องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องหอสมุดเนียลเซน เฮส์ ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2565 ประเภท Award of Distinction
วันที่ 8 ธันวาคม 2565 นางสาวนลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมหอสมุดเนียลเซน เฮส์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้หอสมุดเนียลเซน เฮส์ ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022) ประเภท Award of Distinction
ซึ่งมอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นเลิศในทุกด้านและก่อให้เกิดผลที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ หรือระดับภูมิภาค โดยคณะกรรมการตัดสินของยูเนสโกกล่าวเชิดชูเกียรติหอสมุดเนียลเซน เฮส์ ว่าเป็นโครงการที่อนุรักษ์ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ไว้ได้อย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันออก
อาคารหอสมุดเนียลเซน เฮส์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกที่ออกแบบโดยมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดดำเนินการในปี 2465 ถือเป็นหอสมุดชุมชนที่รวบรวมหนังสือภาษาอังกฤษแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นหอสมุดแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดดำเนินการโดยสมาคมสตรีด้วย
นอกจากความงดงามเชิงสถาปัตยกรรม ภายในตัวอาคารยังออกแบบผนังสองชั้นเพื่อช่วยให้มีอากาศถ่ายเทจึงช่วยเรื่องการเก็บรักษาหนังสือได้เป็นอย่างดีในยุคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ ทั้งเป็นเสมือนศูนย์กลางทางวัฒนธรรมใจกลางกรุงเทพฯ ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
“ผลของรางวัลนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่ล้วนมีความรักในหอสมุดเนียลเซน เฮส์ ซึ่งขอขอบคุณสมาชิกหอสมุดทุกคนและผู้สนับสนุนทุกท่าน อาทิ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มูลนิธิสิริวัฒนภักดี มูลนิธิ James H.W. Thompson ธนาคารไทยพาณิชย์ คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด บริษัท ลัคกี้ ลิฟวิ่ง พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด ที่มีส่วนช่วยพัฒนาให้หอสมุดแห่งนี้ยังคงความงดงามทรงคุณค่าและสามารถเดินหน้าทำหน้าที่เป็นหอสมุดสาธารณประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นางสาวนลิน วนาสิน กล่าว
ทั้งนี้ การประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2565 มีโครงการส่งเข้าพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 50 โครงการจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมีโครงการที่ได้รับรางวัล 13 โครงการ จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน จีน อินเดีย อิหร่าน เนปาล และประเทศไทย อาทิ The Chhatrapati Shivaji Maharaj Vastu Sangrahalaya พิพิธภัณฑ์ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย Topdara Stupa สถูปหินในเมืองชาริการ์ ประเทศอัฟกานิสถาน และ Natian Buddhist Temple วัดในมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงหอสมุดเนียลเซน เฮส์ ประเทศไทย
การก่อตั้งหอสมุด
สำหรับหอสมุดเนียลเซน เฮส์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2412 โดยสมาชิกสมาคมสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ที่นำรายได้จากการขายของของสมาคมมาจัดตั้งสมาคมหอสมุดสตรีกรุงเทพ เพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อบังคับว่าการบริหารงานต้องประกอบด้วยกรรมการสมาคมที่เป็นสตรีไม่เกิน 12 คน ซึ่งนายกสมาคมคนแรก คือ ซาราห์ บรัคลีย์ แบรดลีย์ (Sarah Blachley Bradley) ภรรยาของหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beech Bradley)
แรกเริ่มหอสมุดเปิดให้บริการสัปดาห์ละครั้ง พนักงานส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ต่อมาในปี 2440 ได้ขยายเวลาทำการเป็นทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ โดยจัดจ้างบรรณารักษ์มาดูแลความเรียบร้อย เดิมหอสมุดตั้งอยู่ในบ้านส่วนตัว ไม่เสียค่าเช่าที่ ต่อมาในปี 2454 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมหอสมุดกรุงเทพ และสร้างอาคารหอสมุดโดยซื้อที่ดินใกล้กับถนนสุรวงศ์เมื่อปี 2457
หอสมุดเนียลเซน เฮส์ มาจากชื่อของ เจนนี เนียลเซน เฮส์ สตรีชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นภรรยาของ ดร.โทมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ และอาจารย์สอนวิชาแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลศิริราชในยุคนั้น ซึ่งเธอเข้ามาทำงานให้กับสมาคมหอสมุด ตั้งแต่ปี 2438 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เธอมีชีวิตอยู่ ได้อุทิศตนเองและเวลาเพื่อให้กิจการหอสมุดสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเธอทำงานให้กับหอสมุดเป็นเวลา 25 ปี ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือนเมษายน 2463 ด้วยเหตุนี้ ดร.เฮส์ จึงสร้างหอสมุดแห่งใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของเขากับภรรยา รวมถึงให้เกียรติการอุทิศตนของภรรยาในการทำงานกับสมาคมหอสมุด
สถาปัตยกรรมและความงาม
สำหรับอาคารหอสมุดแห่งใหม่สร้างบนพื้นที่ใกล้กับหอสมุดเก่าบริเวณถนนสุรวงศ์ โดย ดร.เฮส์ได้ว่าจ้าง มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งอัมพรสถาน สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระที่นั่งอนันตสมาคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บ้านนรสิงห์ (ทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน) มิวเซียมสยาม และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้มาออกแบบอาคารถาวรเพื่อเก็บรักษาหนังสือและเป็นที่ทำการ จากนั้นสมาคมหอสมุดกรุงเทพ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นหอสมุดเนียลเซน เฮส์ พร้อมกับอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จ และเริ่มเปิดทำการในเดือนมิถุนายน 2465
มารีโอ ตามัญโญ ได้ออกแบบอาคารหอสมุดเนียลเซน เฮส์ ในสไตล์นีโอคลาสสิก มีความสมมาตรกลมกลืน ผสานคุณลักษณะให้สามารถใช้งานได้จริง เช่น โครงสร้างผนังสองชั้นที่ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงแสดงลวดลายคลาสสิกแฝงอยู่ในตัวอาคาร
ทั้งลวดลายปูนปั้น เสา ไม้สัก และอุปกรณ์ตกแต่ง โดยรายละเอียดดั้งเดิมมากมายยังคงมีอยู่ให้ได้ใช้งานกระทั่งปัจจุบัน
อีกจุดเด่นของหอสมุดเนียลเซน เฮส์ คือ โดมสไตล์อิตาเลียน ที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและงดงาม จนนิตยสาร The Bangkok Time กล่าวถึงว่า หอสมุดแห่งนี้เป็นเหมือนพระราชวังขนาดย่อม รวมทั้งอาคารแห่งนี้ยังได้รับรางวัลแลนด์มาร์กประวัติศาสตร์ ในปี 2529 จากสมาคมสถาปนิกสยามอีกด้วย
หอสมุดเนียลเซน เฮส์ได้รับความนิยมอย่างมาก จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่าหนังสือส่วนใหญ่ถูกขโมยหายไป แต่ต่อมาได้รับการส่งคืนเป็นบางส่วนจากประเทศญี่ปุ่น และเมื่อ ดร.เฮส์ เสียชีวิตก็ได้ทำพินัยกรรมส่งมอบหนังสือส่วนตัวทั้งหมดให้กับหอสมุดเนียลเซน เฮส์ และบริจาคตำราการแพทย์ให้ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย