รู้จัก นกชนหิน สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ในไทยพบกี่ตัว ทำไมต้องอนุรักษ์

นกชนหิน สัตว์อนุรักษ์ลำดับที่ 20 ของไทย
ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ชวนทำความรู้จัก “นกชนหิน” หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมลำดับที่ 20

วันที่ 7 กันยายน 2565 กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าหายาก ถูกคุกคามอย่างหนัก

การที่นกชนหินได้ถูกยกสถานะจากสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 410 เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 นั้น นอกจากจะเป็นการคุ้มครองทางกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ และเพื่อให้สอดคล้องไปกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูณพันธ์ในระดับนานาชาติ ตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อีกด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวและทำความรู้จักกับนกชนหิน สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 สำหรับผู้ที่สนใจ ดังนี้

ลักษณะและนิสัยทั่วไป

นกชนหินเป็น 1 ใน 13 ชนิดของนกเงือกที่พบในประเทศไทย และจัดเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Rhinoplex ซึ่งทั้ง 13 ชนิดมีสายพันธุ์ที่เก่าแก่ยาวนานมาตั้งแต่ 45 ล้านปีที่แล้ว โดยนกชนหินจะมีลักษณะเด่นกว่านกเงือกชนิดอื่น ๆ ด้วยโหนกสีแดงขนาดใหญ่บนหัว และสันบนปากที่หนาใหญ่และมีเนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง

นกชนหินจะมีอุปนิสัยการหากินอยู่ในระดับยอดไม้และกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็กินสัตว์ตัวเล็ก ๆ เช่น กระรอก กิ้งก่า หรือกินนกด้วยกันเอง การที่นกชนหินและนกเงือกชนิดอื่น ๆ กินผลไม้ เช่น ลูกไทร ทำให้มันมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูป่าไม้ผ่านการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ต่าง ๆ จากมูลของพวกมัน

โดยปกติแล้วนกชนหินจะใช้ชีวิตอยู่แบบสันโดษหรืออยู่เป็นคู่ ชอบทำรังในต้นไม้ที่มีขนาดสูงใหญ่และเป็นโพรง ดังนั้นผืนป่าจึงต้องมีความอุดมสมบูรณ์มากพอที่จะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ไว้ให้พวกมันทำรังและขยายพันธุ์ได้ โดยฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์และจะผสมพันธุ์เพียงปีละหนึ่งครั้งและมีลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น

แม่นกจะเป็นผู้ที่เลี้ยงลูกอยู่ในโพรงตลอดระยะเวลา 5 เดือนโดยไม่ออกไปไหน ส่วนพ่อนกจะเป็นตัวที่ออกไปหาอาหาร

ไทยพบนกชนหินไม่ถึง 100 ตัว

ถิ่นอาศัยของนกชนหินจะกระจายอยู่ในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ตั้งแต่บางส่วนของประเทศพม่า เรื่อยมาจนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และทางตอนใต้ของประเทศไทย บริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อุทยานแห่งชาติบางลาง อุทยานแห่งชาติเขาสก อุทยานแห่งชาติศรีพังงา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ที่มีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 600,000 ไร่ ซึ่งเป็นกระจายพันธุ์เฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรไปจนถึงจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น

จำนวนประชากรของนกชนหินในประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤตเป็นอย่างยิ่ง โดยพบเพียงไม่ถึง 100 ตัว และในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญอย่างอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง พบเพียง 20 ตัวเท่านั้นจากการสำรวจในปี 2562

นกชนหินกำลังถูกคุกคามจากมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยอนุสัญญาไซเตส (CITES) ได้จัดพวกมันให้อยู่ในบัญชีที่ 1 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาดเนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยและเพาะพันธุ์ อีกทั้งบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) สถาบันหลักที่มีอำนาจในการระบุฐานะและสถานภาพต่าง ๆ ของสปีชีส์ ได้จัดให้นกชนหินอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered-CR)

งาสีเลือด

นกชนหินเป็นที่ต้องการของบรรดาพรานป่าที่ต้องการส่วนหัวของพวกมันเพื่อนำไปขายต่อ โหนกสีแดงบนหัวอันเป็นที่ต้องการนั้นถูกเรียกว่า “งาสีเลือด” ซึ่งมีน้ำหนักถึง 11% ของน้ำหนักตัว และมีลักษณะพิเศษต่างจากนกเงือกชนิดอื่น ๆ เพราะเป็นส่วนที่ทึบตันทั้งชิ้น และเหมาะกับการนำไปแกะสลักเป็นเครื่องประดับ ซึ่งตลาดที่รอรับซื้ออยู่คือประเทศจีน ซึ่งโหนกของนกชนหินจัดอยู่ในประเภทเดียวกับงาช้างและนอแรด สีแดงของโหนกนกชนหินจึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดเนื่องจากเป็นสีมงคลของประเทศจีน

และด้วยวิถีชีวิตของนกชนหินที่ผสมพันธุ์ปีละ 1 ครั้ง และมีลูกครั้งละ 1 ตัว อีกทั้งตัวแม่จะเฝ้ารังอยู่ตลอดเวลาและให้ตัวพ่อออกไปหาอาหาร ดังนั้นเมื่อเกิดอันตรายใด ๆ ทั้งจากธรรมชาติและด้วยเงื้อมมือของมนุษย์กับพ่อนกก็หมายถึงความตายของนกทั้งรัง จากเดิมที่มีความเสี่ยงในการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติสูงอยู่แล้ว และยิ่งต้องพบกับการคุกคามจากมนุษย์ด้วย

จึงทำให้จำนวนประชากรของนกชนหินนั้นลดลงจนเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีของพม่า มาเลเซีย เกาะสุมาตราและบอร์เนียวของอินโดนีเซีย ที่การล่านกชนหินดูจะหนักกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป

กว่าจะเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 20

ในประเทศไทย เดิมทีนกชนหินมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอยู่ในบัญชีประเภทที่ 1 ของไซเตส แต่ก็ยังมีการล่าและประกาศขายชิ้นส่วนกันอย่างต่อเนื่องโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนอนุรักษ์เริ่มออกมาเรียกร้องให้มีการปกป้อง

แกนนำสำคัญคือมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ รวมถึงการรวบรวมรายชื่อประชาชนทั่วไปผ่านแคมเปญใน change.org กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนกชนหินและเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติในปี 2564
อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานถึงปีเศษ

จนในที่สุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม