รู้จัก อังกะลุง เครื่องดนตรีมรดกโลก แค่เขย่าก็เกิดเสียงไพเราะ

อังกะลุง doodle
Photos from Tri Yugo Wicaksono on Pixabay/Google Doodle

ทำความรู้จัก อังกะลุง เครื่องดนตรีมรดกโลก ปี 2553 แค่เพียงเขย่าก็เกิดเสียงไพเราะ

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว (16 พฤศจิกายน 2553) องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ “อังกะลุง” เครื่องดนตรีสัญชาติชวา เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ

และในวันนี้ (16 พฤศจิกายน 2565) กูเกิล ได้ทำการเปลี่ยนรูป Doodle ใหม่ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับอังกะลุง เครื่องดนตรีจากไม้ไผ่ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันดังกล่าว

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมเฉลิมฉลองในวันเฉลิมฉลองอังกะลุง ด้วยการพาไปรู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้มากขึ้น

อังกะลุง คืออะไร?

อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของไทย ที่รับเอาแบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีจากประเทศอินโดนีเซียที่เรียกว่า อุงคะลุง อังกะลุงทำขึ้นจากไม้ไผ่ จัดอยู่ในประเภทเครื่องตี ที่เกิดจากการเขย่าเพื่อให้กระบอกไปกระทบกับรางไม้ เกิดเป็นโทนเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อังกะลุงจึงเป็นเครื่องดนตรีที่มีความแตกต่างจากเครื่องดนตรีประเภทอื่นที่ไม่สามารถบรรเลงเป็นเพลงในตัวเองได้ ต้องเล่นกันเป็นวงสลับการเขย่ากระบอกอังกะลุงแต่ละตัวตามจังหวะของตัวโน้ตนั้น ๆ

ขณะที่ต้นกำเนิดของดนตรีดังกล่าว มาจากชาวซุนดาในบริเวณที่เป็นจังหวัดชวาตะวันตกและจังหวัดบันเตินของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน โดยชาวซุนดาเป็นผู้เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้มานานหลายศตวรรษ อังกะลุงและดนตรีอังกะลุงได้กลายเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประชาคมชาวซุนดาในชวาตะวันตกและบันเติน การเล่นอังกะลุงในฐานะวงดุริยางค์ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานกัน เชื่อกันว่าจะส่งเสริมคุณค่าของการทำงานเป็นทีม การเคารพซึ่งกันและกัน และความกลมกลืนในสังคม

อังกะลุง กับส่วนหนึ่งของดนตรีไทย

ย้อนกลับไปในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงแนะนำและอนุญาตให้สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์ วงศ์วรเดช เสด็จประพาสประเทศชวา พร้อมด้วยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2450

สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์ วงศ์วรเดช เสด็จจากกรุงเทพมหานคร มุ่งไปยังเมืองได ของประเทศชวา (ประเทศอินโดนีเชีย) เป็นแห่งแรก และทรงตั้งพระทัยว่า จะเสด็จไปยังตำบลมาโตเออ เมื่อเสด็จถึงตำบลมาโตเออ พวกประชาชนประมาณ10 หมู่บ้าน ต่างพากันต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ
โดยจัดดนตรีนำมาแสดงถวายให้ทอดพระเนตร ประชันกันถึง 7 วง

พระองค์สนพระทัยวง อุงคะลุงเป็นพิเศษ เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย จึงมีรับสั่งให้กงสุลไทยในชวา ซื้อดนตรีชนิดนี้ส่งมา 1 ชุด ภายในปี พ.ศ. 2451 แล้วทรงนำดนตรีชนิดนี้ฝึกสอนมหาดเล็กของพระองค์ในวังบูรพาก่อน
จึงเกิดมีดนตรีชนิดนี้ขึ้นในประเทศไทย

ต่อมาได้แพร่หลายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งคนไทยเรียกว่า “อังกะลุง” ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีการพัฒนาอังกะลุงเพิ่มเป็น 3 กระบอก ลดขนาดให้เล็กและน้ำหนักเบาลง เพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง และได้พัฒนาการบรรเลงจากการไกวเป็นการเขย่าแทน นับเป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงของไทยในปัจจุบัน

การบรรเลงเพลงของอังกะลุง

เนื่องจากอังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงดนตรีเพียงแค่ 1 โน้ตเท่านั้น ทำให้เมื่อต้องบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีดังกล่าว ต้องใช้อังกะลุงจำนวนมากเพื่อบรรเลงเพลง เป็นหนึ่งเพลง รวมถึงบรรเลงอังกะลุงในลักษณะวงอังกะลุง โดยใน 1 วงอังกะลุง จะประกอบไปด้วยชุดอังกะลุงซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 7 คู่ พร้อมเครื่องประกอบจังหวะเช่น ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ โหม่ง กลองแขก และเครื่องตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น
ธงชาติ หางนกยูง เป็นต้น

ด้วยความง่ายของอังกะลุงที่ใช้วิธีการเขย่าเพื่อให้เกิดเสียง ทำให้ตามสถานศึกษาต่าง ๆ มักนิยมนำเครื่องดนตรีดังกล่าวมาฝึกหัดให้กับนักเรียน เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีไทย ที่ให้เสียงไพเราะ ฝึกหัดไม่ยาก ใช้งบประมาณในการจัดตั้งวงไม่สูงมากนัก ทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีและความพร้อมเพรียงให้กับหมู่คณะอีกด้วย

ด้วยภูมิปัญญาของชาวอินโดนีเซีย ที่แปรเปลี่ยนไม้ไผ่ให้กลายเป็นเครื่องดนตรีสร้างความไพเราะ ทำให้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 (ค.ศ. 2010) อังกะลุง (Angklung) หรือ “อุงคลุง” เครื่องดนตรีที่มีต้นกำเนิดในอินโดนีเซีย ถูกรับรองและประกาศจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในฐานะ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ”

ข้อมูลจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง