รำลึก 32 ปี “สืบ นาคะเสถียร” ผู้อุทิศชีวิตและจิตวิญญาณ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ

รำลึก 32 ปี สืบนาคะเสถียร
เครดิตภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

วันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกยกให้เป็น “วันสืบ นาคะเสถียร” เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ผืนป่าและธรรมชาติ

หากกล่าวถึงเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ นั่นคือ “สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังในวันที่ 1 กันยายน 2533

เป็นเหตุให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนหวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์สืบต่อไป

ประวัติ “สืบ นาคะสถียร”

สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า “สืบยศ” เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม โดยสืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ซึ่งสืบเป็นบุตรชายคนโต สำหรับชีวิตส่วนตัว สืบได้สมรสกับนางนิสา นาคะเสถียร มีบุตรธิดา 1 คน คือ ชินรัตน์ นาคะเสถียร

ด้านการศึกษาเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

เมื่อเรียนจบสืบสามารถสอบเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ได้ แต่เขาเลือกทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก British Council โดยสืบสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2524

สืบ นาคะเสถียร
เครดิตภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ชีวิตการทำงานของผู้เสียสละเพื่อผืนป่า

พ.ศ. 2524 สืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

จากนั้นปี พ.ศ. 2528 สืบเดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับ ดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างมาก

ปี พ.ศ. 2529 มีการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่แม้ว่าสัตว์นับพันตัวจะได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

เส้นทางนักอนุรักษ์

สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งสืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน เขาจึงเริ่มต้นการอภิปรายทุกครั้งด้วยประโยค “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

จากนั้นปี พ.ศ. 2531 สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนนักอนุรักษ์ ออกมาคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง โดยสืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

ต่อมาปี พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งสืบได้พบปัญหาต่าง ๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า

ที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

สืบ นาคะเสถียร
เครดิตภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สละชีวิตแลกกับการตระหนักรู้ของผู้คน

เมื่อความตั้งใจไม่เป็นผล วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร จึงสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืน 1 นัดในป่าลึกที่ห้วยขาแข้ง เพื่อเรียกร้องให้สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2536

ชีวิตสูญสิ้นแต่ความตั้งใจไม่สูญเปล่า

ในที่สุดความพยายามและตั้งใจของสืบ นาคะเสถียรก็เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2534

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2542 มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี เสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่า “สืบ นาคะเสถียร” เป็นผู้ที่ประชาชนเสียดายมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2

จุดเทียนหน้ารูปปั้นสืบ นาคะเสถียร คืนวันที่ 31 สิงหาคม

ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 นี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขอเชิญผู้สนใจร่วมกิจกรรมรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หลังจากว่างเว้นการจัดกิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียร ภาคป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไปถึง 2 ปี เพราะการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ทางผู้จัดงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีข่าวดีมาบอกว่า กิจกรรมรำลึกสืบ นาคะเสถียร จะกลับมาจัดตามปกติอีกครั้งในปีนี้

โดยกิจกรรมรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร จะจัดแบบเล็ก ๆ และเรียบง่ายเป็นเวลา 2 วัน เริ่มตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 31 สิงหาคม และช่วงเช้าของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565