สำรวจชีวิตมนุษย์เงินเดือน ผ่านตัวแทนชาวออฟฟิศบนเพจเฟซบุ๊ก

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเกลียดวันจันทร์ เบื่อหน่ายการจราจรในกรุงเทพฯ โดนวินมอไซค์โก่งราคา กลางเดือนเงินไม่พอใช้ หรือบรีฟลูกค้าแล้วดีลไม่ลงตัวสักที เชื่อเถอะว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเจอกับเรื่องน่าปวดเหล่านี้เพียงลำพัง เพราะในช่วง 4-5 ปีหลังมีเพจเฟซบุ๊กที่ทำหน้าที่เสมือนตัวแทนเสียงบ่นของบรรดามนุษย์เงินเดือนเกิดขึ้นมากมายหลายสิบเพจ นอกจากยอดไลก์ยอดแชร์คอนเทนต์ที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ engagement ในเพจที่แม้ว่ามนุษย์เงินเดือน-ลูกเพจแต่ละคนจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่กลายเป็นว่าคอนเทนต์ตลกร้ายพวกนี้สามารถยึดโยงชีวิตของพวกเขาเข้าด้วยกันไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาทุกท่านไปสำรวจวิถีชีวิตของชาวออฟฟิศผ่านการฉายภาพปรากฏการณ์บนเพจเฟซบุ๊กว่า ปัจจุบันชีวิตของมนุษย์เงินเดือนต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และตัวแทนเสียงบ่นอย่างแอดมินเพจมักจะเลือกหยิบยกคอนเทนต์แบบไหนมาเล่าสู่กันฟังจนเกิดเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมมากขนาดนี้

เพจเฟซบุ๊ก คือ แหล่งบรรเทาทุกข์ของมนุษย์เงินเดือน

เมื่อลองสำรวจบรรดาเพจที่เกิดขึ้นมากมายจะพบว่า คอนเทนต์ในเพจที่ได้รับความนิยมมีหลัก ๆ ด้วยกัน 3 อย่าง คือ เงินเดือน วันหยุด และข้อขัดแย้งกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงาน ใน 3 ส่วนนี้คอนเทนต์ที่ได้รับกระแสตอบรับดีที่สุด คือ พาร์ตของเงินเดือนหรือโบนัสประจำปี ส่วนใหญ่บรรดาคอมเมนต์ของลูกเพจจะมีการโต้ตอบในทำนองตัดพ้อเรื่องเงินเดือนไม่พอใช้ เมื่อเทียบเคียงกับค่าครองชีพในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่ากิน หรือเสื้อผ้าก็ดี ซึ่งนอกจากลูกเพจจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนในช่องคอมเมนต์แล้ว แอดมินหลาย ๆ เพจเองยังเข้าไปคอมเมนต์พูดคุยเพื่อสร้างบรรยากาศอันใกล้ชิดระหว่างกันด้วย

นอกจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว เรื่องวันหยุดก็เป็นอีกสิ่งที่หาได้ยากจากมนุษย์ออฟฟิศเหล่านี้เหลือเกิน เมื่อลองสำรวจตามคอมเมนต์หรือยอดแชร์แล้วปรากฏว่า การทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป แต่แทบจะกลายเป็นวันทำงานหลัก ๆ ของพนักงานบริษัทเอกชนไปเรียบร้อย กระทั่งวันหยุดนักขัตฤกษ์ บริษัทบางแห่งก็ไม่มีการหยุดชดเชยให้พนักงานเช่นกัน รวมถึงสิ่งแวดล้อมในออฟฟิศหลาย ๆ แห่งที่ยิ่งกระหน่ำซ้ำบั่นทอนเข้าไปอีก ซึ่งคอนเทนต์ที่ดูจะตลกร้ายได้รับการกดไลก์ กดแชร์ และมี engagement เยอะมาก ๆ ก็คือ การฝากซื้อของเพื่อนร่วมงานแบบที่เลยเส้นความเกรงใจไปพอสมควร แม้จะดูเป็นประเด็นยิบย่อย แต่หากได้รับการสั่งสมในทุก ๆ วันก็คงจะน่าเบื่อไม่น้อยเลย

อีกเรื่องที่สร้างความเบื่อหน่ายมานานหลายปี จนเหมือนจะกลายเป็นความเคยชินของหลายคนไปแล้วก็คือ ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ คอนเทนต์เรื่องรถติดในเช้าวันจันทร์ และเย็นวันศุกร์ กลายเป็นโพสต์ที่ได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเทียบกับประเด็นเรื่องเงินเดือน เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานแล้ว อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ตรงกันข้ามกับการจราจรที่สามารถเชื่อมโยงการรับรู้ของทุกคนเข้าหากันได้ทั้งหมด

ในทีนี้ไม่ได้หมายถึงการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือรถเมล์เท่านั้น แต่บรรดาผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่าง BTS, MRT หรือ Airport Rail Link ก็ต้องเผชิญกับสภาวะเหล่านี้เช่นกัน แม้จะไม่ใช่ปัญหารถติด แต่ความแออัดเบียดเสียด และจำนวนรอบขบวนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ บวกกับระบบขัดข้องในตอนเช้าที่ทำเอาหลายคนตอกบัตร-แสตมป์ลายนิ้วมือกันไม่ทันบ่อย ๆ ปัญหาของระบบที่ไม่เสถียรพวกนี้ทำให้หลายเพจหยิบมาวาดการ์ตูนล้อเลียน ใส่ text ชวนตลกเข้าไป โพสต์แบบนี้ก็ได้รับการกดไลก์ กดแชร์ด้วยยอดสูงทะลุหลักหมื่นเช่นเดียวกัน

จากทั้งหมดที่ว่ามา หากมองแบบเผิน ๆ คอนเทนต์เหล่านี้ก็ดูจะเป็นเรื่องตลกที่แชร์ไปหยอกล้อ-ขำขันกับเพื่อนได้ แต่เมื่อมองลึกลงไปแล้วจะพบว่า ทั้งหมดคือความตลกร้ายของพนักงานออฟฟิศมากกว่า เพราะการที่ต้องตั้งตารอคอยวันสิ้นเดือน นั่งลุ้นประกาศวันหยุดจากบริษัท หรือการเผื่อเวลาการเดินทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร ด้วยระยะเวลา 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าสนุกสักเท่าไหร่

รวมเพจยอดฮิต-ขวัญใจคนทำงาน

อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไปตอนต้นบ้างแล้วว่า เพจที่ทำหน้าที่บ่นแทนเรา ๆ ชาวออฟฟิศตอนนี้มีอยู่หลายสิบเพจ ซึ่งวันนี้จะขอยกตัวอย่างเพจที่เป็นกระแส และได้รับความนิยมต่อเนื่องมาคร่าว ๆ สัก 5 เพจเฟซบุ๊ก ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงแทนเรา แถมยังมีเพื่อนร่วมอาชีพ-ร่วมชะตากรรมเดียวกันอยู่หลายร้อย หลายพันชีวิตในโพสต์เดียว

มากันที่เพจแรก ช่วงนี้อาจจะเห็นตามหน้าฟีดบ่อยหน่อยกับ “กว่าจะถึงออฟฟิศ” เพจที่มีจุดเด่นด้วยการเลือกใช้แคแร็กเตอร์จากตัวละครอันโด่งดังในภาพยนตร์ ซีรีส์ ละครโทรทัศน์ รวมถึงเอ็มวีเพลงไหนที่กำลังโด่งดังในช่วงนั้น
แอดมินก็สามารถดึงตัวละครดังกล่าวมาประยุกต์เข้ากับคอนเทนต์ที่ต้องการจะสื่อสารออกไปได้ด้วย หลัก ๆ เพจนี้จะไม่เน้นตัวหนังสือมากมาย แต่เลือกใช้ภาพ-ลายเส้นในการเล่าเรื่อง และส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่เมื่อเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า สารที่แอดมินต้องการสื่อออกมาคืออะไร ประกอบกับมุขที่เลือกใช้ก็ตลกถูกที่ ถูกจังหวะ จนทำให้ยอดกดไลก์เพจตอนนี้ทะลุหลักแสนไปเรียบร้อยแล้ว

ถัดมาที่ “เงินเดือนที่รัก” คอนเทนต์เพจนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแทบทุกโพสต์ตรงตามชื่อเพจ คือ เน้นการตัดพ้อ-ค่อนแคะเรื่องเงินเดือน ทั้งจำนวนเงินเดือนที่ไม่ขึ้นสักที การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตอนต้นเดือน หาเงินไม่ทัน เก็บเงินไม่อยู่ และตัวการที่ทำให้เงินเดือนหายไปเกินครึ่งก็คือ หนี้จากการผ่อนชำระ นั่นเอง

