รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ธุรกิจใหญ่น้อยในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบกันหมด บ้างก็ล้มละลายลุกไม่ขึ้นอีกเลย บ้างก็พยุงตัวเองอยู่รอดมาได้แบบทรง ๆ เรื่อยมา บ้างก็หาทางเอาตัวรอดพ้นวิกฤตแล้วสามารถขยายใหญ่โตยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งธุรกิจใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศไทยอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี.กรุ๊ป เป็นแบบหลัง
ที่เราเห็นว่า ซี.พี.ยิ่งใหญ่ไพศาลเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งระดับโลกอย่างทุกวันนี้ ในช่วงที่ “ต้มยำกุ้ง” พ่นพิษ บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง ซี.พี.ก็แย่เหมือนกัน
บนเวที “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว Exclusive Talk” เปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าประสบการณ์ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เผชิญในตอนนั้นว่า “รู้สึกมืดแปดด้าน” พร้อมทั้งเล่าวิธีการฝ่าวิกฤตของ ซี.พี.เพื่อเป็นกรณีศึกษา ทั้งยังให้คำแนะนำนักธุรกิจคนอื่น ๆ ด้วย
ประธานอาวุโส ซี.พี. ซึ่ง ณ เวลานั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าว่า ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นความเสี่ยงที่นักธุรกิจคาดไม่ถึง บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศล้วนแต่ล้มกันไป เพราะว่าค่าเงินบาทอ่อนลงมากกว่าเท่าตัว จาก 25 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 55 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จึงต้องหาทางคืนเงินกู้ให้เร็วที่สุด
“เจอกับตัวเองเลย รู้สึกมืดแปดด้าน ตอนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศไปเลยครับ จาก 25 บาท กลายเป็น 55 บาท จะไปคืนหนี้ได้ยังไงครับ ความเสี่ยงนี้ผมคิดว่านักธุรกิจคิดไม่ถึง ตัวผมเองก็คิดไม่ถึงว่ามันจะร้ายแรงอย่างนี้ เพราะต้มยำกุ้งเกิดที่เมืองไทย แม้ว่ามีสัญญากับธนาคารต่างประเทศว่ากู้ 5 ปี แต่ในสัญญามีข้อหนึ่งระบุว่า ถ้าเราเจอวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ เขาจะเอาเงินกลับทันทีไม่ต้องรอ 5 ปี”
หนทางที่จะรอดได้คือ ซี.พี.ต้องขายธุรกิจบางส่วนออกไป เพื่อให้ได้เงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ เป็นแนวทางที่เจ้าสัวบอกว่า ต้องเลือกสละบางอย่าง เพื่อรักษาเรือและเอาชีวิตให้รอด โดยต้องเลือกให้ได้ว่าธุรกิจอะไรที่สำคัญต้องรักษาไว้ ธุรกิจอะไรที่จะขายออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ธุรกิจที่จะขายในช่วงวิกฤตก็ต้องเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคต จึงจะมีคนซื้อ
“ตอนวิกฤตต้องจำไว้ว่า เรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ เราต้องทิ้งบางอย่าง เราต้องดูว่าอันไหนสำคัญเราต้องรักษาไว้ มันต้องเป็นธุรกิจที่สำคัญและดีด้วยถึงจะขายได้ ฉะนั้น ผมมีบทเรียนเตือนทุกท่านว่า เวลาจะทำธุรกิจต้องทำอะไรที่โลกยอมรับ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มิฉะนั้น ถ้าเจอวิกฤตแล้วให้เขาฟรี เขาก็ยังไม่เอาเลย อย่าว่าแต่ขาย”
