ปฏิบัติการช่วยเด็กติดถ้ำ วิทย์กับไสย…ไปด้วยกันได้

โดย : พิราภรณ์ วิทูรัตน์ 

เรื่องราวที่คนไทยสนใจที่สุดในช่วงเวลา 2 สัปดาห์มานี้ ไม่มีเรื่องไหนเกินข่าวกรณีนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายและโค้ชติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมระยะเวลาการหายตัวไปจนกระทั่งพบเจอตัวครบทั้ง 13 ชีวิตเป็นเวลานานกว่า 9 วันเศษ เรียกได้ว่า กระแสข่าวนี้ยึดครองพื้นที่สื่อแทบทุกตารางนิ้วเลย และโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง

กว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายเป็นเรื่องราวที่ทำให้คนไทยยิ้มแก้มปริกันในคืนวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ปฏิบัติการค้นหาทั้ง 13 ชีวิตเร่งเครื่องเต็มสรรพกำลังกันแข็งขันทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่การนำกำลังคน เทคโนโลยี และการคิดคำนวณด้วยตรรกะเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเท่านั้น แต่ยังผนึกกำลังร่วมกับความเชื่อที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือกรอบแห่งกฎเกณฑ์การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้

การหายตัวไปของทั้ง 13 คนในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้ถูกผูกโยงเข้ากับความเชื่อว่าด้วยเรื่องศาสนา-ภูตผี-เจ้าที่เจ้าทาง-การขอขมาในทันทีที่ข่าวการหายตัวไปถูกยืนยันและเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนโดยไม่ต้องผ่านการค้นคว้าหรือพิสูจน์ตรรกะเหตุผลใดทั้งสิ้น

AFP PHOTO / YE AUNG THU

 

ในทางวิทยาศาสตร์ ได้มีการระดมกำลังผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม (หน่วยซีล) ทีมนักดำน้ำจากประเทศอังกฤษ ทีมช่วยเหลือทางด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล นักภูมิศาสตร์ การอำนวยความสะดวกด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ รวมทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ดำน้ำและเครื่องโดรนตรวจจับความร้อน ฯลฯ

ส่วนฝั่งความเชื่อต่อเรื่องเหนือธรรมชาติหรือไสยศาสตร์ได้เริ่มขึ้นหลังมีการยืนยันว่าทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ชหายตัวไป ซึ่งจะไล่เรียงโดยแบ่งไสยออกเป็น 2 สาย คือ ไสยในแง่ความเชื่อเรื่องภูตผี และไสยในแง่ของพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ

1.ไสยในแง่ความเชื่อเรื่องภูตผี

-พิธีขอขมาเจ้าแม่นางนอน : สิ่งที่บรรดาผู้ปกครองของเด็ก ๆ ทีมหมูป่าเลือกกระทำเป็นลำดับแรก คือ การประกอบพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอขมาเจ้าแม่นางนอน มีการบนบานว่า หากเด็กทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัยจะให้บวช 9 วัน

AFP PHOTO / Lillian SUWANRUMPHA

-พิธีฮ้องขวัญ : พิธีฮ้องขวัญเป็นความเชื่อตามประเพณีดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นทางภาคเหนือ โดยมีความเชื่อว่า ปกติแล้วขวัญประจำตัวของคนเรามีทั้งหมด 32 ขวัญ เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแก่ชีวิตจะทำให้ขวัญกระเจิดกระเจิง จึงต้องทำพิธีฮ้องขวัญเพื่อเรียกขวัญที่หายไปกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์

-ร่างทรง : เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะการมาของร่างทรงทำให้ผู้ปกครองต่างรู้สึก “ใจเสีย” กับคำพูดที่ร่างทรงบอกว่า เด็กที่ติดอยู่ในถ้ำได้สื่อสารผ่านตัวเธอว่า “หนูหิว หนูกลัว”

2.ไสยในแง่ความเชื่อทางศาสนา

AFP PHOTO / Lillian SUWANRUMPHA

-ครูบาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา-ช่วยเปิดปากถ้ำ-สื่อสารกับเจ้าที่เจ้าทาง : ไสยในแง่นี้ได้รับความสนใจจากทั้งคนในพื้นที่และประชาชนทั่วประเทศที่ติดตามข่าวนี้ ในเวลา 9 วันที่เด็กติดอยู่ในถ้ำมีพระเกจิอาจารย์เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาช่วยเปิดปากถ้ำ 3 รูป ได้แก่ ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร ครูบาน้อย เตชปญโญและครูบาแสงหล้า ซึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือครูบาบุญชุ่ม พระเกจิที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากครองตนในผ้าเหลืองมาเป็นเวลานาน และเป็นที่เลื่องลืออย่างมากในหมู่ศิษยานุศิษย์เมื่อครั้งเข้าไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานในถ้ำตามลำพังเป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน 3 วัน

เรื่องราวการช่วยเหลือเด็กติดถ้ำหลวงเป็นกระแสที่ถูกพูดถึง และมีการหยิบยกไปแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกระแสสังคมออนไลน์ที่มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่

1.ฝ่ายที่เชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ที่แสดงความเห็นไปในทางว่า การค้นพบทีมหมูป่าและโค้ชหาได้เกี่ยวพันกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของครูบาบุญชุ่ม และพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ต่าง ๆ แต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผู้เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์มองว่า สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแท้จริงและจับต้องได้ก็คือ ความเสียสละ ความทุ่มเทของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร โดยเฉพาะหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม (หน่วยซีล) และทีมนักดำน้ำที่ทำหน้าที่ดำน้ำฝ่ากระแสน้ำท่วมและหินงอกหินย้อยเข้าไปในถ้ำจนพบตัวทีมหมู่ป่าและโค้ชในที่สุด