อีกหนึ่งเพจกับ “ปรัชญามนุษย์เงินเดือน” ซึ่งน่าจะเป็นเพจแรก ๆ ที่ทำหน้าที่ตัวแทนเสียงบ่นของชาวออฟฟิศด้วย ทำให้ยอดกดไลก์สูงมากถึง 5 แสนกว่าไลก์แล้ว ปรัชญามนุษย์เงินเดือนไม่เน้นรูปวาด หรือคอนเทนต์ตลกโปกฮาเท่า 2 เพจแรก แต่จะเป็นแนวคำคม-ให้ข้อคิด และชวนลูกเพจตั้งคำถามมากกว่า

เพจที่สี่ “ท้อแท้ The Salary Peach” ใช้ตัวละครลูกพีชสีชมพูสุดน่ารัก เป็นตัวแทนมนุษย์เงินเดือนในการเล่าเรื่องความรู้สึกของคนทำงาน ทั้งการต่อสู้กับความขี้เกียจทุกเช้า การอดทนกับภาระงานอันหนักอึ้ง คอนเทนต์ที่ทำให้ ท้อแท้ The Salary Peach เป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ วลีเด็ด “หนีไป” เมื่อมีคนมาสมัครงานที่บริษัท

เพจสุดท้ายที่ดูจะเฉพาะกลุ่มไปหน่อย คือ “ชีวิตเอเจนซี่” แม้ชื่อเพจจะดูระบุเจาะจงอาชีพ แต่คอนเทนต์หลายตัวก็สามารถ adapt เข้ากับสายอาชีพอื่นได้เช่นกัน เพจนี้ไม่เน้นลายเส้น การ์ตูน ความน่ารัก หรือขายคำคม แต่จะเป็นการเลือกรูปตลก ๆ มาใส่คำพูดให้ชวนขำมากขึ้นไปอีก

ความตลกที่สะท้อนชีวิตสุดเรียล

ลองมองให้ลึกลงไปตามคอมเมนต์ หรือกลุ่มคนที่แชร์ไปคุยเล่นกับเพื่อนแล้วพบว่า ส่วนมากจะเป็นกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย (generation Y) คือ ตั้งแต่เด็กจบใหม่จนถึงวัยก่อนอายุ 30 ปี เหตุผลที่คอนเทนต์ถูกอกถูกใจกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่คำอธิบายกำปั้นทุบดินอย่าง “เด็กจบใหม่ไร้ความอดทน” อย่างที่หลายคนมักให้คำนิยามกัน แต่เป็นเพราะทางเลือกที่มากขึ้น บวกกับราคาที่ต้องจ่ายในการเรียนจบสูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์หลายเท่าตัว

คนยุคเจเนอเรชั่นวายโตมากับความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์แบบมากกว่าคนยุคพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย แง่หนึ่งเป็นข้อดีที่พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนตั้งตัวให้ได้เร็วที่สุดเหมือนคนยุคก่อน แต่ด้วยความพร้อมทุก ๆ ด้านนี่แหละ คือ ดาบสองคม ที่ทำให้เจเนอเรชั่นวายถูกกำแพงแห่งความคาดหวังโอบล้อมรอบตัวจากครอบครัว สังคม รวมถึงตัวของพวกเขาเองด้วย ประกอบกับราคาที่ต้องจ่ายในด้านการศึกษาที่ไม่เพียงแต่การเรียนในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยค่าเรียนพิเศษ-ติวเตอร์อีก รวม ๆ แล้วราคาคอร์สเรียนพวกนี้ทะลุแตะหลักแสนด้วยซ้ำ

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี และเข้าสู่ตลาดแรงงานเต็มตัว คนกลุ่มนี้จึงมีความคาดหวังในตัวเองสูง ทั้งในพาร์ตของฐานเงินเดือน ตำแหน่ง การเลื่อนขั้น ความท้าทาย ความก้าวหน้าที่ชัดเจน รวมถึงสวัสดิการที่ครอบคลุม ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในตอนนี้ที่ยังน่าเป็นห่วง บวกกับการเสพสื่อได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ทำให้พวกเขาค่อนข้างเคร่งครัดในการรักษาสิทธิของตัวเอง เสียงบ่นในเพจจากแอดมินที่มีความตลกร้ายจึงสามารถสะท้อนความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด