรม”

สำหรับนวนิยายไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เนื่องด้วยได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก และกลุ่มบุคคลที่ไปศึกษาต่างประเทศ แล้วนํารูปแบบการเขียนนวนิยายต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่ในสยาม

โดยระยะแรกมีลักษณะเป็นนวนิยายแปลและดัดแปลงจากนวนิยายต่างประเทศ เนื้อหาแนวอาชญากรรม สืบสวน ผจญภัยเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ความรัก และอิงประวัติศาสตร์ และเมื่อ พ.ศ. 2443 นวนิยายแปลเป็นภาษาไทยเรื่องแรก คือ ความพยาบาท แปลโดย แม่วัน (พระยาสุรินทราชา) จากนั้นนวนิยายได้แพร่หลายมากขึ้นถึงปัจจุบัน

นิทรรศการ “แม่ในนวนิยายไทย” จัดขึ้นถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. (หยุดวันนักขัตฤกษ์) ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