2.ฝ่ายที่ผสานเรื่องวิทยาศาสตร์และความเชื่อทางไสยศาสตร์เข้าด้วยกัน ฝ่ายนี้มีจำนวนพอ ๆ กับฝ่ายที่ชูวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและทีมช่วยเหลือ มิได้เลือกวิทย์หรือไสยเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มีความพยายามชั่งน้ำหนักทั้งสองทางอย่างพอเหมาะพอควร

ในโลกโซเชียลมีเดียมีการแสดงความคิดเห็น ถกเถียงกันระหว่าง 2 ฝ่ายนี้อย่างค่อนข้างดุเดือด โดยฝ่ายวิทย์มักจะยกความเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาข่มความเชื่อทางไสยศาสตร์ ส่วนฝ่ายที่ผสานทั้งวิทย์และไสยก็ให้เหตุผลว่า ความเชื่อที่พวกเขายึดถือเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่ช่วยพยุงความรู้สึกที่กำลังเปราะบางจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ขณะเดียวกัน ฝ่ายนี้ก็เอาใจช่วยทีมช่วยเหลือและเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถช่วยเหลือทีมหมูป่าและโค้ชได้ในที่สุด

AFP PHOTO / Lillian SUWANRUMPHA

ร.ศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อถกเถียงต่อปรากฏการณ์นี้ว่า วิกฤตเรื่องถ้ำสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยมองสิ่งที่มิใช่มนุษย์ (non-human) ในฐานะที่เป็นวัตถุที่มีชีวิต มองถ้ำเป็นเสมือนบุคคลที่มีชีวิต มีอารมณ์ และมีอำนาจ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการพยายามหาทางช่วยชีวิตเด็กและโค้ชที่ติดอยู่ในถ้ำ คือการพยายามที่จะ “สื่อสาร” กับ “สิ่งที่มีชีวิต” ให้ “ปล่อย” เด็กและโค้ชออกมา เราจะเห็นได้ว่าบทกวี บทเพลง ถูกประพันธ์ออกมา พิธีกรรมที่ถูกประกอบขึ้นไม่ว่าจะโดยพุทธหรือโดยผี ต่างก็ต้องการสื่อสารกับเจ้าแม่นางนอนราวกับว่าเจ้าแม่ตนนี้คือตัวถ้ำหลวง ทั้งในแง่ที่เป็นอุปลักษณ์และในแง่พิธีกรรม

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ความเชื่อที่ว่าวัตถุทางกายภาพนั้นเป็นบุคคล เป็นสิ่งที่มีมานานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และยังคงดำรงอยู่แม้ในสังคมที่รุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เสมอไป เราจะพบการ syncretize และ hybridize (การผสมผสานความเชื่อที่มีมากกว่าหนึ่งความเชื่อเข้าด้วยกัน) ความเชื่อหลากหลายกระแสในสังคมอยู่ตลอดเวลา

AFP PHOTO / Lillian SUWANRUMPHA

กรณีถ้ำเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของการพยายาม accommodate โลกแห่งความจริงหลายประเภท สะท้อนให้เห็นความยืดหยุ่นในวิธีคิดของคนไทยอยู่ไม่น้อย ไม่มีใครอุตริเห็นว่า เพียงนั่งสมาธิหรือประกอบพิธีกรรมสื่อสารกับเจ้าแม่นางนอนเฉย ๆ เด็ก ๆ ก็จะเดินออกจากถ้ำมาเอง

ในทางตรงกันข้ามเราจะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหน้าถ้ำคือ ความพยายามเปิดโอกาสให้ศาสตร์และความเชื่อประเภทต่าง ๆ ได้ทำงานร่วมกันในโลกที่ตนเองเชื่อและในความถนัดที่ตนเองมี ครูบาอาจจะประกอบพิธีกรรม แต่ครูบาก็เชื่อมั่นในความสามารถของเจ้าหน้าที่ สร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นฝ่าฟันอุปสรรคในทางกายภาพไปจนกระทั่งพบเด็ก ๆ ได้ ทุกคนทำหน้าที่ตามความเชื่อและความเชี่ยวชาญของตนด้วยภูมิปัญญาและความสามารถทางกายภาพของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นได้ทำให้ค้นพบเด็ก ๆ ในที่สุด

“สังคมที่เปิดกว้างและให้เสรีภาพต่อการแสดงออกทางความเชื่อ วิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของการเคารพในความต่าง ไม่เหยียด และไม่เบียดขับโลกที่ด้อยอำนาจ ควรเป็นเป้าหมายสำคัญของสังคมไทย ซึ่งจริง ๆ ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นหน้าถ้ำ ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับโลกออนไลน์ในปัจจุบัน” ร.ศ.ปิ่นแก้วกล่าวปิดท้ายไว้อย่างน่าฉุกคิด

ความพยายามช่วยเหลือเด็กออกมาจากถ้ำในครั้งนี้สะท้อนอะไรหลายอย่างให้เราได้เห็น ได้คิด และได้เรียนรู้ หนึ่งแง่มุมที่เหตุการณ์นี้ทำให้เราได้คิดคือ ความเชื่อและศรัทธาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล หากความเชื่อและศรัทธาเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เราก็ไม่ควรใช้แว่นของเรามองโลกทรรศน์ของเขาอย่างดูแคลน เหตุการณ์นี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ที่หน้างานการ ช่วยเหลือทีมหมูป่า ทั้งผู้ว่าฯเชียงราย และผู้ปฏิบัติงานต่างก็สอดประสานทั้งวิทย์และไสยเข้าด้วยกันอย่างลงตัว นั่นคือการเคารพในความคิดความเชื่อที่ต่างกัน และเปิดรับอย่างเปิดกว้าง