2 นิทรรศการศิลป์ 2 อารมณ์ พารำลึกถึงอดีต-ดำดิ่งสู่ความทรงจำ

นิทรรศการศิลปะ 2 อารมณ์ จัดในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ หวนระลึกถึงความทรงจำในอดีต โดยศิลปินชื่อดัง 2 ท่าน “เทรย์ เฮิร์สต์” กับนิทรรศการ “Misremembered but not Forgotten” และ “มานิต ศรีวานิชภูมิ” กับนิทรรศการ “ทิวทัศน์แห่งความเป็นหนึ่งอันมิอาจแบ่งแยก (Landscape of Unity the Indivisible)”

นิทรรศการทั้งสองนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การเชิญผู้ชมระลึกถึงอดีต โดยนิทรรศการของ เทรย์ เฮิร์สต์ เป็นการไตร่ตรองความทรงจำของตัวเองที่ผ่านมา ขณะที่ มานิต ศรีวานิชภูมิ ต้องการสื่อสารถึงเหตุฆาตกรรมโดยรัฐในอดีตที่มิอาจลบความทรงจำและบาดแผลของผู้สูญเสียได้

สำรวจตัวเองในอดีต

เทรย์ เฮิร์สต์ (Trey Hurst ) ศิลปินและดีไซเนอร์ผู้เกิดและเติบโตที่เมือง แบตันรูช (Baton Rouge) รัฐลุยเซียนา ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ศิลปินจัดนิทรรศการ “Misremembered but not Forgotten” เป็นนิทรรศการที่ศิลปินใช้รูปทรงที่คล้ายกับการเคลื่อนไหวของพลังงานลึกลับเหนือธรรมชาติ และลวดลายอันลื่นไหล

มาสื่อถึงความทรงจำอันบิดเบือนที่เขามีต่อบ้านเกิดที่ทางตอนใต้ของรัฐลุยเซียนาภายใต้ธีมกว้าง ๆ อย่าง “การจดจำ” โดยสำรวจการที่คนเราตีตัวออกจากสถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” และหนทางที่คนเราจำกัดเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นอกจากนั้น ยังมีงานจิตรกรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการออกแบบรูปทรงทางสถาปัตยกรรม โดยเฮิร์สต์ตั้งคำถามให้กับทุกคนว่า “ผมสามารถพรรณนาถึงอดีตของผมโดยใช้ภาษาอันหลากหลายของปัจจุบันได้หรือไม่ ?”

เรื่องราวในอดีตของเฮิร์สต์ เล่าผ่านทางซีรีส์ภาพวาดสีน้ำหมึกที่ทำหน้าที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอารมณ์ของเขา การประกอบกันของน้ำหมึกอันหนาแน่นเป็นลวดลายที่สร้างขึ้นจากสถานที่ และผู้คนที่เขาพบเจอในช่วงวัยเด็กที่ลุยเซียนา ดอกแมกโนเลียวาดออกมาให้มีลักษณะคดโค้งอย่างเรียบง่าย โดยเส้นโค้งวาดขึ้นด้วยน้ำหมึกสีดำ เป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียคนรัก

พร้อมกันนี้เฮิร์สต์ยังได้อ้างอิงถึงการแผ่กิ่งก้านของครอบครัวซึ่งถูกวาดออกมาเป็นกลุ่มก้อนที่สร้างขึ้นจากการเคลื่อนไหวของฝีแปรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเชื่อมกันออกมาเป็นลวดลายที่เต็มไปด้วยพลังงานและการเคลื่อนไหว

ผลงานที่สร้างสรรค์ลงบนผืนผ้าใบเป็นดั่งสื่อกลางที่ศิลปินครุ่นคิดถึงความไม่น่าไว้วางใจของความจำที่ถ่ายทอดออกมาทางการตวัดพู่กันอย่างอิสระ รูปร่างที่มีลักษณะคล้ายกับวิญญาณ และการแผ่ขยายของสีที่แต่งแต้มเป็นเลเยอร์บาง ๆ เทรย์ เฮิร์สต์สร้างรูปทรงเหล่านี้เพื่อสื่อถึงส่วนที่คลุมเครือในความทรงจำที่เขาเผยออกมาอย่างชัดเจน

สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ เฮิร์สต์ต้องการเชิญชวนทุกคนมาดำดิ่งลงไปกับผลงานและไตร่ตรองถึงความทรงจำของตัวเอง สำรวจความเกี่ยวพันของตัวเองที่มีต่ออดีต ความน่าเชื่อถือของความทรงจำ และการยกย่องอดีตโดยไม่กระทบต่อปัจจุบัน โดยงานนี้จัดขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม-21 สิงหาคม 2565 ที่ RCB Galleria 4 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และเปิดเข้าชมฟรี

นิทรรศการรำลึกถึงตากใบ

มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินภาพถ่ายร่วมสมัยที่สะท้อนสังคมและการเมืองมาอย่างยาวนาน จัดนิทรรศการ “ทิวทัศน์แห่งความเป็นหนึ่งอันมิอาจแบ่งแยก (Landscape of Unity the Indivisible)” ซึ่งมีแนวคิดมาจากเหตุการณ์ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ทหารและตำรวจใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะและพื้นที่ใกล้เคียง จ.ปัตตานี ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 108 คน

หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน ในวันที่ 25 ตุลาคม ที่ตากใบ ทหารและตำรวจอีกเช่นกันได้ทำการล้อมจับผู้ชุมนุมชาวมุสลิมกว่าพันคน โดยขณะลำเลียงพวกเขาไปยังค่ายทหาร ปรากฏมีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน เพราะขาดอากาศหายใจจากการยัดผู้ถูกจับกุมใส่รถบรรทุกทหารจนแน่นเป็นปลากระป๋อง

ถึงแม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะชดเชยเงินเยียวยาแก่เหยื่อและครอบครัว แต่ผู้เกี่ยวข้องต่อการก่ออาชญากรรมทั้งสองกรณีกลับยังไม่ต้องรับโทษอันใด และในปี 2567 ที่จะถึงนี้ อายุความคดีอาญาจะครบ 20 ปี นั่นหมายความว่าพวกเขาทั้งหมดจะพ้นผิดทันที

ความไม่แยแสของทางการต่อความอยุติธรรมครั้งนี้ ทำให้ มานิตสร้างสรรค์ภาพถ่ายจิตรกรรมขนาดใหญ่เพื่อสื่อสารถึงเหตุฆาตกรรมโดยรัฐครั้งนี้ ด้วยการนำเอาภาพข่าวเหตุการณ์จริงจากหนังสือพิมพ์ที่รายงานสถานการณ์ ณ เวลานั้น มาพิมพ์ขยายเป็นภาพขาว-ดำบนผ้าแคนวาสขนาดใหญ่ แล้วระบายสีแดงและน้ำเงินของธงชาติไทยบนผืนภาพเหล่านั้นอีกที

“อยากช็อกและรบกวนจิตใจผู้ชม” มานิตกล่าวถึงสิ่งที่ทำ เพื่อให้ทุกคนเห็นและรู้สึกถึงความรุนแรงนั้นอีกครั้ง

“มโนทัศน์ของผู้ปกครองไทยยังเหมือนเดิม มิได้เปลี่ยนแปลง ยังคงมองว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้’ การใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐจึงชอบธรรม การแสวงหาความยุติธรรมให้แก่เหยื่อผู้ถูกกระทำจึงไม่สำคัญ และยังทำให้ผู้ปกครองไทยไม่ยอมรับรูปแบบการปกครองพิเศษที่แตกต่างออกไป เพื่อเป็นทางออกในการสร้างความสงบสุข และสันติภาพให้แก่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้” มานิต กล่าว


ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 กันยายน-15 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะเริ่มเปิดงานวันที่ 10 กันยายน ตั้งแต่เวลา 18:00 น. เป็นต้นไป ที่ Head High Second Floor เชียงใหม่