22 กันยายน วันแรดโลก ร่วมอนุรักษ์แรด 3 หมื่นตัวสุดท้าย

วันแรดโลก
ภาพ Pixabay

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กำหนดให้วันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันแรดโลก เพื่ออนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

วันที่ 22 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature-WWF) แห่งแอฟริกาใต้ กำหนดให้วันทีี่ 22 กันยายนของทุกปี เป็น “วันแรดโลก” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงจำนวนประชากรแรดทั่วโลกที่ลดลง จนเกือบจะกลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในปัจจุบัน

ที่มาของวันแรดโลก

วันแรดโลก มีจุดเริ่มต้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature-WWF) แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และซิงห์ ที่มีความต้องการก่อตั้งวันแรดโลกขึ้นมา เพื่อเฉลิมฉลองให้กับแรด 5 สายพันธุ์ และผลักดันจนสามารถเกิดเป็นวันแรดโลกได้สำเร็จ เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาร่วมกันอนุรักษ์แรดทั้ง 5 สายพันธุ์ ได้แก่

1.แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบได้ในทวีปแอฟริกา

2.แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบได้ในทวีปแอฟริกา

3.แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) เป็นแรดที่มีนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นชัดเจน พบได้ในภูมิภาคเอเชียใต้

4.แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) มีลักษณะคล้ายแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยแรดสายพันธุ์นี้จะพบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5.กระซู่ หรือ แรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นคือ มี 2 นอ โดยนอหน้าจะใหญ่กว่านอหลัง ลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน

ประชากรแรดทั่วโลกเหลือไม่ถึง 3 หมื่นตัว

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รายงานว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำประเทศไทย หรือ WWF ได้รายงานข้อมูลล่าสุดว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรแรดทั่วโลกเหลืออยู่ไม่ถึง 30,000 ตัว ได้แก่ แรดอินเดีย เหลืออยู่ราว 3,300 ตัว, แรดดำ 5,000 ตัว, แรดขาว 20,400 ตัว และแรดชวา เหลือเพียง 44 ตัวเท่านั้น โดยพบหลงเหลือในอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลน เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งแรดชวา และแรดสุมาตรา (กระซู่) เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

จากหลักฐานชิ้นสุดท้ายเมื่อปี 2540 มีรายงานว่า พบร่องรอยของแรดสุมาตราบริเวณป่าฮาลา-บาลา ในพื้นที่รอยต่อจังหวัดยะลาและนราธิวาส

ทั้งนี้ แรดเป็นสัตว์เลือดอุ่นขนาดใหญ่อันดับสองของโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันตกอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุมาจากการถูกล่าเพื่อนำนอของแรดไปขาย ในรูปแบบของเครื่องประดับต่าง ๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ

“กาลิ” แรดอินเดียตัวสุดท้ายในไทย

สำหรับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีไฮไลต์อยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ คือ แรดอินเดียหนึ่งเดียวของไทย “กาลิ” ปัจจุบันกาลิอายุประมาณ 37 ปี ถือว่าอยู่ในวัยชรา เนื่องจากตามธรรมชาติแรดอินเดียจะมีอายุเฉลี่ยสูงสุดที่ 40 ปี แต่สำหรับกาลิได้รับการดูแลอย่างดี จึงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและอายุยืน ที่ผ่านมาสวนสัตว์เชียงใหม่พยายามเพาะขยายพันธุ์ เพราะแรดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อยู่ในบัญชีไซเตส 1 แต่เนื่องจากกาลิมีอายุมากแล้วจึงไม่สามารถมีลูกได้อีก ทำให้ปัจจุบันเหลือเพียงตัวเดียวในประเทศไทย

“กาลิ” เป็นแรดดำอินเดียที่พระราชาธิบดีแห่งประเทศเนปาล น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงพระราชทานให้กับองค์การสวนสัตว์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2529 ก่อนจะถูกส่งมาดูแลที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยขณะนั้นกาลิมีอายุเพียง 1 ปี 2 เดือน และมีน้ำหนักตัว 375 กิโลกรัม

ปัจจุบันแรดถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าสงวนขึ้นบัญชีหมายเลข 1 ไว้ตั้งแต่ปี 2520 และการล่าแรด ก็ทำให้แรดสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย ในอดีตเคยพบแรดที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และแรดตัวสุดท้ายในละแวกนี้ที่พบคือ “แรดชวา” เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่เวียดนาม

จำนวนประชากรแรดที่ลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ ถือได้ว่าเกิดจากฝีมือล่าของมนุษย์ ที่นำชิ้นส่วนอวัยวะของแรดไปใช้ประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะนอแรดที่เชื่อว่าเป็นยา และส่วนหนึ่งนำไปเป็นเครื่องประดับ

ทั้งนี้ แรดถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าสงวนขึ้นบัญชีหมายเลข 1 ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันการล่าแรดก็ทำให้แรดสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย ในอดีตเคยพบแรดที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และแรดตัวสุดท้ายในละแวกนี้ที่พบคือ “แรดชวา” ที่ถูกสังหารในปี 2553 ที่ประเทศเวียดนาม