วันตรุษจีน ไหว้พระขอพรเสริมโชคลาภ 5 วัดจีนทั่วกรุงเทพฯ

วัดเล่งเน่ยยี่1
แฟ้มภาพ

ชวนไหว้พระขอพรเสริมโชคลาภและความเป็นสิริมงคลต้อนรับเทศกาลตรุษจีน กับ 5 วัดจีนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

วันที่ 19 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในกิจกรรมที่ชาวไทยเชื้อสายจีนมักทำในช่วงเทศกาลตรุษจีน หนีไม่พ้นการไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมโชคลาภ บารมี และความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเดินทางไปทำบุญที่วัดจีน ซึ่งมีเทพเจ้าของจีนประดิษฐานอยู่ และมีการขั้นตอนการปฏิบัติตามแบบจีน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมวัดจีนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครให้ได้ไปขอพรต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ดังนี้

1.วัดมังกรกมลาวาส

เมื่อเอ่ยถึงวัดจีนในกรุงเทพมหานคร คงไม่มีใครไม่นึกถึงวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เนื่องจากเป็นวัดจีนที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างเยาวราช อีกทั้งยังมีเชื่อเสียงในเรื่องของการทำบุญแก้ปีชงอีกด้วย

โดยวัดเล่งเน่ยยี่ ก่อตั้งเมื่อปี 2414 มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ

จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวโลกบาลทั้ง 4 มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีนและถืออาวุธและสิ่งของต่าง ๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม และ เจดีย์ ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ซี้ไต๋เทียงอ้วง หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครองทิศต่าง ๆ ทั้ง 4 ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า, พระอมิตาภพุทธะ และ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ ซำป้อหุกโจ้ว พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า จับโป๊ยหล่อหั่ง

ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่าง ๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ ไท้ส่วยเอี๊ยะ เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา, หั่วท้อเซียงซือกง, ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ, เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ ไต่เสี่ยหุกโจ้ว, พระเมตไตรยโพธิสัตว์ หรือ ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ, กวนอิมผู่สัก (หรือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) แป๊ะกง และ แป๊ะม่า รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์

วัดเล่งเน่ยยี่ 1
เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก วัดมังกรกมลาวาส 龍蓮寺

2.วัดบำเพ็ญจีนพรต

วัดบำเพ็ญจีนพรต หรือ วัดย่งฮกยี่ เป็นวัดจีนเก่าแก่ขนาดเล็กล้อมรอบด้วยอาคารพาณิชย์ ตั้งอยู่ในย่านเยาวราช ซอย 8 หรือ ตรอกเต๊า สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2338 ถือเป็นวัดจีนแห่งแรกของไทย ลักษณะตัวอาคารวัดเป็นตึกเก่ายุคต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 แบบตะวันตกที่สร้างล้อมวิหารจีนไว้ โครงสร้างอาคารเป็นไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วย สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูนเป็นจั่วปั้นลมตามแบบช่างจีนแต้จิ๋ว

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 3 องค์ ได้แก่ พระศากยมุนีพุทธเจ้า, พระอมิตาภะพุทธเจ้า และ พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า ด้านหน้าพระประธานประดิษฐาน พระจัณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (จุนที้ผู่สัก) คือปางหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทรงลักษณะแห่งพุทธมารดา มี 18 กร และมีรูปพระโพธิสัตว์ธรรมบาลยืน 2 องค์ คือ พระสกันทโพธิสัตว์ และพระสังฆารามโพธิสัตว์

นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปศิลาขาว 1 องค์ ศิลปะพม่าแบบมัณฑเลย์ พระพุทธรูปโลหะ 3 องค์ยืน มีลักษณะเป็นจีวรเป็นลายดอก ศิลปะไทยแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ด้านข้างล้อมด้วย 18 พระอรหันต์ที่เป็นศิลปะ “ท๊กทอ ท๊กชา” ผ้าป่านอาบน้ำยาลงรักปิดทองที่มีแห่งเดียวในประเทศ สองข้างพระประธาน มุมด้านในวิหารประดิษฐานรูปเทพท้องถิ่นของจีนที่ทำหน้าที่เป็นธรรมบาลคุ้มครองรักษาวัด คือ เทพเจ้ากลุ่มดาวเหนือ หรือ เฮี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ และรูปพระสังฆารามปาลโพธิสัตว์ หรือเทพกวนอู (แคนำผู่สัก) ซึ่งเทพสององค์นี้เป็นเทพท้องถิ่นจีนที่ชาวบ้านเลื่อมใสเป็นอย่างมาก

วิหารพระเมตไตรยโพธิสัตว์ อยู่ด้านหน้าวิหารพระรัตนตรัย ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ (หมี่เล็กผู่สัก) หันพระพักตร์สู่ประตูทางเข้าวัด และ รูปพระสกันทะโพธิสัตว์ (อุ่ยท้อผู่สัก) ทำด้วยกระดาษ หันพระพักตร์สู่วิหารพระรัตนตรัย มุมสุดท้ายคือเทพเจ้าจี้กงและเทพเจ้าองค์อื่น ๆ

พระนครสีเทา
แฟ้มภาพ

3.วัดโพธิ์แมนคุณาราม

วัดโพธิ์แมนคุณาราม (โพวมึ้งป่ออึงยี่) ตั้งอยู่บนถนนสาธุประดิษฐ์ ซอย 19 (ซอยวัดโพธิ์แมน) แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นวัดฝ่ายมหายานและเซน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย สืบทอดหลักธรรมคำสอนมาจากนิกายเซน สาขาหลินฉี (วิปัสสนา) เป็นศูนย์กลางหลักธรรมคำสอนของนิกายวินัย และนิกายมนตรยานของศาสนาพุทธแบบทิเบต เป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธนิกายมหายานและวัชรยาน อีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของประเทศไทย

สำหรับถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ของวัด ได้แก่ อุโบสถ 3 ชั้น ยอดเป็นฉัตรเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในประดิษฐานพระพุทธวัชรโพธิคุณ ปิดทองเหลืองอร่าม พร้อมด้วยหมู่พระพุทธรูป 1,000 องค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเพดานทั้ง 3 ชั้นของอุโบสถ ด้านหลังอุโบสถเป็นวิหารบูรพาจารย์ ประดิษฐานสรีระร่างท่านเจ้าคณะใหญ่โพธิ์แจ้ง มหาเถระซึ่งนั่งสมาธิดับขันธ์

นอกจากนี้ ยังมีวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (พระกวนอิมโพธิสัตว์) ปางสหัสกร ปางสหัสเนตร (พันมือ พันตา) ซึ่งเป็นวัตถุโบราณแกะสลักด้วยไม้จันทน์หอมจากเมืองจีน สมัยราชวงศ์ถัง (อายุประมาณ 1,300 ปี)

วัดโพธิ์แมนคุณาราม
เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก วัดโพธิ์แมนคุณาราม | Bhoman Khunaram Temple

4.วัดทิพยวารีวิหาร

วัดทิพยวารีวิหาร หรือ กัมโล่วยี่ ตั้งอยู่บนซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี โดยชาวญวนอพยพที่ติดตาม องเชียงชุน ราชบุตรเจ้าเมืองเว้ ที่หนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในปี 2319 ซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงพระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่อาศัยเรียกว่าบ้านญวน และมีวัดฝ่ายมหายานขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยวัดนี้ประดิษฐานองค์เทพสำคัญ ๆ มากมาย ได้แก่ หมออูโต๋ว องค์ไท้อิม เทพปรองดองหรือเทพแห่งความรัก, เทพขุนพลเอี่ยยิ่ม, เทพฮั้วกวงไต่ตี่ (เทพ 3 ตา), พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และรูปหล่อจำลองของหลวงจีนคณาณัติจีนพรต (เย็นบุญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยวารี ส่วนด้านซ้ายของวัดจะเป็นศาลเทพมังกรเขียวที่ประดิษฐานเทพไท้เอี๊ยง ซึ่งเสมือนเทพารักษ์ผู้พิทักษ์บ่อน้ำทิพย์ประจำวัด และเทพมังกรเขียว ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนแต้จิ๋วและยังเป็นในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนมาเป็นเวลาช้านานอีกด้วย

วัดทิพยวารีวิหาร
เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก วัดทิพยวารีวิหาร-กัมโล่วยี่ / 敕賜甘露禪寺

5.ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า

ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) เป็นศาลเจ้าจีนเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยชาวจีนเรียกศาลเจ้าแห่งนี้ว่า ตั่วเหล่าเอี้ย (เทพเจ้าใหญ่) เป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม

ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นที่นิยมสักการะของทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากมีความเชื่อว่า เมื่อมาขอพรที่นี่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เสริมอำนาจบารมี ร่ำรวย นอกจากนี้ สายมูยังนิยมเดินทางการแก้ปีชง และเสริมสิริมงคลที่นี่อีกด้วย

ศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า
เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก ศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า – official