สำรวจ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับสิทธิที่หายไปของ LGBT ไทย

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

 

หลังจากมีการพิจารณายกร่างถึงสามรอบ ในที่สุดช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็มีข่าวดีให้เหล่าคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ได้เฮ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต” หรือที่เรียกกันอย่างย่อว่า “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” เพื่อเตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

พ.ร.บ.คู่ชีวิต คืออะไร? คงเป็นคำถามที่ผุดขึ้นในหัวของใครหลายคน

เมื่อสิ่งที่เราทราบเบื้องต้นมีเพียงว่า นี่คือพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ สรุปแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับกลุ่มคู่รักเพศเดียวกัน สามารถแต่งงานกัน จดทะเบียนสมรส มีสิทธิเท่าเทียมกันกับคู่รักต่างเพศหรือไม่

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาให้ท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

– คู่ชีวิตไม่เท่ากับคู่สมรส

สิ่งที่ชวนให้ผู้เขียนสงสัยเป็นอย่างแรก คือ คำว่า “คู่ชีวิต” แน่นอนว่าเราไม่เคยเห็นคำนี้ในบทบัญญัติทางกฎหมายฉบับใดมาก่อนเลย นั่นหมายความว่า คำว่า “คู่ชีวิต” ส่งผลต่อทิศทางของ พ.ร.บ.นี้ทางใดทางหนึ่งแน่นอน

คำว่า “สมรส” ที่ถูกบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ตามหลักกฎหมายครอบครัวของไทยในมาตรา 1448 ได้กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้บุคคลเพศชายและเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนสมรสและมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรสหรือสามีภริยาได้ “การแต่งงาน” ไม่ผูกติดกับกฎหมายเป็นเพียงการจัดงานพิธีฉลองคู่รักใหม่ ไม่มีพันธะทางกฎหมายเสมือนเป็นคนคนเดียวกันอย่างการสมรส ส่วนคำว่า “คู่ชีวิต” เป็นคำที่ใช้ในพระราชบัญญัติคู่ชีวิตเท่านั้น

นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติคำนี้ในทางกฎหมายของประเทศไทย ทำให้สิทธิของคู่สมรสจึงไม่เท่ากับสิ่งที่คู่ชีวิตได้รับ นำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจมีบทบัญญัติหลายประการที่ตกหล่นไม่ครอบคลุมสิทธิที่คู่รัก LGBT พึงได้นั่นเอง

– สิทธิที่ขาดหายไปใน พ.ร.บ.

ถ้าคู่ชีวิตไม่เท่ากับคู่สมรส แล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สิทธิอะไรแก่คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศบ้างล่ะ ?

สิทธิที่พึงได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่ 3 นี้มีด้วยกันหลายประการ ได้แก่ สิทธิในการให้และรับมรดก, สิทธิในการทำนิติกรรมและจัดการหนี้สินร่วมกัน, สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน, สิทธิในการร้องขอต่อศาลเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายที่วิกลจริตหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ, สิทธิในการจัดการสินสมรสร่วมกัน ส่วนสิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน และสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่รักร่วมกันใช้วิธีการดึงบทบัญญัติตาม ปพพ.มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ทว่า ส่วนสำคัญที่ขาดหายไปใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ-สกุล, การรับบุตรบุญธรรมและการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยี (การอุ้มบุญ), สวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐที่คู่สมรสพึงได้รับ, การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส, การเป็นคู่ความประมวลกฎหมายอาญาแทนคู่สมรส, สิทธิในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรสตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ เหล่านี้คือสิทธิตาม ปพพ.ที่คู่สมรสได้รับ แต่กลับไม่มีการบรรจุใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า บทบัญญัติข้างต้นทับซ้อนกับกฎหมายหลายฉบับ ทำให้เกิดความสลับซับซ้อนในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. สำหรับส่วนที่ยังขาดหายไปทางทีมร่าง พ.ร.บ.เสริมว่า อาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายภาคหน้า ซึ่ง ณ ขณะนี้เป้าหมายหลัก คือ ความพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ได้โดยเร็วที่สุด