ธุรกิจที่ธนินท์เลือกรักษาไว้คือ ธุรกิจเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ส่วนธุรกิจที่เลือกขายก็คือ ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตัวเองสร้าง
“ตอนวิกฤตผมไปคุยกันสี่พี่น้องว่า ผมรับรองว่าธุรกิจเดิมของเราจะไม่ล้ม ธุรกิจเกษตรทั้งหลาย ผมรับรองว่าไม่ล้มละลายแน่นอน ผมรักษาได้แน่ ส่วนธุรกิจใหม่ที่ผมสร้างขึ้นมา ให้ผมปวดหัวคนเดียวก็พอ พี่ทั้งสามไม่ต้องปวดหัว เพราะผมจะขายธุรกิจที่ผมสร้างขึ้นมาใหม่ก่อน อยากให้พี่ ๆ สบายใจ ไม่งั้นเขาก็ห่วง ตีหนึ่งตีสองยังโทร.มา” เจ้าสัววัย 80 เล่าย้อนความหลัง 22 ปีก่อน
เจ้าสัวธนินท์เล่าลงรายละเอียดว่า ตอนนั้นธุรกิจใหม่ของ ซี.พี.มีธุรกิจโทรศัพท์ (ทีเอ) แม็คโคร เทสโก้ โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่น ธุรกิจแรกที่เลือกขายคือ โลตัส ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคตมาก เรียกราคาไปแล้วไม่มีการต่อรองใด ๆ “บริษัทอังกฤษที่มาซื้อยังพูดกับผมว่า ‘คุณทำได้เหนือกว่าผมที่อังกฤษอีก’ ว่าราคาเท่าไหร่เขาก็ไม่ต่อรองเลย ซี.พี.เหลือไว้แค่ 25 เปอร์เซ็นต์”
อันดับต่อมา ซี.พี.เลือกขายแม็คโคร เพราะว่าเงินจากการขายโลตัสยังคืนหนี้ได้ไม่หมด ซึ่งเจ้าสัวบอกว่า “ถ้าคืนหนี้ไม่หมด ซี.พี.จะล้มละลาย เครดิตทั่วโลกที่สร้างไว้จะหายหมด” พอขายแม็คโครแล้ว ซี.พี.คืนหนี้หมด จึงไม่จำเป็นต้องขายเซเว่นอีเลฟเว่น ส่วนธุรกิจโทรศัพท์นั้นไม่อยู่ในความคิดที่จะขายเลย ณ เวลานั้น
พอมองย้อนกลับไป เจ้าสัวธนินท์คิดว่า “ถ้าตอนนั้นขายโทรศัพท์อันเดียวจบเลย จะไม่ต้องขายแม็คโครกับโลตัส” แต่ตอนนั้นเขาไม่ได้เลือกขายธุรกิจโทรศัพท์ เพราะคิดว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคตมาก ตอนนั้น ซี.พี.ลงทุนทำเคเบิลใต้ทะเล เป็นเบอร์สองของโลกที่ลงทุนในเทคโนโลยีนี้ ทำให้ ซี.พี.มีชื่อเสียงมาก ติดอันดับ 50 ของโลก และอันดับ 11 ของเอเชีย นั่นทำให้เขาอยากเก็บธุรกิจนี้ไว้ แต่อนาคตที่ว่าจะดีกลับไม่เป็นอย่างที่คาด เมื่ออีกไม่กี่ปีต่อมามีเทคโนโลยีใหม่มา เคเบิลใต้น้ำที่เคยใหม่ล้ำสมัยกลับกลายเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีมูลค่า นั่นนำมาสู่ความยากลำบากของการทำธุรกิจโทรศัพท์ในเวลาต่อมา
“ตอนนั้นมัน (ธุรกิจโทรศัพท์-เคเบิลใต้น้ำ) มีมูลค่ามาก ถ้าขายไปก็ไม่ต้องขายอย่างอื่นเลย พอจะซื้อโลตัสกลับ ราคา 10,000 ล้านยูเอส แม็คโครซื้อกลับ 6,000 ล้านยูเอส ก็เสียดาย แต่เก็บไว้ไม่ได้ เพราะเรือเจอพายุแล้วเราต้องทิ้งของบางส่วน รักษาเรือลำนั้นให้อยู่รอดก่อน แล้วเราค่อยหาคืนกลับมา ประสบการณ์บอกเราว่า ถ้าเราจะรักษาไว้ทุกอย่าง สุดท้ายก็จะล้มทั้งหมด” เจ้าสัว ซี.พี.ย้อนทบทวนการตัดสินใจที่เขารู้สึกเสียดาย แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่ช่วยให้ ซี.พี.ผ่านพ้นวิกฤต
ในขณะที่เผชิญพายุอยู่นั้น คนส่วนใหญ่คิดว่า แค่เอาตัวรอดได้ก็เก่งแล้ว แต่นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ไม่ได้คิดเช่นนั้น วิถีของผู้ที่จะยิ่งใหญ่ได้นั้นจะทำเพียงแค่เอาตัวรอดยังไม่พอ แค่ขายธุรกิจออกไปยังไม่พอ ต้องขยายด้วย !
“ตอนนั้นเราขายอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีกำลังใจให้พนักงาน ต้องทำอะไรที่มีอนาคต ต้องขยาย ตอนนั้นลำบาก กู้เงินไม่ได้เลย เพราะเราอยู่ในประเทศที่วิกฤต แต่เรายังจำเป็นต้องมีเงินมาขยายธุรกิจที่เราเห็นว่าดี ถ้าเราไม่ขยายเราก็กินของเก่าเท่านั้น ก็ไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนแปลง ยุคนั้นเป็นโอกาสที่จะขยายใหญ่ ตอนนั้นถ้าใครมีเงินขยายก็จะได้เปรียบที่สุด เพราะของถูก”
ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่านั้น ธนินท์มีคำแนะนำนักธุรกิจและคนที่อยากทำธุรกิจว่า ในทุกวิกฤตมีโอกาส ต้องศึกษาให้ดี วิกฤตตามมาด้วยโอกาส โอกาสก็ตามมาด้วยวิกฤตเป็นของคู่กัน
“ตอนที่เจอวิกฤตมืดที่สุด พวกคุณอย่าท้อใจ ตอนวิกฤตเราต้องเตรียมแล้วนะว่า พอแสงสว่างมา พอฟื้นจากวิกฤต สังคม-เศรษฐกิจมันกำลังเปลี่ยนแปลง มันเอื้อ เพราะทุกอย่างจะถูกหมด ที่ดินก็ถูก แบงก์ก็มาขอให้ใช้เงิน ตอนวิกฤตเราแค่แก้ปัญหาไม่พอ เราต้องคิดเตรียมว่าหลังวิกฤตเราจะทำอะไร ส่วนตอนกำลังรุ่งก็ต้องคิดว่า ถ้าวิกฤตมาจะทำยังไง ตอนอยู่ในวิกฤตต้องอย่าตาย ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้เราถึงจะมีโอกาสได้คืน เรามีประสบการณ์ความรู้ เสียค่าเล่าเรียนแล้ว ถ้าตายไปก็เอาอะไรคืนไม่ได้ หมดโอกาสแล้ว วิกฤตตามมาด้วยโอกาส โอกาสก็จะตามมาด้วยวิกฤต อันนี้คู่กันนะครับ พวกคุณลองไปศึกษาดูว่าจริงไหม”
เจ้าสัวธนินท์เน้นย้ำว่า ทั้งนักธุรกิจและภาครัฐต้องมองหาโอกาสในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เจอ ยกตัวอย่างสถานการณ์โลกปัจจุบันที่จีนกับสหรัฐอเมริกามีปัญหากัน ก็เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะดึงดูดธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย
“ผมว่าทุกครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งโอกาสมหาศาล อยู่ที่ว่าเรามองเห็นโอกาสหรือเปล่า พูดได้เลยว่าหลังจากนี้โอกาสจะตามมามหาศาล ต้องศึกษาให้ดีว่าจะคว้าโอกาสยังไง ในประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลง จะมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น วันนี้โลกกำลังเปลี่ยน พอเปลี่ยนแล้วเก้าอี้จะว่างเยอะ อยู่ที่พวกเราจะหาโอกาสนั้นเจอไหม” เจ้าสัว ซี.พี.กล่าวด้วยความเชื่อมั่น