– พ.ร.บ.คู่ชีวิตตอกย้ำความแปลกแยกของเพศทางเลือก


เสียงจากกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยิ่งเป็นการฉายภาพความแตกต่างแปลกแยกจากสังคมของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นไปอีก ทั้งการใช้คำว่า “คู่ชีวิต” แทน “คู่สมรส” ทำให้กฎหมายครอบครัวหลักที่มีการบัญญัติสิทธิของคู่สมรสชายหญิงไม่ครอบคลุมถึงคู่ชีวิต พวกเขามองว่าสิ่งที่รัฐควรทำน่าจะเป็นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ด้วยการแก้ไขที่ ปพพ.โดยตรง ไม่ใช่การแยกตัวบทกฎหมายสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาโดยเฉพาะ

ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า “คู่รักเพศเดียวกัน” ใน พ.ร.บ. ก็ราวกับเป็นการตีตราว่า ในโลกนี้มีเพียงสองเพศเท่านั้น คือ หญิงและชาย ซึ่งในความเป็นจริง ยังมีกลุ่มคนข้ามเพศ (transgender) กลุ่มที่มีเพศกำกวม (intersex) รวมถึงกลุ่มคนที่มีสำนึกทางเพศไม่ใช่ชายหรือหญิง (non-binary) ที่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายใดก็ไม่สามารถรองรับความหลากหลายที่ว่าได้ ด้วยความละเอียดอ่อนที่ว่าจึงควรจะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมออกแบบร่าง พ.ร.บ.ที่จะถูกนำมาใช้กับพวกเขา แทนที่การกระจุกอำนาจไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ส่วนคำว่า “คู่ชีวิต” ของบ้านเราก็มีความหมายเท่ากับคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น คู่รักต่างเพศไม่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ขณะที่บ้านเราเพิ่งเริ่มต้น ด้านฟากฝั่งของประเทศอังกฤษที่มีการให้สิทธิคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสได้มานานกว่าหลายสิบปี มีแผนที่จะให้สิทธิคู่รักต่างเพศจดทะเบียนคู่ชีวิตได้อย่างคู่รักเพศเดียวกัน เป็นทางเลือกให้แก่คู่รักที่ไม่อยากแต่งงานหรือมีสถานะคู่สมรสสามารถใช้สถานะคู่ชีวิตแทนได้ นับเป็นการเปิดกว้างให้แก่ทุกเพศเพื่อเลือกทางเดินชีวิตตามสิทธิทางกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น


– ข้อกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต

ประการสำคัญที่ทำให้เกิดข้อกังวลกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านที่ประชุม สนช. และมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว การจะกลับมาแก้ไขสิทธิที่ขาดหายไปย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงสะท้อนจากผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ จะยิ่งเป็นการทำให้คนกลุ่มนี้ถูกมองว่า

“ได้คืบจะเอาศอก” ทั้งที่ในความเป็นจริงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็มีสถานะพลเมืองของรัฐ เท่ากับชายจริง หญิงแท้คนอื่น ๆ ไม่ต่างกันความกังวลที่ว่ายิ่งเป็นการสะท้อนการมีอยู่ของพวกเขาในสังคมไทยในสถานะพลเมืองชั้นสองของประเทศที่ไม่ได้มีการเปิดรับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างแท้จริง มองอย่างผิวเผินภาพลักษณ์ของบ้านเราคล้ายกับมีการเปิดกว้างอย่างอิสรเสรีให้แก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หากในความเป็นจริง ทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมายและปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมต่อกลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่ได้สวยงามดังที่หลายคนคิดฝันไว้

แม้จะมีหลายเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้มากนัก แต่ก็ปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งไปไม่ได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่พวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนมาหลายสิบปี วันนี้สิ่งเหล่านั้นได้ผลิดอกออกผลสู่รูปแบบของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่ 3 พุทธศักราช 2561 ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงอึดใจเดียวเท่านั้น ก้าวสำคัญของ LGBT ไทยกำลังค่อย ๆ เดินทางเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนในอนาคตต้องมารอดูกันต่อไปว่า สิทธิที่ขาดหายไปของพวกเขาจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอีกครั้งเมื่อใด เพราะ พ.ร.บ.ที่ถูกแยกออกมาจากกฎหมายครอบครัวหลักก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมองกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศผ่านสายตาของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